แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431


ถ. ผมติดที่พยัญชนะ แต่ละอาจารย์ก็อธิบายไปแต่ละอย่าง คือที่ว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ หรือที่พูดกันว่า เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์

พยัญชนะเหล่านี้ก็อธิบายไปกันไปแต่ละอย่าง โดยเฉพาะความเกิดเป็นทุกข์ อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ทุกข์อย่างไร ก็อธิบายว่า เด็กคลอดออกมานั้นจะต้องร้องไห้ ลักษณะที่ร้องไห้นั่นแหละ แสดงถึงความทุกข์ อีกท่านหนึ่งบอกว่า เวลาที่คลอดออกมา เหมือนตกลงไปในเหวลึก ลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของความทุกข์ในขณะที่เกิด หรือบางอาจารย์ก็อธิบายว่า ก็ขณะที่ปฏิสนธิต้องอยู่ในครรภ์มารดาถึง ๙ เดือน จะไปไหนมาไหนทำอะไรก็ไม่ได้ ลักษณะนั้นก็เป็นทุกข์ อีกอาจารย์อธิบายว่า ขณะที่มารดาอุ้มท้องมาถึง ๙ เดือนนั้น ลักษณะนั้นเป็นทุกข์

ผมคิดว่า แต่ละอาจารย์อธิบายไม่ตรงกันทั้งนั้น ผมมีความเห็นว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ทรงตรัสโดยไม่ได้เจาะจงว่า ความเกิดในมนุษย์ภูมิเป็นทุกข์ ผมถือว่าเกิดในเทวโลกก็จะต้องเข้าในลักษณะนี้ด้วย เพราะว่าเป็นความเกิดเหมือนกัน ผู้ที่ท่านเกิดเป็นเทวดาท่านก็ไม่ต้องไปร้องไห้ ไม่ต้องไปอยู่ในท้องของมารดาตั้ง ๙ เดือน ลักษณะนี้จะว่าเป็นทุกข์ได้อย่างไร ขอความกรุณาอาจารย์อธิบายพยัญชนะเหล่านี้ด้วย

สุ. พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในมนุษย์โลก และในพระไตรปิฎกก็แสดงถึงเรื่องของความเกิดเป็นทุกข์ไว้หลายนัย ซึ่งทุกประการที่ได้กล่าวมาแล้ว มีปรากฏในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น

เมื่อทรงแสดงธรรมในมนุษย์โลก ก็ได้ทรงแสดงถึงความทุกข์ของการเกิดในครรภ์มารดาในมนุษย์ภูมิ แต่ไม่ว่าจะเป็นในมนุษย์ หรือว่าในสวรรค์ ในกำเนิดต่างๆ ทุกข์จริงๆ คือ ขันธ์ ๕ ที่มีการเกิดขึ้นและดับไป ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

เมื่อมีการเกิดในมนุษย์ภูมิ ก็มีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไป ในเทวโลก หรือในรูปพรหมภูมิก็มีขันธ์ ๕ และเพราะการเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ นั่นเอง เมื่อเกิดแล้วก็ตั้งอยู่ตลอดไปไม่ได้ ก็ต้องดับไป เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เกิดและดับ จะสมมติเรียกว่ามนุษย์ หรือว่าเทวดา หรือภพภูมิไหนก็ตาม สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปนั้นเป็นทุกข์ ซึ่งทรงจำแนกทุกข์ตามภพภูมิต่างๆ ด้วย ถึงแม้ว่าในเทวภูมิจะไม่มีการนอนอยู่ในครรภ์ของมารดาที่เป็นทุกข์ประการหนึ่ง แต่ว่าในภูมิของมนุษย์เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ทรงแสดงทุกข์ในการเกิดเป็นมนุษย์ไว้ด้วย

เพราะฉะนั้น ก็เป็นลักษณะของทุกข์ประการต่างๆ ซึ่งโดยสภาพตามความเป็นจริงแล้ว คือ ขันธ์ ๕ นั่นเอง เมื่อเกิดขึ้นเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป แต่ขันธ์ ๕ นั้นจะเกิดปรากฏในภพไหน ภูมิไหน ในสภาพอย่างไร ก็เป็นความทุกข์ใน ลักษณะของภพภูมินั้นๆ นั่นเอง

