ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าโดยปรมัตถ์ ของรูปขันธ์ จัดเป็น รูปขันธ์ในขันธ์๕ หรือไม่?
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจถึงความหมายของขันธ์ ก่อนว่า หมายถึง อะไร?
ขันธ์ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ขันธ์ ทั้งหมด มี ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ (รูปทั้งหมด) เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) สัญญาขันธ์ (ความจำ) สังขารขันธ์ (ได้แก่เจตสิก ๕๐ มี ผัสสะ เจตนา เป็นต้น) และวิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิตทั้งหมด ดังนั้น ขันธ์ มี ๕ ไม่ขาด และไม่เกิน
เมื่อกล่าวถึงรูปขันธ์แล้ว ย่อมหมายถึงรูปธรรมทั้งหมด มี ๒๘ รูป ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ กล่าวคือ เป็นธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ซึ่ง คำถามที่ว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นรูปขันธ์ในขันธ์ ๕ หรือไม่ ในความเป็นจริง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่สมติบัญญัติเรียกขึ้นมา ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงแน่นอน นั่นคือ รูปธรรม ที่เป็นธาตุดิน ซึ่งเป็นหนึ่งใน รูป ๒๘ รูป จึงจัดเป็นรูปขันธ์ด้วย ครับ ดังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็น ธาตุดิน คือ ปฐวีธาตุ ดังนี้ ครับ
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๐๐
ปฐวีธาตุมี ๒ อย่าง คือ ปฐวีธาตุภายใน ปฐวีธาตุภายนอก. ในปฐวีธาตุ ๒ อย่างนั้น ปฐวีธาตุภายใน เป็นไฉน?
ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือ ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะทีแข็ง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุภายใน.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เมื่อศึกษาเรื่องรูป ก็เพื่อเข้าใจตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในรูปธรรม ไม่ได้เลย เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ครับ
...ขออนุโมทนา ครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อกล่าวถึง ขันธ์ แล้ว ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้ ความเป็นจริงของธรรม ไม่เปลียนแปลง เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ขันธ์ ๕ ก็คือ สภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม (จิต และ เจตสิก) และรูป ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ไม่เที่ยง มีความดับไป เป็นธรรมที่กล่าวว่าเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นั้น ก็เพราะมีการเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม ถ้าไม่เกิดขึ้น จะไม่มีการหมายรู้ได้เลยว่านี้เป็นผม นี่เป็นขน เล็บ เป็นต้นแต่เกิดแล้ว ก็ไม่รู้อะไรเลย ก็เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้
การฟัง การศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มีจริง กำลังปรากฏ ซึ่งมีให้ศึกษาอยู่ทุกขณะจริงๆ การที่จะรู้ธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ต้องมีความรู้ตั้งแต่ขั้นต้น คือ เริ่มจากการฟังธรรม ซึ่งก็คือฟังในสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรม และ รูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟัง ค่อยๆ เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
มีท่านผู้รู้ได้อธิบายเรื่องความเป็นขันธ์ ไว้ว่า ที่ที่เป็นที่อาศัยเกิดของจิต หรือจิตไปเกิดขึ้นได้ เรียกว่า ขันธ์ (นัยหนึ่งนั้น คือขันธ์ต้องเกี่ยวข้องกับวิญญาณครองด้วย) เช่น ต้นไม้ ไม่นับเป็น รูปขันธ์ เพราะไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานที่เกิดจาก กัมมชรูป และจิตชรูป มีแค่อาหารและอุตุเป็นสมุฏฐานเท่านั้น.
เล็บ ไม่ใช่รูปปรมัตถ์
สมมติเรียกว่า เล็บ ถ้าไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ไม่มีเล็บ มีรูปประชุมกันตรงนั้นธาตุดิน
อ่อน แข็ง ที่ปรากฏ ลักษณะของปรมัตถ์มีอยู่จริง แต่เล็บไม่มี เพียงสมมติบัญญัติค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
อืม… ไม่ทราบว่าความคิดเห็นที่5 6 7 8 หายไปไหนหรือครับ?
แล้วแสดงความคิดเห็นผิดถูกเช่นไรจึงหายไปจากกระทู้นี้ได้ครับ? ท่านผู้ใดมีความคิดเห็น หรือข้อมูลในนัย อรรถะ พร้อมหลักฐานที่มาที่ไป มาแสดงเพิ่มเติมได้นะครับ เพื่อความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไปในพรัะธรรมครับ.
ขอเชิญทุกท่านร่วมสนทนา
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
เรียนความเห็นที่ 5 และ 10 ครับ
เล็บ เป็นสิ่งที่สมมติบัญญัติขึ้นจากสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม คือ ธาตุดินภายใน ตาม พระไตรปิฎกที่ว่า
[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๐๐
ปฐวีธาตุมี ๒ อย่าง คือ ปฐวีธาตุภายใน ปฐวีธาตุภายนอก. ในปฐวีธาตุ ๒ อย่างนั้น ปฐวีธาตุภายใน เป็นไฉน?
ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือ ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะทีแข็ง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุภายใน.