พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒
ข้อความบางตอนจากเตมียชาดก
[๔๓๘] สัตวโลกถูกอะไรครอบงำไว้ และถูกอะไรห้อมล้อมไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเป็นไปอยู่ ดีฉันถามแล้ว พ่อจงบอกข้อนั้นแก่ดีฉัน.
[๔๓๙] สัตว์โลกถูกความตายครอบงำไว้ ถูก ความแก่ห้อมล้อมไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คือ คืนวันเป็นไปอยู่ มหาบพิตรจงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอ ก็ยังเหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่กลับไปสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไป ฉันนั้น.
ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน เราก็เป็นทาสของตัณหา ได้แก่ กามคุณ ๕ เท่าไหนก็ไม่รู้จักพอ ถ้าไม่อาศัยการอบรมปัญญา (สติปัฏฐาน) ก็ไม่มีทางออกจากวัฏฏะได้
เหตุที่ท่านรัฐปาละออกบวช มี ๔ ข้อ คือ
1. โลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน
2. โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน
3. โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
4. โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา
ข้อความบางตอนซึ่งท่านรัฐปาละกล่าวไว้ครับ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 45
ความจริง กามทั้งหลายวิจิตร รสอร่อยเป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิต ด้วยรูปมีประการต่างๆ มหาบพิตร อาตมภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นจงบวชเสีย ผลไม้ทั้งหลายยังไม่หล่นทีเดียวมาณพทั้งหลาย ทั้งหนุ่มทั้งแก่ ย่อมมีสรีระทำลายได้ มหาบพิตร อาตมภาพรู้เหตุนี้จึงบวช ความเป็นสมณะเป็นข้อปฏิบัติอันไม่ผิด เป็นคุณประเสริฐแท้ดังนี้แล.
ขออนุโมทนาครับ
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 6
วันและคืนล่วงไป ชีวิตใกล้ดับเข้าไป อายุของ สัตว์ทั้งหลาย (ค่อย) สิ้นไป ดังนี้ แห่งลำน้ำน้อย (ค่อย) แห้งไปฉะนั้น ภัยแต่ความตาย ย่อมมีเป็นเที่ยงแท้ แก่สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมาแล้ว ดุจภัยแต่ความหล่นในเวลาเช้า ย่อมมีแก่ผลไม้ทั้งหลายที่สุกแล้ว ฉะนั้น เหมือนอย่างภาชนะดินที่ช่างหม้อทำขึ้นแล้ว ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ล้วนมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น น้ำค้างที่ยอดหญ้า เพราะดวงอาทิตย์ขึ้นมา ก็เหือดไปฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น
ขอนอบน้อมแด่พระัรัตนตรัย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้าที่ 273
ข้อความบางตอนจาก
อโยฆรชาดก ว่าด้วยอำนาจของมัจจุราช
[๒๒๖๑] (อโยฆรกุมารตรัสว่า) สัตว์ถือปฏิสนธิ กลางคืนก็ตาม กลางวันก็ตาม ย่อมอยู่ในครรภ์มารดาก่อน สัตว์นั้นย่อมเกิดเพราะกำลังลม ย่อมไปสู่ความเป็นกลละ เป็นต้น ย่อมไม่ย้อนกลับมาสู่ความเป็นกลละเป็นต้นอีก.
[๒๒๖๒] นรชนทั้งหลาย จะยกพลโยธายุทธนาการกับชรา พยาธิ มรณะไม่ได้เลยเป็นอันขาด เพราะว่าชีวิตของสัตว์ทั้งมวลนี้ ถูกความเกิดและความ แก่เข้าไปประทุษร้ายเบียดเบียน เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม.
[๒๒๖๓] พระราชา ผู้เป็นอธิบดี ในรัฐทั้งหลาย ย่อมจะข่มขี่ราชศัตรู ผู้มีเสนาอันประกอบด้วยองค์ ๔ ล้วนมีรูปร่างน่าสะพรึงกลัว เอาชัยชนะได้ แต่ไม่สามารถจะชนะเสนาแห่งมัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม.
[๒๒๗๐] ผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมหล่นล่วง ฉันใด สัตว์ทั้งหลาย ทั้งหนุ่มแก่ ทั้งปานกลาง ทั้งหญิงทั้งชาย ย่อมเป็นผู้มีสรีระทำลายหล่นไป ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม.
[๒๒๗๑] พระจันทร์ อันเป็นดาราแห่งดวงดาวเป็นฉันใด วัยนี้หาเป็นฉันนั้นไม่ เพราะส่วนใดล่วงไปแล้ว ส่วนนั้นเป็นอันล่วงไปแล้วในบัดนี้ อนึ่ง ความยินดีในกามคุณของคนแก่ชราแล้วย่อมไม่มี ความสุขจะมีมาแต่ไหน เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม.
[๒๒๗๒] ยักษ์ก็ดี ปีศาจก็ดี หรือเปรตก็ดี โกรธเคืองแล้วย่อมเข้าสิงมนุษย์ได้ แต่ไม่สามารถจะเข้าสิงมัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
สาธุ อนุโมทนา และ ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