ประโยชน์ที่สุดของการฟังธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องในชีวิตประจำวัน ประโยชน์ที่สุดจริงๆ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการเจริญ สติปัฏฐาน เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องในการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ย่อมได้รับรสของพระธรรมทุกขั้นมาเกื้อกูลกับสภาพของธรรมที่เป็นจริงในชีวิตประจำวัน และสติก็สามารถที่จะระลึกรู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ไม่ผิดจากความเป็นจริง

ถ้ารู้ผิดจากความเป็นจริง จะละการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้ เพราะว่าไปรู้อื่น ผิดปกติจากชีวิตตามความเป็นจริง และจิตใจของแต่ละคนก็ละเอียดเหลือเกิน ถ้าไม่รู้จิตใจของตัวเองตามความเป็นจริง จะไม่สามารถที่จะดับกิเลสหรือละกิเลสได้เลย เพราะว่าการที่จะดับกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ต่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

คราวก่อนเป็นเรื่องของอาชีวัฏฐมกศีล ซึ่งเป็นการเว้นกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ ที่มีอาชีวะเป็นเหตุ และสำหรับกายทุจริต ๓ ได้กล่าวไปแล้ว วจีทุจริต ๓ ที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา

ต่อไปขอกล่าวถึงสัมผัปปลาปวาจา คือ การกล่าวคำเพ้อเจ้อ ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า แต่ละท่านมีกิเลสมากน้อยแค่ไหน

วันนี้กายกรรม ไม่มีทุจริตใช่ไหม ปาณาติบาตไม่มี อทินนาทานไม่มี กาเมสุมิจฉาจารไม่มี ส่วนวาจา วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

นี่คือชีวิตจริงที่แสดงให้เห็นถึงกิเลสที่มาก หนา และเหนียวแน่นเหลือเกิน กายกรรมไม่มีทุจริตจริง แต่พูด พูดอยู่เสมอ ฉะนั้น ก็ควรเริ่มระลึกรู้ว่า คำพูดแสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นของกิเลสมากน้อยเพียงไร มุสาวาทไม่มี ปิสุณาวาจาไม่มี ผรุสวาจาวันนี้ก็อาจจะยังไม่มี แต่สัมผัปปลาปวาจา คำพูดเพ้อเจ้อ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลย วันนี้มีหรือเปล่า

ปกติทุกคนก็มักจะพูด และก็พูดมากจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้เห็นกิเลสซึ่งเป็นปัจจัยให้พูด กิเลสเป็นปัจจัยให้กระทำกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ไม่ใช่เพียงแต่นึกคิดเท่านั้น ขอให้ทราบว่า กว่าจะพูดแต่ละครั้ง แต่ละคำ แต่ละเรื่อง ต้องมีจิตประเภทนั้นๆ เป็นปัจจัย ทำให้วาจานั้นๆ เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ทราบเลยใช่ไหมว่า สัมผัปปลาปวาจานั้นเป็นอย่างไร มากหรือน้อยแค่ไหน และก็เป็นเครื่องวัด แสดงให้เห็นถึงกิเลสที่มีในจิตใจของตนเองจริงๆ เพราะถ้าไม่มีกิเลส สัมผัปปลาปวาจากล่าวไม่ได้เลย แต่ที่กล่าวแล้วมากหรือน้อย เป็นชีวิตจริงๆ ก็ควรที่จะได้ทราบถึงความจริงว่า กิเลสทั้งหลายที่จะดับได้หมดเป็นสมุจเฉท ยากสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาธรรมโดยละเอียดก็จะเห็นกิเลสมาก ซึ่งเป็นการดีที่จะไม่ประมาทกิเลส ไม่อย่างนั้น บางท่านคิดว่า การดับกิเลสง่าย กระทำได้โดยรวดเร็ว โดยไม่ยาก

สำหรับเรื่องของสัมผัปปลาปวาจา ควรที่จะได้ทราบว่า ได้แก่วาจาเช่นไรบ้าง

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ทุจริตวรรคที่ ๓ ข้อ ๒๒๑ มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วจีทุจริต ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างเป็นไฉน คือ คำเท็จ ๑ คำส่อเสียด ๑ คำหยาบ ๑ คำเพ้อเจ้อ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วจีทุจริต ๔ อย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างเป็นไฉน คือ คำจริง ๑ คำไม่ส่อเสียด ๑ คำอ่อนหวาน ๑ คำพอประมาณ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ อย่างนี้

เพราะฉะนั้น ความหมายของสัมผัปปลาปวาจา ได้แก่ คำเพ้อเจ้อ เป็น วจีทุจริต แต่ถ้าเป็นวจีสุจริตแล้ว ได้แก่ คำพูดพอประมาณ ซึ่งคำพูดพอประมาณต้องไม่ใช่อกุศลและเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ว่า ไม่พูดมากเท่านั้น เพราะถ้าไม่พูดมาก แต่เวลาพูดเป็นอกุศล และไม่เป็นประโยชน์ ก็ยังคงเป็นสัมผัปปลาปวาจา

ข้อความของสัมผัปปลาปวาจาในพระไตรปิฎกมีมาก ซึ่งจะขอกล่าวถึงบางประการ ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จุนทสูตร ข้อ ๑๖๕ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ส่วนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร ใกล้เมืองปาวา ครั้งนั้นแล นายจุนทกัมมารบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะนายจุนทกัมมารบุตรว่า

ดูกร จุนทะ ท่านชอบใจความสะอาดของใครหนอ

นายจุนทกัมมารบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมบัญญัติความสะอาดไว้ ข้าพระองค์ชอบใจความสะอาดของพราหมณ์พวกนั้น

แต่ละท่านที่เป็นครูอาจารย์ ก็มีลัทธิ มีคำสอนต่างๆ กัน ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรม ก็ได้ตรัสถามความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจของบุคคลที่พระองค์ทรงแสดงธรรมก่อนว่า ผู้นั้นมีความคิดอย่างไร มีความเข้าใจ มีความเห็นที่ถูกผิดอย่างไร เพื่อที่จะได้ทรงแสดงธรรมเกื้อกูลอุปการะ แก้ความเห็นผิดของบุคคลนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร จุนทะ ก็พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมบัญญัติความสะอาดไว้อย่างไรเล่า

นายจุนทกัมมารบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมชักชวนสาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด บุรุษผู้เจริญ ท่านลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่ พึงจับต้องแผ่นดิน ถ้าไม่จับต้องแผ่นดิน พึงจับต้องโคมัยสด ถ้าไม่จับต้องโคมัยสด พึงจับต้องหญ้าเขียวสด ถ้าไม่จับต้องหญ้าเขียวสด พึงบำเรอไฟ ถ้าไม่บำเรอไฟ พึงประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ ถ้าไม่ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ พึงลงน้ำ ๓ ครั้ง ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมบัญญัติความสะอาดอย่างนี้แล ข้าพระองค์ชอบใจความสะอาดของพราหมณ์พวกนี้

ก่อนที่ท่านผู้ฟังจะสนใจศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ท่านผู้ฟังก็คงจะมีครูอาจารย์มามากมายหลายท่าน ซึ่งครูอาจารย์ก่อนๆ นั้นก็คงจะแสดงว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ความสุข ความสบาย ความเจริญในชาตินี้ และเมื่อท่านยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม ยังไม่ทราบถึงเหตุและผลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด ท่านก็อาจจะมีพฤติกรรม หรือมีการกระทำตามที่ครูอาจารย์ก่อนๆ แนะนำที่ว่า ถ้าทำอย่างนั้นแล้วจะเป็นสิริมงคล หรือว่าจะนำความสุขความเจริญมาให้ แต่ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงถึงเหตุอันแท้จริง และผลอันแท้จริง เมื่อเหตุนั้นๆ กระทำแล้วก็จะทำให้เกิดผลนั้นๆ ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร จุนทะ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมบัญญัติความสะอาดโดยประการอื่น ส่วนความสะอาดในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีโดยประการอื่น

สำหรับความสะอาดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ไม่เหมือนกับความสะอาดที่พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิบัญญัติไว้

นายจุนทกัมมารบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความสะอาดในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีอย่างไรเล่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ความสะอาดในวินัยของพระอริยะ มีอยู่ด้วยประการใด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ด้วยประการนั้นเถิด

ท่านผู้ฟังพอจะเดาได้ไหมว่า พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องความสะอาดอย่างไร ไม่คงพ้นจากกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ความสะอาดจริงๆ ก็ต้องเว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต นั่นจึงจะชื่อว่าสะอาด

แต่ถ้าจะสะอาดโดยประการอื่น และยังคงมีกายทุจริต มีวจีทุจริต มีมุสาวาท มีปิสุณาวาจา มีผรุสวาจา มีสัมผัปปลาปวาจา จะชื่อว่าสะอาดไม่ได้ ถ้าท่านผู้ใดต้องการความสะอาดจริงๆ ต้องเว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต

ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงความไม่สะอาดทางกาย ๓ ความไม่สะอาดทางวาจา ๔ ความไม่สะอาดทางใจ ๓ เป็นกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓ ซึ่งเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ และพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงความสะอาดทางกาย ๓ ความสะอาดทางวาจา ๔ ความสะอาดทางใจ ๓ ซึ่งเป็นกุศลกรรมบถ ๑๐

สำหรับสัมผัปปลาปวาจา ข้อความมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่ควร

ท่านผู้ฟังจะได้ทราบ จะได้วินิจฉัยได้ถูกต้องว่า คำพูดอย่างไรเป็นสัมผัปปลาปวาจา เป็นคำพูดที่เพ้อเจ้อหรือไม่เพ้อเจ้อ สำหรับคำพูดที่เพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูก กาล ไม่มีประโยชน์เลย แต่ก็กล่าว

กล่าวไม่จริง ดีไหม แม้แต่เรื่องของธรรม ถ้าพูดไม่จริง เป็นแต่เพียงความคิด ความเห็น ความเข้าใจเอง การวินิจฉัยธรรมเองด้วยความประมาท ซึ่งธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และเป็นเรื่องจริง ถูกต้องตามเหตุผลตามสภาพธรรมนั้นๆ แต่เพราะความประมาทผู้ฟัง อาจจะคิดว่าผู้ฟังไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมที่ลึกซึ้งนั้นได้ หรือว่าประมาทธรรมนั้นเองว่า ธรรมที่ลึกซึ้งนั้นก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ลึกซึ้ง เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็สามารถที่จะคิด หรือตรึก หรือเข้าใจเองได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องศึกษาโดยละเอียด หรือว่าโดยไม่ต้องประพฤติปฏิบัติตามให้ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมนั้นจริงๆ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ คำพูดที่กล่าวมานั้น ก็เพ้อเจ้อ เพราะว่ากล่าวไม่จริง และเป็นการประมาททั้งผู้ฟัง และประมาททั้งธรรมด้วย

แม้แต่ในเรื่องของศีล บางท่านกล่าวว่า ทำไมต้องแสดงธรรมให้สูงเลิศจนถึงกับการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทำไมไม่กล่าวเรื่องของศีลธรรมประจำวันที่จะให้คนสนใจประพฤติปฏิบัติตามเสียก่อน ที่ท่านกล่าวอย่างนี้ เพราะว่าท่านไม่เข้าใจสภาพความลึกซึ้งของธรรม

เนื่องจากผู้ที่จะสมบูรณ์ด้วยศีล สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามศีล ๕ ได้บริสุทธิ์จริงๆ ผู้นั้นต้องเป็นพระอริยเจ้า คือ เป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

การกล่าวถึงศีล ๕ โดยไม่ได้แสดงธรรมที่ลึกซึ้งให้ประพฤติปฏิบัติตามด้วย ย่อมไม่ได้ผล แต่ถ้าได้ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียด ในสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา และก็อบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย จะเข้าใจความหมายของการที่พระผู้มีพระภาคทรงให้พุทธบริษัทรักษาศีล ๕ เป็นนิจศีลได้ว่า เพื่อประโยชน์ คือ เกื้อกูลแก่การขัดเกลากิเลส ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท รู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงเป็นผู้ที่สมบูรณ์ในศีล ๕ ได้

แต่ถ้าเพียงกล่าวถึงศีล ๕ โดยไม่ละเอียด ไม่ลึกซึ้ง ก็ไม่สามารถที่จะให้ผู้หนึ่งผู้ใดเห็นคุณประโยชน์ และอบรมขัดเกลาพร้อมกับการเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลส และสมบูรณ์ในการรักษาศีล ๕ ได้จริงๆ


หมายเลข  7033
ปรับปรุง  28 ต.ค. 2567