แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
สุ. เพื่อจะให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจความหมายของสภาพปรมัตถธรรมที่เป็นปัญญาเจตสิก ขอกล่าวถึงคุณธรรมของพระโสดาบัน ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ทิฏฐิ หมายความถึงสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ซึ่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสเป็นพระอริยเจ้าได้
สำหรับคุณธรรมของพระโสดาบันซึ่งถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ ปัญญานั้น ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต กัญจิสังขารสูตร มีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ไม่ควรเป็นได้ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อยึดถือสังขารไรๆ โดยความเป็นของเที่ยง ๑ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อยึดถือสังขารไรๆ โดยความเป็นสุข ๑ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อยึดถือสังขารไรๆ โดยความเป็นอัตตา ๑ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อกระทำอนันตริยกรรม ๑ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อเชื่อถือความบริสุทธิ์โดยมงคลตื่นข่าว ๑ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อแสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ไม่ควรเป็นได้ ๖ ประการนี้แล ฯ
จบ กัญจิสังขารสูตรที่ ๙
เพราะฉะนั้น ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยปัญญาจริงๆ เป็นอย่างไร
ไม่ควรเพื่อยึดถือสังขารไรๆ โดยความเป็นของเที่ยง
ขณะนี้เที่ยงบ้างไหม ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏทางตายังเที่ยงอยู่ตราบใด หมายความว่ายังไม่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ ยังไม่สมบูรณ์ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ซึ่งสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้นไม่เที่ยง ขณะที่กำลังเห็นนี้ไม่เที่ยง สิ่งที่ปรากฏก็ไม่เที่ยง นี่คือ ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น
สิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่สุข นี่ก็เป็นปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น สิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่สุขนั้น ไม่ใช่อัตตา นี่ก็เป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ปัญญา ไม่ได้ห่างไกลเลย ความหมายของปรมัตถธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ไม่ใช่มีเพียงแต่ชื่อ แต่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ขณะที่ระลึกและรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ในขณะที่กำลังเห็น รู้ว่าเป็นสภาพรู้ทางตา ไม่ใช่สภาพรู้ทางหู นี่เป็นลักษณะของปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาไม่ใช่สิ่งลอยๆ ที่ไม่มี หรือว่ามีแต่ชื่อ แต่มีลักษณะ คือ สภาพความรู้จริงในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือความหมาย คืออรรถ คือลักษณะของปรมัตถธรรมที่เป็นปัญญา และปัญญานี้ก็สามารถที่จะอบรมเนืองๆ บ่อยๆ จนเจริญ จนสมบูรณ์ จนประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงของนามธรรมและรูปธรรมได้
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายที่ทรงแสดงไว้ มีจริง และพิสูจน์ได้
สำหรับผู้ที่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ พระโสดาบันบุคคลนั้น เป็นผู้ไม่ควรเพื่อเชื่อถือความบริสุทธิ์โดยมงคลตื่นข่าว
นี่เป็นเหตุเป็นผล ที่ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง ท่านยังไม่ทราบเลยว่า สำนักไหนประพฤติปฏิบัติอย่างไร แต่ใคร่ที่จะไปเสียแล้ว มีเหตุมีผลในการไปไหม เป็นการเชื่อถือความบริสุทธิ์โดยมงคลตื่นข่าวประการหนึ่งหรือเปล่า
ถ้าเป็นสภาพธรรมที่เป็นปัญญา หมายความว่ารู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และจะรู้ได้อย่างไร ก็ต้องมีหนทางที่จะรู้ คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการไตร่ตรองในเหตุผลนี้มากทีเดียว เพราะว่าการเชื่อถือความบริสุทธิ์โดยมงคลตื่นข่าวนั้นมีมากมายเหลือเกิน ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นความติดข้อง ไม่ใช่ปัญญา และจะเริ่มละคลายการเชื่อถือความบริสุทธิ์อื่นโดยมงคลตื่นข่าว
