แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
ถ. ขณะที่สติระลึกที่สี เราจะต้องไปมนสิการว่า นี่เป็นสี หรือสติจะระลึกรู้โดยอัตโนมัติเอง รู้ว่าสภาพธรรมนี้เป็นสภาพธรรมที่มีอยู่ตามความเป็นจริง และถ้ามีปัญญาด้วย ปัญญาก็สามารถจะระลึกรู้ได้ชัดแจ้งขึ้นว่า สิ่งนี้ไม่ควรยึดถือ จะเป็นอัตโนมัติอย่างนี้ หรือว่าเป็นขั้นตอนอย่างไร
สุ. การระลึก และสำเหนียก สังเกตที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่จำเป็นต้องคิด
ดิฉันเคยยกตัวอย่างท่านผู้ฟังที่สนทนากันในเรื่องนี้ ก็ให้ท่านพิจารณาลักษณะของเสา ที่เว้าแหว่ง มีจุดด่าง มีสีสันต่างๆ ท่านสามารถที่จะเห็นและรู้โดยไม่ต้องนึกใช่ไหมว่า มีกี่จุดที่เว้าแหว่ง หรือว่าสีสันต่างกันอย่างไร ตรงไหน เพราะฉะนั้น นามธรรมและรูปธรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อสติระลึก มีการสังเกตโดยไม่จำเป็นต้องคิดได้ เป็นการอบรมจิตที่จะให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งต้องค่อยๆ อบรมเจริญไป
ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙ ข้อ ๑๙ พระผู้มีพระภาคทรงเตือนในเรื่องการเจริญกุศลทุกประการทันที ข้อความมีว่า
บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป
จริงไหม เพียงคิดว่าจะทำกุศล แต่ถ้าไม่ทำ ขณะต่อไปเป็นอกุศลเสียแล้ว หรือเมื่อสักครู่นี้ ที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็เป็นอวิชชา เป็นความไม่รู้สะสมหนาแน่นยิ่งขึ้น เหนียวแน่นยิ่งขึ้น
ข้อความต่อไปมีว่า
หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้
หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้
แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาปเมื่อนั้น
แม้คนเจริญก็ย่อมเห็นบาปตราบเท่าที่ความเจริญยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดกรรมดีย่อมให้ผล เขาจึงเห็นความเจริญเมื่อนั้น
จริงไหม นี่เป็นเหตุที่หลายท่านทีเดียวกล่าวว่า คนที่ทำบาปมากๆ ไม่เห็นได้รับผลของบาปสักทีเลย ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่า แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญ ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย จักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำ ย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ ฉันใด คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป ฉันนั้น
บางท่านอาจจะประมาท คิดว่า บาปที่ท่านทำไม่ใช่บาปใหญ่โต เรื่องเล็กๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่ว่า แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ ฉันใด คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป ฉันนั้น
แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่อัธยาศัยของผู้ที่เต็มไปด้วยกิเลส ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิดกระทำอกุศลกรรม ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงเตือน ทรงโอวาทพุทธบริษัทให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่พึงพอใจในบาป และไม่พึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย จักไม่มาถึง
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อย จักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ
เกื้อกูลแม้ผู้เจริญสติปัฏฐาน ชั่วขณะหนึ่งอย่าคิดว่าไม่มีประโยชน์ ขณะนี้ อ่อนหรือแข็งปรากฏ ระลึกทันที ลักษณะของแข็งไม่ใช่ตัวตน ชั่วขณะนี้อย่าคิดว่าไม่มีประโยชน์ สามารถจะรู้แจ้งดับกิเลสถึงความเป็นอรหันต์ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานอย่าท้อถอย และควรเห็นประโยชน์แม้ชั่วขณะที่ระลึกลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ข้อความต่อไปมีว่า
ภิกษุพึงละบาป ดุจพ่อค้ามีพวกน้อย มีทรัพย์มาก เว้นทางที่ควรกลัว ดุจบุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น
กุศลมีประโยชน์มาก แต่เกิดน้อย ดุจพ่อค้ามีพวกน้อย มีทรัพย์มาก เว้นทางที่ควรกลัว เพราะเห็นว่ากุศลมีประโยชน์ มีค่า แต่เกิดน้อย เพราะฉะนั้น ไม่ควรประมาท และเจริญกุศลให้มากขึ้น เว้นทางที่ควรกลัว ดุจบุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น
ถ้าที่ฝ่ามือไม่พึงมีแผลไซร้ บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้ เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมซาบฝ่ามือที่ไม่มีแผล บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำ
ผู้ใดย่อมประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับถึงผู้นั้นแหละผู้เป็นพาล ดุจธุลีละเอียดที่บุคคลซัดทวนลมไป ฉะนั้น
คนบางพวกย่อมเข้าถึงครรภ์ บางพวกมีกรรมอันลามกย่อมเข้าถึงนรก ผู้ที่มีคติดีย่อมไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน
อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่งแผ่นดินที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว พึงพ้นจากกรรมอันลามกได้ ไม่มีเลย อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่งแผ่นดินที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว มัจจุพึงครอบงำไม่ได้ ไม่มีเลย ฯ
จบ ปาปวรรคที่ ๙
ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ต้องปฏิสนธิหลังจากจุติ และก็จุติอีกหลังจากปฏิสนธิแล้ว สำหรับข้อความที่ว่า คนบางพวกย่อมเข้าถึงครรภ์ บางพวกมีกรรมอันลามกย่อมเข้าถึงนรก ผู้ที่มีคติดีย่อมไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทราบว่าจะไปสู่สถานที่ใด ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า
และพระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้ระลึกถึงความตาย ก็เพื่อให้อบรมเจริญกุศลที่จะกระทำได้ โดยเฉพาะการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ที่จะถึงการดับภพชาติ ไม่ต้องเกิดอีก
ถ. เรื่องสติที่จะมีเฉพาะหน้า รู้สึกว่าจะเข้าใจยาก เห็นรถยนต์งามๆ สักคันหนึ่ง ผมอยากได้ ความมีสติให้พิจารณาเฉพาะหน้า ตั้งสติไว้เฉพาะหน้า เช่น เห็นสีรถยนต์ ควรจะทำในใจให้เหมือนกับช่างที่สร้างรถยนต์ขึ้นมา คือ เมื่อเห็นสีแล้ว ช่างที่ทำมาย่อมรู้ละเอียดหมดทุกอย่าง ไม่ว่าหลับตา มองเห็นเครื่องหมด มองเห็นวิธีการทำงาน เห็นความเป็นไปของรถ รู้สึกว่า เขาไม่ค่อยจะยึดมั่นในความสวยความงามของรถมากมายเหมือนคนที่ไม่ใช่ช่าง ความคิดเช่นนี้ คล้ายๆ กับที่เราใช้สติเฉพาะหน้ากับรูปและนามหรือเปล่า
สุ. เห็นเป็นรถยนต์ เลยสีแล้ว เลยการที่จะระลึกรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา การที่จะรู้ความหมายในนิมิตอนุพยัญชนะต้องถึงมโนทวารวิถี ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน
เพราะฉะนั้น การที่จะมีสติเฉพาะหน้า ทางตาก็ส่วนทางตาจริงๆ ทางหูก็ส่วนทางหูจริงๆ ทางจมูกก็ส่วนทางจมูกจริงๆ ทางลิ้นก็ส่วนทางลิ้นจริงๆ ทางกาย ทางใจ ก็ส่วนทางกายและทางใจจริงๆ
ถ. ผมเข้าใจเพียงว่า ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราไปยึดมั่น สีอย่างเดียวเราก็คงไม่ชอบ เสียงอย่างเดียวเราก็คงไม่ชอบ ถ้าหากว่าไม่มีการจัดหรือประดิษฐ์ในรูปแบบที่เราชอบ
สุ. แน่ใจหรือว่าสีอย่างเดียวนี้ไม่ติด รถยนต์ ๒ คัน คันละสี ต้องเลือกไหม ก็เป็นรถยนต์เหมือนกัน ท่านผู้ฟังบอกว่า ถ้าพอใจในสีอย่างเดียว ไปซื้อสีในกระป๋อง แม้แต่สีในกระป๋องก็ยังต้องเลือกอีก จะติดไหมในสี ติดหมด และไม่รู้ด้วยว่า ความจริงติดสี ติดมากเหลือเกินในรูปารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ บุคคลใดๆ ก็ตาม ถ้าว่าไม่ติดสี ก็ต้องไม่เลือกใช่ไหม แต่นี่ยังต้องเลือกอยู่ ยังมีความพอใจในสีสันวัณณะ ทางตานี้มากมายเหลือเกิน ถ้าแยกทวาร ทางกายเป็นเพียงอ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหว ซึ่งเป็นสภาพที่ปรากฏแล้วหมดไป ยังติดไหม
เรื่องติดนี่เหนียวแน่นจริงๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มากมายเหลือเกิน ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะไม่รู้ตัวเองเลยว่า กิเลสมากมาย และเหนียวแน่น หนาแน่นแค่ไหน
ท่านผู้ฟังถามว่า ติดสีหรือติดรถยนต์กันแน่ ก็รถยนต์ ๒ คัน ๒ สี เวลาเลือกติดอะไร ติดรถยนต์ หรือติดสี
เรื่องสี ขอให้เข้าใจถึงอรรถของปรมัตถธรรมที่ใช้คำว่า สี หรือ รูปารมณ์ ขณะนี้กำลังเห็น ติดไหม ติดหรือไม่ติด และการติดนี้ ติดอย่างไม่รู้ตัว เพราะว่าอยากเห็นอยู่เรื่อยๆ เห็นอะไรก็ได้ ก็ยังอยากเห็นใช่ไหม อยากดูทุกสิ่งทุกอย่าง น่ากลัว ก็ยังอยากจะดู มีความต้องการที่จะเห็นอยู่เรื่อยๆ
สัมผัปปลาปวาจาเป็นเรื่องที่ละเอียด หมายความถึงคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ และเป็นการยากเหลือเกินที่จะเว้นคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ได้เป็นสมุจเฉท ถ้าบุคคลนั้นยังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่สามารถที่จะดับสัมผัปปลาปวาจา การพูดคำที่ไม่มีประโยชน์ได้เป็นสมุจเฉท แต่สำหรับท่านที่ใคร่ในการศึกษาธรรม ในการอบรม ในการเจริญธรรม ท่านก็พากเพียรที่จะละเว้น และขัดเกลากิเลสตามอัธยาศัยที่ท่านได้สะสมมา
เรื่องของการขัดเกลาทางวาจา ขอยกตัวอย่างท่านพระราหุล ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล มุสาวาทวรรค สหเสยยสิกขาบทที่ ๕ เรื่องพระนวกะและสามเณรราหุล มีข้อความว่า
ในข้อที่ท่านพระราหุลเป็นผู้ใคร่ในการศึกษานั้น มีคำเป็นเครื่องสาธก ดังต่อไปนี้
ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายเห็นท่านราหุลนั้นกำลังมาแต่ไกลเทียว ย่อมวางไม้กวาดกำและกระเช้าเทขยะไว้ข้างนอก ต่อมาเมื่อภิกษุพวกอื่นกล่าวว่า
ท่านผู้มีอายุ นี้ใครเอามาวางทิ้งไว้ ดังนี้
ภิกษุอีกพวกหนึ่ง จะกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ ท่านราหุลเที่ยวมาในประเทศนี้ ชะรอยเธอวางทิ้งไว้กระมัง
ส่วนท่านพระราหุลนั้น ไม่เคยพูดแม้ในวันหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่การกระทำของผม เก็บงำไม้กวาดกำเป็นต้นนั้นแล้ว ขอขมาภิกษุทั้งหลายก่อน จึงไป
