ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221


ตอนที่ ๒๒๑

สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

พ.ศ. ๒๕๔๕


ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เป็นธรรมไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น แต่หลงยึดถือว่าเป็นของเรา โลภะเกิดก็เป็นเรา ติดข้องต้องการ โทสะเกิดก็เป็นเรา แต่ความจริงเป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิด บังคับไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ปัญญาคือสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเห็นถูกตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความเห็นผิด

ผู้ฟัง ปัญญา คือ ...

ท่านอาจารย์ ความเห็นถูกตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความเห็นผิดจากความจริง

ผู้ฟัง การที่เราอยากนั่งสมาธิเป็นปัญญาไหม ถ้าบอกว่าเป็น

ท่านอาจารย์ เข้าใจอะไรถูกต้องขณะนั้น เพราะปัญญาเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังมี ขณะนี้เป็นจิต เจตสิก เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย แล้วก็ดับ ถ้าเข้าใจถูกเป็นปัญญา ไม่ใช่เรา

ผู้ฟัง แล้วถ้าเข้าใจไม่ถูก

ท่านอาจารย์ เป็นเราหมดเลย เห็นก็เป็นเราเห็น ได้ยินก็เป็นเราได้ยิน โกรธก็เป็นเราโกรธ ดีใจก็เป็นเราดีใจ ทุกอย่างที่เป็นธรรมทั้งหมดเอามาเป็นเราหมด ซึ่งความจริงไม่ถูกต้อง เพราะธรรมต้องเป็นธรรม ไม่ใช่ใคร เกิดแล้วก็ดับทั้งนั้นเลย

ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นว่าการนั่งสมาธิเป็นปัญญา นั่นคือเรา

ท่านอาจารย์ ถูกหรือผิด

ผู้ฟัง ถ้าเป็นเรา ต้องผิด

ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

ผู้ฟัง แล้วถ้าเราบอกว่าเป็นปัญญา เพราะว่า

ท่านอาจารย์ เพราะเราไม่รู้ว่าปัญญาคืออะไร เราถึงไปเรียกว่าเป็นปัญญา เราบอกว่าเป็นปัญญา นั่นคือเราบอก แต่ไม่ใช่ปัญญาที่เห็นถูก

ผู้ฟัง แล้วใคร คือ เป็นคนที่บอกว่า ปัญญา ที่เห็นถูก คือการถูกต้อง

ท่านอาจารย์ ไม่ต้องมีใครบอก ลักษณะของเห็นใครต้องบอก

ผู้ฟัง ไม่ต้อง

ท่านอาจารย์ ลักษณะของปัญญาก็ไม่มีใครต้องบอกเหมือนกัน เป็นความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ธรรมนี้เป็นประโยชน์มาก ถ้าเราพิจารณาแล้วมีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น เป็นธัมมัง สรณัง คัจฉามิ มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งที่นี่คือนำทางไปสู่ทุกอย่างที่ไม่ผิด

ผู้ฟัง ถ้าเราบอกว่าการนั่งสมาธิ เป็นการพาไปถึงการเห็นจริง

ท่านอาจารย์ เห็นอะไร

ผู้ฟัง เมื่อไรที่จิตเราสงบ เราก็ไม่โกรธ ไม่หลง ดีใจ อันนั้นจะเรียกว่าเป็นปัญญาได้ไหม

ท่านอาจารย์ ยังเลย เมื่อกี้เพียงแค่ทำให้จิตเราสงบก่อน สงบนี่คืออะไร สงบเป็นธรรมหรือเปล่า

ผู้ฟัง เป็น

ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม

ผู้ฟัง นามธรรม

ท่านอาจารย์ เป็นจิต หรือเจตสิก

ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก ถ้าใช้คำว่า “สงบ” หมายความว่าสงบจากอะไร

ผู้ฟัง สงบจากความคิด ซึ่งเราคิดแล้วทำให้จิตเราไม่สุข

ท่านอาจารย์ กล่าวว่าสงบจากอกุศลได้ไหม คำว่าสงบ ไม่ใช่สงบเฉยๆ นั่งเฉยๆ อยู่ในป่า อยู่ในห้อง อยู่คนเดียว อย่างนั้นไม่ใช่สงบ ต้องเป็นจิตที่สงบ แต่ว่าต้องรู้ว่า สงบจากอะไร สงบเฉยๆ ไม่ได้ ต้องสงบจากอะไร