แม้แต่การสะเดาะเคราะห์ การเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่จะบันดาลให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไม่ประกอบด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องในเหตุและผลแล้ว ก็จะต้องเป็นไปในลักษณะของความเชื่อถือความบริสุทธิ์อื่นโดยมงคลตื่นข่าวทั้งสิ้น
แต่เมื่อใดได้ใคร่ครวญ รู้ความจริงถูกต้องในเหตุในผลที่สมควร ขณะนั้นก็ไม่ใช่การตื่นข่าว แต่ต้องอาศัยการพิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลจริงๆ
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมอย่าติดเพียงแค่ชื่อ อย่างได้ยินคำว่า ปัญญา เมื่อสอบสวนจริงๆ แล้ว ปัญญาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ คำว่าสติก็เช่นเดียวกัน ได้ยินบ่อย ใช้บ่อย สอบสวนจริงๆ แล้วก็ไม่รู้ว่า ลักษณะของสติซึ่งเป็นสติปัฏฐานนั้นเป็นอย่างไร ก็เป็นความไม่รู้ แต่หวังที่จะได้ และก็ไปสู่การปฏิบัติ โดยที่ไม่ได้ไตร่ตรองเหตุผลให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
ถ. ขอถามเรื่องในปรินิพพานสูตร คือ พระพุทธเจ้าบรรทมอยู่ที่ใต้ต้นไม้สาลทั้งคู่เมื่อจะปรินิพพาน ก็มีดอกไม้ และบนสวรรค์ก็ประโคมดนตรีอะไรต่างๆ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าได้รับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม การปฏิบัติชอบ เป็นการบูชาที่ประเสริฐกว่าการบูชาด้วยดอกไม้ หรือด้วยเสียงดนตรี
และท่านพระอานนท์ได้ถามว่า เมื่อปรินิพพานแล้วภิกษุต่างๆ ที่จะมาเฝ้า พระผู้มีพระภาคจะทำอย่างไร ในเมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เฝ้าพระองค์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว เมื่ออยากจะเฝ้าพระองค์ ก็ให้ไปบูชาปูชนียสถานทั้ง ๔ คือ ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่แสดงธรรมจักร และที่ปรินิพพาน ซึ่งผู้ที่ได้ไปเคารพสักการบูชาปูชียสถานทั้ง ๔ นี้ด้วยศรัทธา ท่านตรัสว่า เมื่อจุติจากชาตินี้แล้ว จะได้ไปบังเกิดในสวรรค์
ผมสงสัยว่า ผู้ที่มีศรัทธาไปกราบบูชาสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แล้ว บาปต่างๆ ที่ได้กระทำแล้วนั้นจะยังไม่ให้ผล เพราะผลของการไปบูชาสังเวชนียสถานจะให้ผลก่อน
สุ. ข้อความในมหาปรินิพพานสูตรไม่ได้แสดงไว้ว่า กรรมอะไรจะให้ผลก่อน แต่ว่าข้อความส่วนอื่นในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงครุกรรมที่จะให้ผลก่อน คือ ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล อนันตริยกรรมจะต้องให้ผลในชาติถัดไป ส่วนกุศลกรรมทั้งหมดนั้นให้ผลเป็นวิบากที่เป็นสุข ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมจะไปตกนรกได้อย่างไร
และไม่ได้แสดงว่า กรรมนั้นจะให้ผลก่อนด้วย เพียงแต่บอกว่าผู้ที่มีศรัทธาไปถวายสักการะสังเวชนียสถาน ผลของกุศลนั้นจะทำให้เกิดในสุคติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำเช่นนั้นไม่ใช่อกุศลกรรม แต่ไม่มีข้อความที่แสดงไว้ว่าจะให้ผลก่อนกรรมอื่น
ถ. ทรงแสดงว่าชาติต่อไป
สุ. ชาติต่อไปนั้น ชาติไหน ชาติไหนก็ได้ แต่ถ้าคนนั้นทำอนันตริยกรรมแล้ว อนันตริยกรรมต้องให้ผล ทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิต่อจากจุติจิตในชาตินี้
ถ. การรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันนี้ รู้สึกยากครับ ยากจริงๆ ทั้งๆ ที่เข้าใจแล้ว พิจารณาแล้ว บางครั้งก็ยังไม่รู้
สุ. ตราบใดที่เป็นเรารู้ ขณะนั้นเป็นความเห็นผิดทั้งนั้น เพราะถ้ารู้จริงๆ คือ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ ทางตาต้องขณะที่กำลังเห็น มีสภาพสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งกำลังปรากฏอยู่ให้รู้
ทางหู รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงคืออย่างไร คือ มีลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ทางหู คือ เสียงในขณะที่กำลังได้ยิน นั่นเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจให้รู้ จะชื่อว่าเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ได้