นี่เป็นชีวิตของผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ท่านหนึ่ง ซึ่งก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ จะเห็นได้ว่า ท่านพากเพียรจริงๆ ในการละกิเลส เพราะว่ากิเลสนั้นไม่ใช่จะละได้โดยง่าย ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านจะทราบว่า ท่านมีกิเลสมากมายสักเท่าไร และกิเลสทั้งหมดนี้สามารถที่จะดับได้จริงๆ แต่ว่ายาก
จะดับได้เป็นสมุจเฉท ยากสักแค่ไหน ขอให้ลองเทียบดูกับความไม่แช่มชื่นใจสักนิดหนึ่งที่กำลังมี ความไม่แช่มชื่นใจเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง จะดับไม่ให้เกิดอีกเลย ยากไหม ซึ่งกิเลสของเราไม่ใช่มีแต่เฉพาะความไม่แช่มชื่นใจเท่านั้น แต่มีมากมายหลายประเภททีเดียว และก็มีปัจจัยที่จะให้ปรากฏเกิดขึ้นมากน้อยตามการสะสมของกิเลสนั้นๆ
เพราะฉะนั้น กว่าจะดับกิเลสได้จริงๆ ต้องขัดเกลามากทั้งในเรื่องของศีล เรื่องของการศึกษา ทั้งอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งก็ได้แก่การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง พร้อมทั้งการอบรมเจริญกุศลทุกประการ อย่างเช่น เรื่องของท่านพระราหุล เป็นต้น เวลาที่ภิกษุทั้งหลายเห็นท่านพระราหุลมาแต่ไกล ท่านก็วางไม้กวาด กระเช้าเทขยะไว้ข้างนอก สำหรับใคร ก็เพื่อให้สามเณรราหุลเก็บ แต่เมื่อภิกษุพวกอื่นเห็นและกล่าวว่า ใครเอามาวางทิ้งไว้ ภิกษุอีกพวกหนึ่งก็กล่าวว่า เห็นท่านพระราหุลมาแถวนี้ เพราะฉะนั้น คงจะเป็นท่านพระราหุลที่วางไว้
แม้ว่าภิกษุอื่นจะกล่าวว่าอย่างนี้ แต่ท่านพระราหุลเอง ความจริงเป็นอย่างไร ท่านก็ทราบว่าความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อความจริงท่านไม่ใช่ผู้กระทำ ท่านไม่ใช่ผู้ผิด ความจริงก็ต้องเป็นความจริงอย่างนั้น แม้ว่าภิกษุพวกอื่นจะกล่าวว่าเป็นท่าน ส่วนท่านเองนั้น ไม่เคยพูดแม้ในวันหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่การกระทำของผม
นี้เป็นความพยายามพากเพียรที่จะขัดเกลาคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นเรื่องของส่วนรวม เป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่เกี่ยวกับความประพฤติส่วนตัวแล้ว ข้อความใน ปัญจมสมันตปาสาทิกา อรรถกถา พระวินัย ปริวาร วรรณนา วินิจฉัยใน เสทโมจนกถา มีข้อความ ที่กล่าวว่าด้วยเรื่องไม่เปิดเผยอาบัติว่า
แม้ภิกษุใดไม่พึงเปิดเผยอาบัติซึ่งมีอยู่ สัมปชานมุสาวาททุกกฎย่อมมีแก่ภิกษุนั้น ธรรมดาอาบัติในมโนทวารย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้นั่งนิ่งด้วยปฏิญญาไม่เป็นธรรม แต่เพราะเหตุที่ไม่เปิดเผยอาบัติซึ่งควรเปิดเผย อาบัตินี้พึงทราบว่า เกิดแต่การไม่กระทำในวจีทวารของภิกษุนั้น
จะเห็นได้ว่า การที่จะเป็นทุจริตทางกาย ทางวาจา จะต้องอาศัยอกุศลจิตที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดทุจริต ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ในอาบัติส่วนอื่น ข้ออื่น ส่วนใหญ่จะไม่มีการอาบัติทางมโนทวาร แต่จะเป็นทางกายทวาร วจีทวาร ในเรื่องของกายกรรม วจีกรรม เพราะว่าเรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นอกุศลจริง แต่ถ้าไม่แรงถึงกับจะให้เกิดกายทุจริต วจีทุจริต ก็ไม่เป็นอาบัติ
แต่ถ้าเป็นมุสาวาท แม้ไม่พูด คือ ไม่เปิดเผยอาบัติ ก็เป็นสัมปชานมุสาวาททุกกฎ เพราะเหตุว่า ไม่เปิดเผยอาบัติซึ่งควรเปิดเผย และ อาบัตินี้พึงทราบว่า เกิดแต่การไม่กระทำในวจีทวารของภิกษุนั้น