ผู้ฟัง สงบจากการคิด

ท่านอาจารย์ ทำไมต้องไปสงบจากการคิด คิดมันเป็นอย่างไรถึงต้องไปสงบ

ผู้ฟัง สงบความรู้สึกที่เราโกรธ

ท่านอาจารย์ แปลว่าขณะนั้น ถ้าพูดถึงสงบ คือสงบจากความโกรธ แล้วสงบจากอะไรอีก นอกจากความโกรธ อกุศลใหญ่ๆ มี ๓ ทราบไหม อะไรบ้าง ได้ยินคำว่า โลภะ ไหม

ผู้ฟัง โลภ

ท่านอาจารย์ โทสะ

ผู้ฟัง โกรธ

ท่านอาจารย์ โมหะ

ผู้ฟัง หลง

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องสงบจาก ๓ อย่าง ไม่ใช่สงบจากโทสะอย่างเดียว ต้องสงบจากทั้งโลภะ โทสะ โมหะด้วย แล้วขณะที่กำลังอยากนั่ง สงบจากอะไร

ผู้ฟัง อยากนั่ง

ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อยากก็ไม่นั่ง ที่นั่งเพราะอยาก เพราะฉะนั้น ขณะที่อยากนั่งสงบจากอะไร

ผู้ฟัง ถ้าอยากก็จะนั่ง

ท่านอาจารย์ ใช่ ขณะที่อยากนั่ง

ผู้ฟัง ความอยากก็คือความโลภ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สงบหรือเปล่า

ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ทำให้เราสงบ

ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าศึกษาเข้าใจก็คือตัวปัญญา สภาพธรรมที่เป็นตัวปัญญา ความเห็นถูกเกิดขึ้น แล้วก็จะนำไปสู่ความเห็นถูกยิ่งขึ้น จากการพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นของเราเอง คนอื่นให้เราไม่ได้เลย ปัญญา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนอกุศลของเรา ความไม่รู้ของเรา ให้เป็นกุศลได้ ให้เป็นปัญญาได้ แต่ทรงแสดงเหตุ และผลของสภาพธรรมทั้งหมดให้กระจ่างชัด ให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาเกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูกของตัวเอง ในชาติหนึ่งๆ สิ่งที่มีค่าประเสริฐสุด คือ ความเห็นถูกต้อง เพราะว่าเราไม่ได้มีความเห็นถูก ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ใครจะคิด ใครจะเข้าใจว่า ขณะนี้ไม่มีอะไรนอกจากสภาพที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูปเท่านั้น เกิดมา คือจิต เจตสิก รูปเกิด ถ้าจิต เจตสิก รูปไม่เกิด ก็ไม่มีใครเกิด ไม่มีอะไรเกิดทั้งนั้น เพราะฉะนั้น แม้แต่ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร มีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็เป็นเราไปตลอด อยู่ในโลกของความไม่รู้ ไปจนกว่าจะได้ฟังพระธรรมแล้วก็ไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นปัญญาของเราเอง

ผู้ฟัง แต่คนทุกคนไม่ได้มีปัญญาเหมือนกัน หรืออันเดียวกัน หรือแม้แต่จิต

ท่านอาจารย์ แต่ปัญญาเป็นปัญญา ปัญญา คือ เป็นความเห็นถูกต้อง ไม่ใช่ของใคร ปัญญาเกิดแล้วก็ดับด้วย ทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งเกิดเพราะปัจจัยแล้วก็ดับ

ผู้ฟัง อย่างนี้จะทำอย่างไร ให้คนทุกคนมีจิตขณะซึ่งต่างกันอยู่ตลอดเวลา

ท่านอาจารย์ โลกนี้แม้แต่เพียงรูป เราก็เห็นว่ามีทั้งที่ลุ่ม มีทั้งที่ดอน มีทะเล มีมหาสมุทร เอาไปถมให้มันเรียบเท่ากันหมด สำเร็จไหม

