การประเคนมีประวัติความเป็นมาอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ประเคน คือ อะไร? ประเคน คือ มอบถวายแก่พระภิกษุ
ประวัติความเป็นมาของการประเคน คือ พระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้มีปกติประพฤติถือเอาทุกอย่างเหมือนผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) คือ ไม่มีความประสงค์ที่จะรับอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านถวาย มีแต่แสวงหาอาหารเครื่องเซ่นเจ้าที่ชาวบ้านเอาไปวางไว้ที่ป่าช้าบ้าง ที่โคนต้นไม้ บ้าง ที่ธรณีประตูบ้าง มาฉันเอง เหมือนกับการแสวงหาผ้าบังสุกุล ชาวบ้านเห็นเข้า ก็กล่าวติเตียน
พระภิกษุทั้งหลายได้ยินคำติเตียนนั้น จึงกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ พระองค์ทรงตรัสถามความประพฤติเป็นไปดังกล่าวนั้น กับภิกษุรูปนั้น ทรงติเตียนว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสแห่งชนผู้ยังไม่เลื่อมใส เป็นต้น จึงทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทว่า ภิกษุใด กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ล่วงช่องปาก เป็นปาจิตตีย์ [ต่อมาทรงบัญญัติเพิ่มเติม ว่า ภิกษุใด กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ล่วงช่องปาก เป็นปาจิตตีย์ ยกเว้นน้ำ และไม้สีฟัน] นี้คือ ประวัติความเป็นมาของการบัญบัติสกขาบทไม่ให้พระภิกษุฉันอาหารที่ยังไม่ได้รับประเคนจากชาวบ้าน
สิกขาบทดังกล่าวนี้ เป็นสิกขาบทที่เป็นไปเพื่อการขัดเกลา เพื่อสำรวมระวังให้ไม่เป็นผู้หยิบฉวยของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องได้รับจากมือของผู้อื่นซึ่งเป็นผู้มอบให้ ซึ่งก็คือ การประเคน
สำหรับคฤหัสถ์ถ้าได้เข้าใจถึงการประเคนอย่างถูกต้อง ย่อมเป็นการดีสำหรับคฤหัสถ์ผู้ถวายที่จะกระทำการประเคนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการได้ศึกษาพระวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้องนั่นเอง ลักษณะของการประเคน ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ โดยสรุปจาก [เล่มที่ 4] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ 562 ดังนี้
- เป็นวัตถุสิ่งของที่บุรุษผู้มีกำลังปานกลางพอจะยกได้
- หัตถบาสปรากฏ คือ เขาอยู่ในหัตถบาส (บ่วงมือ) ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ อันแสดงถึงการให้ที่ถูกต้อง คือนับจากด้านหลังของพระภิกษุและด้านหน้าของผู้ประเคน ประมาณ ๒ ศอกกับอีกหนึ่งคืบ ทั้งผู้ให้และผู้รับต้องอยู่ในหัตถบาส
- เขาน้อมเข้ามาถวาย
- มีบุคคลผู้ถวาย
- พระภิกษุรับประเคนสิ่งของนั้น ด้วยกาย หรือ ด้วยของที่เนื่องด้วยกาย การประเคน ย่อมใช้ได้ ด้วยองค์ ๕ ประการ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ประเด็นที่จะได้ศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม คือ
๑. การนำภาชนะมาต่อกันแล้วยกประเคนเพียงชามเดียวได้หรือไม่
คำตอบ คือ ไม่ได้ การประเคนอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ต้องยกถวายทีละชาม แต่ถ้าวางอาหารหลายๆ ชามลงในถาด แล้วยกถวายทั้งถาด อย่างนี้ถูกต้อง
๒. ถ้าถวายอาหารที่อยู่บนโต๊ะจีน ด้วยการประเคนทั้งโต๊ะเลย ได้หรือไม่
คำตอบ คือ ไม่ได้ การกระทำอย่างนี้ ไม่ถูกต้อง เพราะโต๊ะจีนที่เต็มไปด้วยอาหาร ไม่ใช่สิ่งของที่บุรุษผู้มีกำลังปานกลางพอจะยกได้
๓. ถ้าถวายอาหารให้กับพระภิกษุรูปหนึ่ง แล้วพระภิกษุรูปนั้น ยกอาหารส่งต่อให้พระภิกษุรูปต่อๆ ไป ได้หรือไม่
คำตอบ คือ ได้ เพราะมีการประเคนอย่างถูกต้องแล้ว ไม่ได้มีการหยิบฉวยโดยไม่ได้มีผู้ถวาย มีพระภิกษุผู้รับประเคนเพียงรูปเดียว ก็สามารถแบ่งให้รูปอื่นๆ ฉันได้จะฉันกี่รูปก็ได้
๔. เมื่อประเคนอาหารแก่พระภิกษุแล้ว คฤหัสถ์ เข้าไปจัดให้เรียบร้อย จะขาดการประเคนหรือไม่ เพราะหลายคนเข้าใจว่าเมื่อประเคนของแก่พระภิกษุแล้ว คฤหัสถ์จะจับต้องไม่ได้
คำตอบ คือ ไม่ขาดการประเคน เพราะการประเคนได้ประเคนตั้งแต่ตอนแรกแล้ว.
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
ต้นเหตุของการบัญญัติเรื่องการประเคน [โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๑๐]
ขอถามเรื่องการประเคนของพระครับ
... อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
พระภิกษุผลิตของฉัน (ของกิน) ของใช้ ด้วยตนเองไม่ได้ จึงต้องอาศัยของที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้ การประเคน เป็นการแสดงเจตนาในการให้ของสิ่งนั้นด้วยความสมัครใจ เพราะฉะนั้นก็ต้องไม่ลืมพิจารณาในแง่เจตนานี้ด้วยในกรณีที่เกิดมีปัญหาว่าไม่มีคนที่จะหยิบยกยื่นให้ทั้งๆ ที่ของนั้นเจ้าของแสดงเจตนามอบให้แน่ๆ อยู่แล้ว
อีกนัยหนึ่ง การที่ต้องมีผู้หยิบยกยื่นให้ ก็เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ ในกรณีที่สมมติว่ามีผู้กล่าวหาว่าพระภิกษุรูปนั้นฉันหรือใช้ของสิ่งนั้นโดยพลการ จะได้อ้างผู้ประเคนเป็นพยานได้ว่า ไม่ได้ทำโดยพลการ แต่มีผู้หยิบยกยื่นให้ก่อนแล้ว
ขออนุญาตเสริม เพื่อจะได้มองให้กว้างๆ ออกไปครับ
ขออนุโมทนาขอบคุณครับที่ชี้แนะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
สาธุค่ะ
ขออนุโมทนาครับ