เพราะฉะนั้น การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง ทางตาก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างหนึ่ง ทางหูก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างหนึ่ง ทางจมูกก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างหนึ่ง ทางลิ้นก็มีสภาพธรรมปรากฏอย่างหนึ่ง ทางกายก็ต้องมีสภาพธรรมจริงๆ ปรากฏให้รู้ ทางใจก็ต้องมีสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้ทางใจจริงๆ ปรากฏให้รู้ นั่นจึงจะชื่อว่า เป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ขอเล่าถึงการสนทนากับท่านผู้ฟังบางท่าน อาทิตย์ก่อนมีท่านผู้หนึ่งได้มาสนทนาด้วย ท่านกล่าวว่า ขอเทียบปัญญาด้วย ท่านรู้หลายอย่างเหลือเกิน แต่ท่านก็ไม่แน่ใจว่า ท่านจะรู้มากสักแค่ไหน เพราะฉะนั้นจึงขอเทียบปัญญา ก็เรียนถามท่านว่า ท่านรู้อะไร ท่านตอบว่า ท่านรู้รูปของเสียง และรู้รูปขณะที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน
ก็เรียนถามท่านว่า ขณะนี้ที่กำลังนั่งอย่างนี้รู้อะไร เพราะถ้าเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ จึงจะชื่อว่ารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ท่านตอบว่า รู้ว่ากำลังนั่งชันเข่า
นี่เป็นความรู้ของท่าน คือ กำลังนั่งชันเข่า ดิฉันก็เรียนถามว่า เข่ามีลักษณะอย่างไร สภาพลักษณะของเข่าปรากฏอย่างไรที่จะให้รู้ ท่านตอบไม่ได้ เพราะลักษณะของเข่าไม่ปรากฏ
อีกท่านหนึ่งเป็นชาวต่างประเทศ อายุไม่มาก สนใจในธรรม แต่เจริญสติ แปลก คือ ท่านกล่าวว่า ทางตาเวลามองเห็นใครก็พิจารณาว่า จะมีความรู้สึกประการใดกับบุคคลที่เห็น จะได้รู้ใจของเขาใจของเราว่า เขาคิดอย่างไร และเราคิดอย่างไร
ก็เรียนถามท่านว่า เวลาที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เกิดความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง และรู้ว่าเขาพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ซึ่งขณะที่รู้อย่างนั้น กับขณะที่ว่ามีสติรู้อย่างนั้น ต่างกันอย่างไร ก็ตอบไม่ได้อีก เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจความหมายของสติ ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง ตามความเป็นจริง
และท่านผู้นั้นก็บอกว่า อย่างสมอง สติของท่านก็ระลึกรู้อีกเหมือนกัน ก็ถามท่านว่า สมองมีลักษณะอย่างไรให้รู้ ท่านก็ตอบไม่ได้ แต่เข้าใจว่าตนเองระลึกถึงสมอง ขณะนั้นสมองเป็นสติปัฏฐาน แต่ว่าลักษณะของสมองปรากฏเมื่อไร ปรากฏทางไหน มีลักษณะอย่างไรให้รู้ ก็ไม่มีเลย
และท่านผู้นั้นก็มีความข้องใจว่า การที่เราจะไปทำให้เกิดประสบการณ์แปลกๆ ขึ้น เป็นเหมือนภาพลวง ภาพนิมิตต่างๆ ก็น่าที่สติจะรู้ความจริงของภาพลวง ภาพนิมิตนั้นได้เหมือนกัน เพราะว่าเป็นความจริงที่เกิดในขณะนั้นอย่างหนึ่งเหมือนกัน
แต่ท่านไม่รู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้เป็นของจริงที่เกิดแล้ว โดยไม่ต้องสร้างขึ้น ทำอย่างไรปัญญาจึงจะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เกิดแล้ว และมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นด้วย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของบุคคลใดเลย เป็นทางที่จะให้รู้ถึงปัจจัย เป็นทางที่จะให้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏยิ่งขึ้น ทำไมจะต้องไปทำภาพลวงให้เกิดขึ้น และจะไปรู้ความจริงของภาพลวง โดยที่ขณะปกติธรรมดาขณะนี้ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งอย่างไหนจะมีประโยชน์มากกว่ากัน
นี่เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณา เมื่อฟังธรรมแล้วก็ไตร่ตรอง สอบสวนถึงเหตุและผลจริงๆ อย่าแค่เพียงรับฟัง และเข้าใจว่าถูกต้อง เช่น การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง อาจจะได้ยินได้ฟังบ่อย รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เป็นปัจจุบันที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏจริงๆ ให้รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะชื่อว่ามีสติไม่ได้ จะชื่อว่า ปัญญาเกิดพร้อมสติที่สำเหนียก สังเกต จนรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏไม่ได้
ที่จะเป็นสติและปัญญาจริงๆ ก็ต่อเมื่อระลึกรู้ในสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ แต่ต้องเป็นลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ ที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้