ผู้ฟัง ไม่สำเร็จ

ท่านอาจารย์ เราจะไปให้คนอื่นมีความคิด ความเห็น เหมือนกันทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ แล้วแต่การสะสม ถ้าไม่มีบุญที่ได้สะสมมาแล้วในอดีต จะไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ประการที่ ๑ เป็นโอกาสที่หายาก เป็นขณะที่หายาก เพราะว่าแม้ว่ามีการแสดงธรรม หรือมีพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยพระองค์เอง แต่บุคคลนั้นเกิดเป็นสัตว์ ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจ หรือว่าถ้าเกิดในสมัย ซึ่งไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หรือคำสอนอันตรธานไปหมดแล้ว มีแต่พระไตรปิฎก ซึ่งคนไม่เข้าใจ ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะว่าต้องเป็นการศึกษา ทุกอย่างที่จะเข้าใจ ไม่ใช่เพียงอ่าน ทุกคนอ่านออก ก ไก่ สระอา ก็อ่านออก ใส่ไม้เอก ก็อ่านออก แต่พระไตรปิฎกที่มีแต่ละคำเป็นพุทธวจนะจากพระโอษฐ์ ต้องศึกษาละเอียดมาก ถึงสามารถที่จะเข้าใจ แม้คำที่ทรงแสดงเบื้องต้น คือ ธรรม เราเริ่มรู้ว่า เราจะพูดธรรม จะสนทนาธรรม จะศึกษาธรรม คือศึกษาสิ่งที่มี จริงๆ ไม่มีใครมาหลอก ไม่มีใครมาสร้าง สิ่งที่มีจริง มีจริงทุกวัน เกิดขึ้นทุกวันแล้วก็หมดไปทุกวันด้วย สิ่งที่มีจริงอันนี้ ผู้ที่ตรัสรู้เท่านั้น จึงสามารถที่จะทรงแสดงลักษณะความจริงของสิ่งนั้นได้ เรามีโอกาสได้ฟัง แล้วถ้ามีศรัทธาที่ได้สะสมมาแล้วในอดีต ความสนใจของเรา ทำไมเราไม่ไปฟังอย่างอื่น ทำไมเราไม่ไปศึกษาเรื่องอื่น แต่เราฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร เพื่อความเห็นที่ถูกต้อง เราไม่ต้องการอะไรจากพระธรรม จะเอาพระธรรมไปทำอะไร มีอยู่อย่างเดียวคือเพื่อให้เข้าใจถูก ไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่ออะไรเลย

ผู้ฟัง เพื่อเข้าใจถูก แล้วก็เพื่อ

ท่านอาจารย์ ละความเห็นผิด เพื่อให้รู้ความจริงว่า ไม่มีเรา เป็นธรรมทั้งหมด ทุกอย่าง มีอะไรที่มีแล้วก็ไม่ใช่ธรรมบ้าง เป็นธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ศึกษาแล้วเข้าใจขึ้นว่า เป็นธรรมทั้งหมด

ผู้ฟัง แล้วเมื่อเรารู้ว่ามันเป็นธรรมทั้งหมดแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น

ท่านอาจารย์ เรารักอะไรมากที่สุด

ผู้ฟัง รักตัวเอง

ท่านอาจารย์ แน่นอน จะรักอะไรยิ่งกว่าตัว

ผู้ฟัง รักพ่อรักแม่

ท่านอาจารย์ พ่อแม่ของใคร

ผู้ฟัง พ่อแม่เรา

ท่านอาจารย์ เพราะมีเรา ทั้งหมดจุดศูนย์กลางอยู่ที่เรา

ผู้ฟัง แต่ไม่มีเรา

ท่านอาจารย์ เพราะมีความไม่รู้มาตั้งแต่เกิด เป็นธรรม แต่ยึดถือธรรมว่าเป็นเราทั้งหมด จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจขึ้น เมื่อมีความรักตัวเองมากที่สุด ทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง แสวงหาทุกอย่างเพื่อความพอใจของตัวเอง ถ้าเป็นในทางสุจริตก็พอใช้ได้ แต่ถ้าเป็นในทางทุจริต เป็นอย่างไร

ผู้ฟัง ก็ไม่ดี

ท่านอาจารย์ ถ้าเราห้ามยับยั้งความรักตัวไม่ได้ แล้วก็แสวงหา สิ่งที่ถ้าไม่ได้โดยสุจริต เราถึงกับทำทุจริต คนที่ทำทุจริตเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะความรักตัว ทั้งๆ ที่ไม่มีตัว แต่ถ้ารู้ความจริงขึ้นว่า ไม่มีเรา ความรักตัวเราก็จะน้อยลง เพราะไม่มี ชีวิตของเราก็จะเบาบางจากอกุศล

ผู้ฟัง ทำให้ไม่มีความโลภ โกรธ หลง

ท่านอาจารย์ เบาบาง แต่ยังไม่ได้ดับ จนกว่าปัญญาจะเจริญถึงขั้นที่สามารถดับได้ ไม่เกิดอีกเลย ต่อไปจะทราบว่า จิตที่เกิดมาต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดที่ใช้คำว่า ๔ ชาติ หรือ ชา-ติ คือ เกิดเป็นกุศล มีไหม จิตที่เกิดเป็นกุศล เปลี่ยนอกุศลนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตเกิดเป็นกุศลชาติ ๑ เพราะฉะนั้น ชาติของจิต ไม่ใช่ชาติจีน ชาติไทย ไม่ใช่ชาติอเมริกัน หรืออะไรเลย แต่เป็นชาติของจิต เมื่อเกิดแล้วต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ คือ เกิดเป็นกุศล หรือว่าเกิดเป็นอกุศล ซึ่งเป็นเหตุ เมื่อเหตุมีผล คือทำให้เกิดจิตที่เป็นวิบาก วิบากที่นี้หมายความถึงเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำ ซึ่งจิตนั้นซึ่งเกิดสืบต่อได้กระทำไว้ สะสมมา พร้อมถึงกาลที่จะให้เกิดผลชนิดไหน ทางไหน ก็เกิดผลชนิดนั้นทางนั้น ก็เกิดผลเป็นจิตเห็นบ้าง จิตได้ยินบ้าง จิตได้กลิ่นบ้าง จิตลิ้มรสบ้าง จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายบ้าง มี ๕ ทางที่จิตจะเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว คือ เมื่อไรเห็นสิ่งที่ดี จิตนั้นเป็นผล เป็นวิบากจิต ถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก เลือกไม่ได้ ได้ยินก็เหมือนกัน ไม่มีใครอยากได้ยินเสียงซึ่งไม่น่าฟัง แต่ถึงกาลที่กรรมพร้อมจะให้ได้ยินเสียงที่ไม่น่าฟัง นอนหลับอยู่ก็ยังตื่นขึ้นมาได้ยินได้ เมื่อถึงกาลที่กรรมนั้นจะให้ผล ทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรม เกิดขึ้นได้ยิน

เราสามารถที่จะเข้าใจชัดเจนถึงคำว่า กรรม และผลของกรรม ว่าต้องเป็นจิต และเจตสิก เราก็มีความรู้ความเข้าใจสิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเรามากขึ้น นี่ก็ ๓ ชาติแล้วใช่ไหม เป็นกุศล ๑ จะเปลี่ยนให้เป็นอกุศล หรือเป็นวิบากก็ไม่ได้ เมื่อเกิดเป็นกุศลก็ต้องเป็นกุศลแล้วก็ดับไป อกุศลอีก ๑ ส่วนวิบากก็เป็นผลของกุศล และอกุศล แล้วอีก ๑ คือกิริยาจิต ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ส่วนใหญ่เป็นจิตของพระอรหันต์

ผู้ฟัง อันนี้ที่หนุ่ย อยากรู้เหมือนกันว่ามีไหม คือ ตรงกลาง

ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เราจะใช้คำว่าตรงกลางก็ไม่ถูก แต่หมายความว่า

ผู้ฟัง คือไม่ได้รับรู้อะไร

ท่านอาจารย์ ไม่ กิริยาจิตหมายความถึงจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก เป็นจิตทีมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นทำกิจเฉพาะที่เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่เป็นกุศลจิต ไม่ใช่เป็นวิบากจิต ก็เป็นเรื่องที่ตัวเราทั้งหมดเลย เรามีครบ แต่ว่าเราไม่เคยรู้ เมื่อไม่รู้ก็ยึดถือว่าเป็นเรา แล้วก็เป็นของเราด้วย เพราะฉะนั้น อกุศลเรามากมายไหม เป็นประโยชน์มากที่ทราบ เพราะเหตุว่ามีทางที่จะทำให้อกุศลค่อยๆ ลดลงได้ สิ่งนั้นก็คือปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วไม่มีทางอื่นเลย แต่ปัญญาต้องเป็นความเห็นที่ถูกต้อง อบรมได้ เจริญได้ แต่ต้องตรงต่อสภาพธรรม จึงจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

ผู้ฟัง ความหมายของคำว่า “ธรรม” ที่ลึกซึ้ง และลุ่มลึก ที่แสนจะเข้าใจได้ยากแสนยาก เราก็เรียนธรรมกันมานานแล้ว แล้วก็อยากทราบความหมายของไตรลักษณ์ด้วย ที่ลึกซึ้ง

ท่านอาจารย์ การที่จะรู้จักธรรมละเอียดขึ้น โดยการที่ได้ฟังมากขึ้น และอบรมความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพระไตรปิฎก ๓ ปิฎก ๔๕ พรรษา ที่ได้ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจธรรม คือไม่หยุดที่จะติดตาม ที่จะฟัง ที่จะไตร่ตรองให้เข้าใจจริงๆ ว่า ธรรม คือ ทุกขณะในชีวิตไม่พ้นธรรมเลย ไม่ว่าจะหลับหรือตื่น อย่างวันหนึ่งๆ เราเคยคุยกันเรื่องอะไรก็ตามแต่ เรื่องความรู้สึกของเรา อาจจะมีเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้น ทั้งหมดเป็นธรรมอย่างละเอียด ซึ่งย่อลงไปเกิดขึ้นในเสี้ยววินาที ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ความทุกข์ ความไม่พอใจ หรือว่าความสบายใจอย่างในขณะนี้ ก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นธรรมที่ปรากฏได้ ๖ ทาง คือ ทางตาขณะนี้ที่กำลังเห็น เราอาจจะไม่เคยคิดเลยว่า เป็นธรรม แล้วเราก็ไปหาธรรม ไม่รู้ว่าไปหาที่ไหน แต่ในขณะที่กำลังเห็นนี้เอง ก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงความละเอียดไว้มากในเรื่องของแม้ขณะที่เห็นว่า ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ แล้วการเห็นแต่ละครั้งต้องมีเหตุปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้ชั่วขณะนิดเดียวที่เห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

การศึกษาธรรม การฟังธรรม คือ ฟังเรื่องที่มีจริงในชีวิตของแต่ละคน ซึ่งปรากฏกับแต่ละคน ตามปัจจัยของแต่ละคน ซึ่งแลกเปลี่ยนกันไม่ได้

ผู้ฟัง การศึกษาธรรม เรื่องราวของธรรมที่ละเอียดมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จะทำให้เมื่อสติเกิด จะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะที่ละเอียดมากขึ้นตามไป เหมือนอย่างปริยัติที่ละเอียดมากขึ้น

ท่านอาจารย์ คือเวลาที่เราฟังธรรม เรารู้ได้เลยว่า ความรู้เราขั้นฟัง เริ่มได้ยิน เริ่มพิจารณา เริ่มคิด เริ่มไตร่ตรองว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังจริงแค่ไหน อย่างบอกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ก็เชื่อได้ขั้นฟัง แต่ว่าเมื่อไรจะรู้จริงๆ ว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งมีแล้วก็ไม่มี จากไม่มีก็มี แล้วก็หามีไม่ เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาทุกขณะ เพราะฉะนั้น เข้าใจตัวเอง เข้าใจทุกอย่าง แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏภายนอก เราก็รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าจะศึกษาให้ละเอียดๆ แล้วก็เพื่อความเข้าใจมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่หวังว่า ความสำเร็จเกิดขึ้น

ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะได้ฟังธรรม มีใครหมดความหวังบ้าง หวังทั้งวัน แล้วไม่หยุดด้วย พอได้อะไรมาสมหวังก็หวังต่อไปอีก ถึงสิ่งที่ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีเต็มเหมือนมหาสมุทรซึ่งถมเท่าไรก็ไม่เต็ม ความหวังของแต่ละคนไม่หมดไปได้เลย แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็เริ่มมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ต้องไปหวังว่าเราจะไม่อยากเห็นสิ่งสวยๆ ไม่อยากได้ฟังเสียงเพราะๆ อันนั้นผิด เพราะว่ามีความเป็นเราเกิดขึ้น ซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก ว่าเราอยากจะมีแต่กุศล ไม่ให้มีอกุศลเลย

จะเห็นได้ว่า เรื่องของอกุศล โดยเฉพาะโลภะ เป็นสิ่งที่ละเอียดแล้วก็เห็นยาก เพราะว่าอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด พอเกิดมาเราก็พอรู้สึกตัวก็ติดข้องแล้ว เห็นแล้วก็อยากจะเห็น อย่างที่นี่ เราอยากจะกลับมาอีกไหม เพราะฉะนั้น เวลาที่เราได้ฟังธรรม ไม่ใช่ว่าเราจะหมดความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน ความพอใจ เป็นปกติทุกอย่าง แต่เราจะละความเห็นผิดซึ่งไม่เคยรู้จักธรรม แล้วก็ไม่เคยเข้าใจธรรมเลย เพราะฉะนั้น ธรรมโดยเฉพาะปัญญาที่เกิดขึ้น เขาก็จะมีกำลังทำหน้าที่เฉพาะระดับของปัญญานั้นๆ สำหรับคนที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล เต็มไปด้วยความต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็มีความเห็นผิด ไม่เห็นถูกในสภาพธรรมด้วย แต่สำหรับพระอริยบุคคล อย่างพระโสดาบัน ท่านเพียงแต่ละความเห็นผิด ความที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ แต่ท่านก็ยังมีความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามการสะสมของท่าน ตามระดับของปัญญาที่เป็นเพียงพระโสดาบันบุคคล ไม่ใช่พระอรหันต์ ไม่ใช่พระสกทาคามี ไม่ใช่พระอนาคามี เพราะเหตุว่าปัญญาต้องเจริญตามลำดับ แล้วก็ต้องละกิเลสตามลำดับ ถ้ายังมีความเห็นว่าเป็นเรา อย่างไรๆ ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อเรา แต่ถ้ามีความเป็นเราน้อยลง เราก็จะทำทุกสิ่งทุกอย่างตามการสะสม แล้วก็กุศลจิตของเราจะเกิดมากขึ้น เพราะรู้แจ้งตามความเป็นจริงว่า ทุกขณะไม่ใช่เรา มีปัจจัยก็เกิด แล้วใครอยากให้อกุศลเกิดมากๆ ในเมื่อรู้ว่า ถึงแม้ไม่ใช่เรา แต่เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อเป็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นเหตุ ก็ต้องนำผลที่ไม่ดีมาให้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรมก็จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนจากการไม่รู้อะไรเลย เป็นรู้ความจริง แล้วปัญญานั้นจะทำให้นำไปสู่ทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น มีใครชอบอกุศลบ้าง

ผู้ฟัง มันไม่ชอบ แต่มันรู้สึกได้อยู่เรื่อย

ท่านอาจารย์ เราไม่ชอบอกุศลอะไร

ผู้ฟัง เราไม่ชอบโทสะ เราไม่ชอบโง่ แต่ว่าเราชอบโลภะ

ท่านอาจารย์ เราก็ยังคงชอบอกุศลอยู่นั่นเอง แต่เอาแค่ความเห็นผิด เราอยากมีไหม เราชอบโลภะก็จริง แต่เราไม่ต้องการที่จะเห็นผิด เพราะฉะนั้น เราจึงศึกษาธรรมฟังธรรมเพื่อความเห็นถูก

ผู้ฟัง วันนี้พวกเรามาก็ได้รับอาหารดีๆ บรรยากาศดีๆ ทำให้หนูคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับว่า วิบากกับผลของกรรม

ท่านอาจารย์ การที่อาหารดีๆ อากาศดีๆ พอตื่นมาปุ๊บ วิบากหรือเปล่า เห็นก็เป็นวิบาก แต่เราจะไม่รู้เลย เราจะคิดถึงวิบากเวลาที่มีสิ่งซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำกับเรา ไม่ว่าทางดีหรือทางไม่ดี ทางบวกหรือทางลบก็ตาม เริ่มเห็นว่า ขณะนั้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็หมดปัญหาของคำถามที่ว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา เพราะต้องเป็นเราแน่นอน เพราะกรรมใครทำมา สิ่งนั้นก็เกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุ คือ กรรมนั้นๆ ที่ได้กระทำแล้ว

คุณกฤษณาต้องทำกุศลมาวันนี้ แน่นอน แต่เพียงแต่บอกไมได้เท่านั้นเองว่าเป็นผลของกรรมอะไร กุศลกรรมอะไร เพราะกรรมเป็นสิ่งที่ปกปิด ขณะที่เรากำลังสนทนาธรรมเป็นกุศล ทำไมเราถึงสนใจที่จะได้ยินได้ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา มีความเห็นถูกต้องขึ้น แต่เราไม่รู้ว่า ผลของกรรมอันนี้จะทำให้เกิดจิตซึ่งเป็นผลของกรรมซึ่งเป็นวิบากเมื่อไร ชาติไหน ในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อเป็นผลของกรรมที่เกิดพร้อมกับปัญญา ที่เรามีโอกาสได้ฟังเสียงซึ่งทำให้เราเข้าใจธรรม แสดงว่าในอดีตเราต้องเคยมีกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา ทำให้เรามีโอกาสได้ยินได้ฟังอีก ชาตินี้เป็นอย่างนี้เพราะอดีตกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาที่ได้กระทำแล้ว ผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะทำให้ข้างหน้าต่อไปก็มีโอกาสได้ยินได้ฟัง เสียงที่ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม

ผู้ฟัง เวลามาเรียนธรรมหรือมาสนทนาธรรม ก็บอกว่าไม่ต้องไปท่อง ไม่ต้องไป แบบว่าไม่ต้องไปอ่าน ไปอะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าการที่เราอยากจะเข้าใจ เลยทำให้เราไปพยายามอ่าน หรือทบทวนหรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็เป็นทางอกุศล ถูกไหม

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ถ้าพยายามที่จะเข้าใจ ไม่ใช่อกุศล แล้วควรทำด้วย แต่ไม่ใช่ไปท่อง โดยที่ไม่รู้อะไรเลย

ผู้ฟัง ไม่ได้ท่อง หมายถึงว่าก็ไปอ่าน ทบทวนอะไรอย่างนี้

ท่านอาจารย์ อย่างนั้นควร ถ้าคุณเจิดไปทำอะไร เพียรอย่างอื่น ขณะนั้นเป็นอกุศล แต่เพียรเข้าใจธรรมโดยการอ่าน โดยการฟัง ไม่ใช่อกุศล

ผู้ฟัง เข้าใจแล้ว ขอบคุณ

ท่านอาจารย์ เพราะว่ามีสภาพเจตสิก ๒ อย่าง ซึ่งคล้ายกันมาก ฉันทะกับโลภะ โลภะเป็นความติดข้อง ต้องการ อย่างลักษณะที่ติดข้อง แต่ว่าฉันทะ เป็นความพอใจที่จะกระทำ เพราะฉะนั้น จะเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ ถ้าเราไม่พอใจ ที่จะกระทำการฟังในขณะนี้ เราก็ไม่ฟัง ใช่ไหม

ผู้ฟัง จะเห็นว่าเรามีความอยาก

ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนกัน อยากติดข้อง หรือว่าอยากไม่ติดข้องโดยการฟังให้เข้าใจ การที่เราฟังเข้าใจเป็นเหตุที่จะทำให้ไม่ติดข้อง เพราะฉะนั้น มีอยากติดข้อง นั่นเป็นโลภะแต่ความพอใจที่จะกระทำกุศล ไม่ว่ากุศลใดๆ ก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่โลภะ แต่เป็นฉันทะ ซึ่งฉันทเจตสิก จะเกิดเป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้


หมายเลข  7141
ปรับปรุง  22 ธ.ค. 2567


วีดีโอแนะนำ