ถ้าเราไม่ต้องอ่านมากศึกษามาก แต่ไปทำสมาธิให้จิตตั้งมั่น ก็จะรู้ธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงใช่หรือไม่ครับ โดยมีพระสูตรที่กล่าวอ้างคือ อัปปสุตสูตร ก็บุคคลผู้มีสุตะน้อยเข้าถึงด้วย สุตะอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ มีสุตะ คือ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ น้อย เขาย่อมรู้อรรถรู้ธรรมแห่งสุตะน้อยนั้น แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลผู้มีสุตะน้อยเข้าถึงด้วยสุตะอย่างนี้แล พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
ชีวกัมพวนสูตรที่ ๑
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ชีวกัมพวันใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ เพราะเมื่อภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว สิ่งทั้งปวง ย่อมปรากฏตามความเป็นจริง ก็อะไรเล่าปรากฏตามความเป็นจริง คือ จักษุย่อม ปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง รูปย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง จักษุวิญญาณย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง จักษุสัมผัสย่อมปรากฏตาม ความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง ฯลฯ ใจย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง ธรรมารมณ์ย่อมปรากฏตาม ความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง มโนวิญญาณย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง มโนสัมผัสย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ย่อมปรากฏตามความ เป็นจริงว่า ไม่เที่ยง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ เพราะเมื่อ ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว สิ่งทั้งปวงย่อมปรากