ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222


ตอนที่ ๒๒๒

สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

พ.ศ. ๒๕๔๕


ท่านอาจารย์ แต่ความพอใจที่จะกระทำกุศล ไม่ว่ากุศลใดๆ ก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่โลภะ แต่เป็นฉันทะ ซึ่งฉันทเจตสิกเขาจะเกิดทั้งกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้

ผู้ฟัง ในเวลากมลฟังเทปของท่านอาจารย์ กมลทำอะไรไม่ได้ต้องฟังอย่างเดียว คนอื่นเขาเปิด เขาฟัง ไปทำโน้น ทำนี่ กมลต้องตั้งใจนั่งฟัง ถ้าเกิดไปทำอะไร มันลืมไปเลย แล้วทำไมคนอื่นเขาฟังได้ แล้วทำไปด้วย

ท่านอาจารย์ อัธยาศัยของการสะสมไม่เหมือนกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้ในขณะนี้ก็ต้องมีความตั้งใจที่จะฟัง ถึงจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ถ้าในโอกาสที่เรามีความตั้งใจที่จะฟังจริงๆ อย่างบางทีคนพูดด้วยก็ไม่อยากให้เขามาพูดด้วย เพราะเรากำลังฟังอยู่ ขณะนั้นเราก็จะรู้ได้ว่า ทำให้เราพลาดโอกาสที่จะเข้าใจเมื่อมีสิ่งอื่นที่มาขัดขวาง เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ความตั้งใจสำคัญมากในการฟังธรรม เงี่ยโสตลงสดับ ในพระไตรปิฎก มีคำอุปมา ซึ่งเราคงจะไม่ชินที่ว่า หยอดน้ำมันราชสีห์ เราก็ไม่รู้จัก แต่พออุปมาอันนี้มาถึง หยอดน้ำมันราชสีห์ลงในหลอดแก้วเล็กๆ หมายความว่าต้องมีการระมัดระวัง ตั้งใจจริงๆ ถึงจะกระทำได้สำเร็จ การฟังธรรมก็เหมือนกัน เพราะว่าธรรมไม่ใช่เรื่องที่เราฟังสนุกๆ แต่เป็นเรื่องที่ฟังในขณะนี้ สภาพเจตสิกทั้งหลาย ทั้งศรัทธา ทั้งหิริ ทั้งโอตตัปปะ ทั้งสติ พวกนี้เกิดขึ้นพร้อมกับกุศลจิต แล้วทำกิจของสภาพธรรมนั้นๆ ก็เป็นการที่ว่า กว่ากุศลแต่ละขณะจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยโสภณเจตสิกมาก เรื่องของธรรม เรื่องของการฟัง ไม่ใช่กุศลระดับทาน ระดับทานจะทำอย่างไรก็ได้ ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ถือศีล การวิรัตทุจริต ก็ไม่ต้องประกอบด้วยปัญญา แต่การฟังธรรม ต้องใช้หรือว่าต้องมีการไตร่ตรอง การพิจาณาในขณะที่ฟัง จึงเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ก็ดี ถ้าเรารู้สึกตัวว่าเรากำลังตั้งใจฟังเพื่อเข้าใจ เราจะเข้าใจได้เต็มที่ แต่ถ้าเรามีภารกิจอื่นที่จะทำ ภารกิจนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า สำคัญมากน้อยแค่ไหน หรือเราจะต้องไปสนใจในสิ่งนั้นมากมาย หรือว่าไม่มากมาย เป็นสิ่งที่เราเคยชิน ทำไปด้วยฟังไปด้วยก็อาจจะได้ ก็เป็นการสะสมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อไปเมื่อได้เข้าใจแล้ว เราก็จะไม่ทำอะไรไปเฉยๆ แต่ทำไปแล้วก็เปิดไปด้วยก็ได้ ฟังไปด้วยก็ได้ เพิ่มขึ้น

ผู้ฟัง มีปัญหาว่า บางทีก็ตั้งใจฟัง แต่ฟังไปฟังมา ถึงแม้เราตั้งใจฟัง จิตก็ลอยไปคิดถึงเรื่องอื่น ก็ลืมฟังไป

ท่านอาจารย์ วันนี้ก็ได้ยินเรื่องราวของอนัตตา ตามการสะสมว่า บังคับบัญชาไม่ได้เลย จริงๆ แล้วลองคิดดู อะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้าเพียงนิดเดียว เราก็ไม่รู้ ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย แม้แต่ที่เรากำลังเห็น ก่อนเห็นจะเกิด เราก็ไม่รู้ว่า จะเห็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ ถ้าเกิดมีใครผงเข้าตานิดหนึ่ง ตาบอดไป เห็นก็ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น ทุกขณะข้างหน้ามืดสนิท ไม่มีใครมีญาณที่จะหยั่งรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่จะเกิด จึงเกิดตามเหตุตามปัจจัย จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ฉันใด ระดับใดก็ตามแต่ ก็คงมีเรื่องของคุณยุ ซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดอะไรจะเกิด รู้ล่วงหน้าไม่ได้ แต่เมื่อเกิดแล้วเมื่อไรเมื่อนั้นก็รู้

ขณะนี้ทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาที่จะเป็นอย่างนี้ทุกขณะ แสดงความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น บังคับบัญชาไม่ได้

ผู้ฟัง อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาว่า เป็นช่วงขณะไหน

ท่านอาจารย์ เวลาที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

ผู้ฟัง ทำไมถึงเรียกว่า เป็นอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

ท่านอาจารย์ เพราะสามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทุกระดับ

ผู้ฟัง แล้วตอนนั้นจะถือว่ามีศีลได้อย่างไร

ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ามีความรู้ถูกต้อง

ผู้ฟัง แต่ว่าศีลคือการวิรัติ ใช่ไหม ขณะนั้นเรายังไม่มีอะไรวิรัติเลย

ท่านอาจารย์ นั่นเป็นศีลหนึ่งในหลายๆ ศีล ศีลอื่นก็มี ศีลคือการไม่ก้าวล่วงทุจริต ขณะที่เป็นกุศล แม้แต่ขณะที่ให้ ขณะนั้นเป็นอะไร ไปทำทุจริตอะไรหรือเปล่า ขณะที่ให้ทาน ต้องไม่โกรธด้วย ใช่ไหม ต้องมีอโลภะ ต้องมีอโทสะ ไม่มีการเบียดเบียน กายวาจาขณะนั้นจะเป็นอกุศลไม่ได้

ผู้ฟัง ขณะที่ให้ทานถือว่าเป็นศีลด้วยหรือเปล่า

ท่านอาจารย์ เวลาใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น เป็นกุศลที่ไม่มีทุจริต แล้วแต่กุศลจะเป็นไปในเรื่องใด จะเป็นทาน หรือเป็นความสงบของจิต ก็ต้องเป็นการไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายคนอื่นอยู่แล้ว

ผู้ฟัง แต่ทำไมถึงได้แยกหัวข้อ ทานก็คือทาน ศีลก็คือศีล

ท่านอาจารย์ แสดงถึงขณะที่กุศลจิตเกิดเป็นไปในลักษณะใด

ผู้ฟัง แต่ว่าจริงๆ แล้วขณะที่ให้ทานก็มีศีลด้วย

ท่านอาจารย์ ศีลละเอียดกว่านั้นมาก แม้แต่ขณะที่นั่งเฉยๆ แต่สังวร หรือ เป็นอินทรียสังวร สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นศีล คนที่อบรมเจริญทั้งความสงบ ทั้งสติปัฏฐาน จะกล่าวว่าไม่มีศีลไม่ได้เลย

ผู้ฟัง ศีลแปลว่าปกติ เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเป็นได้ทั้งกุศล และอกุศล

ท่านอาจารย์ นั่นก็เป็นอีกนัยหนึ่ง แต่เวลาที่เราพูดถึงเรื่องของส่วนที่ดี เราจะเว้นอกุศลศีล ไม่กล่าวถึงตรงนั้น เพราะฉะนั้น ต้องเป็นความละเอียด อย่างหัวข้อเรื่องของ วิสุทธิมรรค จะไม่พูดถึงอกุศลศีลเลย เพราะเป็นหนทางที่จะทำให้วิสุทธิ

ผู้ฟัง ระยะนี้ได้ยินท่านอาจารย์กล่าวคำกล่าวที่ว่า รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร รู้อยู่อย่างนั้น ใช่ไหม ขอความกรุณาอธิบายตรงนี้

ท่านอาจารย์ ใช้ว่า “รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร” ก็ได้ เราเปลี่ยนคำพูดได้ แต่ความเข้าใจต้องเหมือนเดิม ขณะนี้รู้อยู่อย่างไร ขอถามคุณเข็ม เพราะถ้าเราจะพูดถึงเห็นอย่างเดียว ขณะนี้เห็นอยู่อย่างไรก็รู้อยู่อย่างนั้นหรือเปล่า ขณะนี้ทุกคนเห็น

ผู้ฟัง เห็นอยู่อย่างไร แต่ยังไม่รู้อยู่อย่างนั้น

ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า ต้องมีมากกว่านั้น คือปัญญา สามารถที่จะเห็นถูกต้องว่า ขณะนี้เห็นอย่างนี้แหละ แล้วปัญญารู้อย่างไรในเห็นที่กำลังเห็น ขณะนี้ มีเห็น ถ้าไม่มีปัญญาก็เห็น แต่ไม่มีรู้ ก็แค่เห็น แต่ถ้าเห็นอย่างนี้ ปกติอย่างนี้ แล้วรู้ คือรู้ความจริงของเห็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร เราก็อาจจะเปลี่ยนเป็น “รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร ในสิ่งที่กำลังรู้” เพราะว่าทางตากำลังเห็น รู้ความจริงของเห็นอยู่อย่างไร หรือไม่รู้เลย กำลังได้ยินมีจริงๆ เรายังไม่ต้องย้ายไปแต่ละทวาร ใช้คำเดียวก็ได้ รู้ทางหู คือ ได้ยินอยู่อย่างไร แล้วก็รู้ความจริงคือเห็นถูกต้องอย่างไรในขณะที่ได้ยิน เราจะรู้อะไร ถ้าไม่รู้เห็น รู้ได้ยิน รู้ได้กลิ่น รู้ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบกาย รู้คิดนึกที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะรู้อะไรก็ตาม แต่ความเห็นถูกในสิ่งนั้น เห็นว่าอย่างไรในสิ่งที่ปรากฏ

ผู้ฟัง เห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้น

ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม จึงจะไม่มีเรา เพราะจริงๆ แล้ว เราก็เริ่มต้นถูกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครซึ่งสามารถบันดาลให้เกิดได้เลย อย่างแข็งที่กำลังปรากฏ เราไม่เคยคิด ทำไมมีแข็ง ถ้าเป็นร้อนหรือเย็น ทำไมมีร้อน ทำไมมีเย็น ถึงมีร้อนมีเย็น ทำไมถึงปรากฏ ถ้าไม่มีกายปสาทเป็นรูปที่สามารถกระทบ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็ปรากฏไม่ได้เลย เพราะว่าเย็นหรือร้อนอ่อนหรือแข็งที่โต๊ะ กระทบโต๊ะ โต๊ะไม่รู้ โต๊ะไม่มีปสาทรูปที่จะรับกระทบเป็นปัจจัยให้มีจิตที่รู้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็แสดงให้เห็นว่า มีสิ่งที่ปรากฏโดยที่ไม่เคยรู้ความจริงเลย เพราะฉะนั้น รู้ก็คือเห็นอยู่อย่างไร รู้อยู่อย่างไรในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ผู้ฟัง ผมเคยแนะนำลูกหลานว่า ให้พยายามเอาใจใส่ปฏิบัติวิปัสสนา เครื่องหลุดพ้นจากกิเลส ดีกว่าปฏิบัติสมถะ มันสมควรไหม

ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าวิปัสสนาคืออะไร ถ้าบอกลูกหลานให้สนใจเจริญวิปัสสนา ลูกหลานก็จะถามว่า วิปัสสนาคืออะไรก่อน

เพราะฉะนั้น วิปัสสนาคือความรู้แจ้งเห็นจริง หรือที่ใช้ว่า ปัญญา รู้ เห็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ต้องมีความเข้าใจถูกตามลำดับ มิฉะนั้นวิปัสสนาก็จะเป็นชื่อ แล้วถึงแม้ว่า จะรู้ว่าเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจเห็นถูกต้องสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าสภาพธรรมในขณะนี้เป็นอะไร เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจอย่างมั่นคง ในเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นธรรม นี่สำคัญที่สุด เป็นธรรมก็คือว่าไม่ใช่เรา ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ ทุกอย่างที่มีจริงเกิดขึ้นจึงปรากฏว่ามี เมื่อดับไปแล้วก็ไม่มี เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่มีจริง คือจริงเมื่อปรากฏ เพราะเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

ผู้ฟัง ธรรมนี้ ผมเข้าใจ แต่ผมแนะนำเขาไปแนวนี้ แนะนำเข้าหาพระธรรมเป็นที่พึ่ง คือปริยัติธรรม เมื่อเรียนแล้วให้เข้าใจ ถ้าไม่เรียนแล้ว ไม่เข้าใจ เรียนให้เข้าใจแล้วปฏิบัติ อันนี้มันถูกต้องไหม

ท่านอาจารย์ คงจะต้องเข้าใจความหมายของทุกคำที่เราใช้ ปฏิปัตติ คำนี้เป็นภาษาบาลี ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่าถึง ถ้าแปลเป็นภาษาไทยว่า ถึงเฉพาะ ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรมจนกระทั่งเข้าใจ ก็ไม่ทราบว่าถึงอะไร เฉพาะอะไร ขณะนี้มีสภาพธรรมทางตากำลังเห็น เป็นธรรมอย่างหนึ่ง สภาพธรรมทางหูที่ได้ยิน ก็มีจริงๆ อย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น อะไรจะถึง ไม่ใช่ตัวเราพยายามไปถึง แต่ต้องเป็นลักษณะของสติสัมปชัญญะที่กำลังถึงลักษณะ คือ ไม่คิดเรื่องของสิ่งที่มีจริงเป็นคำ เป็นเรื่องราว แต่ว่าอาศัยการที่ฟังเรื่องราวของสภาพธรรมมานาน ก็มีการที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่สติถึงเมื่อมีการระลึกได้ ก็รู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง เป็นการศึกษาสภาพธรรมตัวจริง ไม่ใช่แต่เรื่องราวของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าขณะนี้ที่เราพูดถึงสภาพธรรม ขณะนี้ก็มี ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย พูดถึงสภาพธรรมขณะไหนก็เตือนให้รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ

การที่จะรู้ว่าเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ต่อเมื่อมีสติอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม แต่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถึงลักษณะนั้นทีละอย่าง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าจะเป็นความรู้ชัดเมื่อไร ก็เป็นวิปัสสนาเมื่อนั้น

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีใครสามารถที่จะทำให้มีการรู้ชัดหรือวิปัสสนาเกิดขึ้น โดยที่ไม่ได้อบรม แต่ต้องมีการอบรมตั้งแต่ขั้นฟังเข้าใจ แล้วก็รู้ลักษณะที่ต่างกันของขณะที่สติเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ เพราะว่าในพระไตรปิฎกจะแสดงถึงชีวิตประจำวันว่า ทั่วไปโดยมากก็เป็นขณะที่หลงลืมสติ ฟังเรื่องธรรมจริง ธรรมกำลังเกิดดับจริง แต่ไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ไม่ถึงเฉพาะลักษณะนั้นที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า เพียงแต่ว่ากำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น จนกว่าเมื่อฟังกำลังฟังในขณะนี้ หรือขณะไหนก็ตามที่เป็นปกติ แล้วสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเฉพาะหน้า คือ ขณะนั้นจริงๆ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้น จึงรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมที่ยาวนานมาก ถ้ามีแต่ปริยัติธรรม โดยที่สติสัมปชัญญะไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะเฉพาะอย่างๆ ที่กำลังมีในขณะนี้ ก็เป็นเพียงความเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ยังไม่ถึงตัวจริง คือ ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ยังไม่ถึงภาวะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ระลึกที่ลักษณะนั้น เพราะฉะนั้น จึงมีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติก็เป็นเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดปฏิบัติ แล้วเมื่อปฏิบัติแล้วก็เป็นเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดปฏิเวธ คือ การประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมนั้น

ผู้ฟัง ผมแนะนำให้เล่าเรียนให้เข้าใจ เห็นผู้อื่นปฏิบัติอย่างไรแล้ว ปฏิบัติตามเขา เท่าที่ตัวเองไม่เข้าใจนี้ อยากให้เรียนเข้าไปให้เข้าใจ อย่าปฏิบัติไปตามเขา เขาเข้าใจเขาปฏิบัติ เราไม่เข้าใจ ปฏิบัติตามเขา ปฏิบัติตามความเข้าใจของเรา แต่เราเห็นแจ้งในสภาวธรรม อย่างนี้ถูกต้องไหม

ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ประโยชน์ของการฟัง คือเกิดปัญญาความเข้าใจของเราเอง ถ้ามิฉะนั้นก็เป็นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงพระธรรม แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญาของเราเอง ก็ยังไม่ได้ประโยชน์จากการศึกษา

ผู้ฟัง เรื่องรูปธรรมนามธรรม เพราะว่าตัวจริงแล้ว ตลอดไปทุกทีเลย จะต้องมีตัวตน เพราะว่ารู้สึกมีพวกน้องๆ มา ก็เป็นหน้าใหม่ ก็คงจะไม่เข้าเรื่องเท่าไร ท่านอาจารย์สงเคราะห์ ช่วยอธิบาย

ท่านอาจารย์ ถ้าจะเป็นการทบทวนโดยขอซัก แทรกคงจะได้ ว่าเวลาที่เห็น ทำไมถึงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม และเห็นเป็นธรรม

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงทุกขณะ พอพูดถึงอะไร ผู้ฟังต้องคิดถึงสิ่งที่กำลังพูด เช่นพูดเรื่องเห็น ขณะนี้มีเห็นจริงๆ แต่ว่าการที่เราจะได้ฟังเพียงผิวเผินว่า เห็นเป็นธรรม แล้วก็สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม เราก็จะได้ยินอย่างนี้ อีก ๕ วัน ๖ วัน เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง เราก็อาจจะพูดตามว่า เห็นเป็นธรรม แล้วก็สิ่งที่ปรากฏก็เป็นธรรม ก็น่าจะถาม ซักแทนผู้อื่นว่าทำไมสิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม แล้วทำไมว่าเห็นเป็นธรรม

ผู้ฟัง อย่างเช่นสิ่งที่ปรากฏทางตา เวลาเกิดขึ้นก็เพียงสิ่งที่กระทบทางตาเท่านั้น เวลาเขาปรากฏให้เรารู้ ก็ไม่มีสิ่งอื่นสิ่งใดเลย นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เช่น เวลาในขณะนี้ มีเห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็มีกันทุกคน นั่นคือเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นธรรม เป็นลักษณะของสภาพธรรม การเห็นก็เหมือนกัน ถ้าจะมีสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ก็ต้องมีสิ่งที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นปรากฏทางตาเช่นเดียวกัน เพราะว่าการที่จะรู้อารมณ์ทางตาได้ ต้องมีธรรมหลายอย่างมาประกอบรวมกัน คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา และมีตาด้วย เพราะฉะนั้น เราก็เห็นได้ ถ้าไม่มีตา คนตาบอดก็ไม่สามารถที่จะเห็นได้ หรือว่าคนที่กำลังนอนหลับอยู่ ไม่มีจิตเห็นเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะเห็นได้ หรือถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่สามารถที่จะเห็นได้ เพราะฉะนั้น สภาพที่ปรากฏทางตานี้จะปรากฏได้ก็ต้องมีเหตุมีปัจจัยจึงจะเกิดขึ้น สภาพที่รู้สภาพที่เห็นก็เป็นสภาพนามธรรม รู้สิ่งที่เห็นนั้นเท่านั้น

ท่านอาจารย์ ขอฟังความเห็นของคุณอรรณพด้วย เพราะว่าเป็นการสนทนาธรรมก็ควรที่จะได้ฟังความเห็นจากหลายๆ ท่านด้วย

อรรณพ อะไรเป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีสภาพ มีลักษณะจริงๆ ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่มีจริงนั้นคือธรรม เห็นในขณะนี้ ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน ก็มีเห็น ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนลาว ไม่มีเลย ชนชาติต่างๆ แต่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส แล้วก็ความคิดนึก เป็นสภาพที่มีจริง เพราะฉะนั้น สภาพธรรมยังไม่ต้องจำแนกว่าเป็นนามธรรม รูปธรรม ก็ต้องเข้าใจคำว่าธรรม คือ สภาพที่มีลักษณะ มีสภาวะจริง เบื้องต้นแค่นี้

ท่านอาจารย์ พอพูดถึงคำว่า “ธรรม” แล้วก็เบื่อหน่าย เบื่อหน่ายอย่างไร เบื่อหน่ายที่จะฟังธรรม หรือว่าฟังแล้วก็รู้ว่า ธรรมยากที่จะเข้าใจได้ เช่น ขณะนี้มีธรรม ฟังแค่นี้ ถ้ายังไม่รู้จริงๆ ว่า ธรรมหมายความถึงสภาพที่เกิดขึ้นปรากฏ แต่ไม่ใช่เรา ก็คงจะเพียงกล่าวตามว่า ขณะนี้มีธรรม แต่ถ้าพูดถึงว่า ขณะนี้มีเห็นไหม ตอบได้ว่า มี แต่ที่จะรู้ว่าเห็นเป็นธรรม จะยากหรือจะง่าย ถ้าพูดตาม ไม่ยากเลย แค่พูดว่า เห็นก็เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม ถ้าพูดอย่างนี้ก็จบเลย ทั้ง ๖ ทวาร ๕ ทวาร แต่ว่าจริงๆ แล้วเราเพียงได้ยินชื่อ แล้วประการหนึ่งก็คือเริ่มเพียงเข้าใจ เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก บางคนก็บอกว่าไม่เห็นมีอะไร พูดอย่างนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส พูดอย่างนี้ ฟังอย่างนี้ ๑๐ ปี หรือว่า ๒๐ ปี แต่ว่าการไตร่ตรองให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้วที่เราพูดว่า ธรรม เราพูดตามที่ได้ฟัง หรือว่าพูดเพราะค่อยๆ ชินกับลักษณะของธรรม จนกระทั่งเราสามารถจะเข้าใจได้ว่า ลักษณะของธรรมมี ๒ อย่างที่ต่างกัน ฟังว่ามี ๒ อย่างที่ต่างกัน แต่เพียงฟังเข้าใจแล้วก็จำ แต่ที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ก็ต้องเป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งในพระไตรปิฎกใช้คำว่า มีสติกับหลงลืมสติ

เราอาจจะมีความเบื่ออย่างอื่น แต่เบื่อธรรมยังไม่ได้ จนกว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ตรงตามพระไตรปิฎกที่กล่าวว่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้ายังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นแล้วดับไปจริงๆ เบื่อไม่ได้ เบื่อในลักษณะของธรรมไม่ได้ แต่เบื่ออย่างอื่นได้ แต่ถ้าเบื่อในลักษณะของธรรม หมายความว่า ต้องเป็นปัญญาที่เห็นแจ้งแล้วก็หน่าย เพราะว่าเคยพอใจ เคยยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏมานานแสนนาน แต่ไม่รู้เลยว่า สิ่งที่พอใจแท้ที่จริงก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่างรวดเร็วตลอดเวลา ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้งอย่างนี้จะหน่าย คลายความติดข้องความต้องการในธรรมไม่ได้เลย ต้องเป็นการอบรมขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เริ่มจากการฟัง ได้ยินคำว่า “ธรรม” ก่อน แล้วก็อย่าเพิ่งทิ้งไป เวลาที่มีการระลึกได้ แม้ว่าจะระลึกเป็นความคิดก็เป็นปัญญาระดับที่ไตร่ตรองคำที่ได้ยิน แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าลักษณะของธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง

ในขณะนี้พอนึกขึ้นได้ว่า เห็นมีจริงๆ ขณะนี้ที่กำลังเห็นมีจริง ก็เป็นการที่จะค่อยๆ พิจารณาว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงนั้น เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ไม่เรียกชื่อได้ไหม กำลังเห็น รู้ว่าเห็น จริง ไม่ต้องเรียกชื่อว่าเป็นธรรม แต่เห็นก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งจริงทางตา ไม่ใช่จริงทางหู พอถึงได้ยิน ไม่ต้องเรียกชื่ออีก ก็มีเสียง แล้วก็มีสภาพที่รู้เสียง เพราะฉะนั้น ทางหูก็มีจริง คือ เสียงกับกำลังที่ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ เข้าใจตัวธรรม ไม่ใช่โดยชื่อแต่ก็รู้ว่าวันหนึ่งๆ ที่จะคิดถึงธรรม จะเป็นชั่วขณะที่ฟัง เช่น ในขณะนี้กำลังฟังธรรม กำลังได้ยิน กำลังพิจารณา พอออกจากห้องนี้ไปคิดถึงอะไร ธรรมที่ได้ยินได้ฟังยังตามไปให้คิดหรือเปล่า ยังตามให้ไปพิจารณาหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงฟัง แต่เมื่อฟังแล้วก็จะเป็นปัจจัยให้มีการนึกได้ว่า เป็นธรรม เพราะว่าความคิดของเราน่าอัศจรรย์ เราช่างคิด แต่คิดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้คิดเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ เลยสักขณะเดียว


หมายเลข  7157
ปรับปรุง  31 ธ.ค. 2567


วีดีโอแนะนำ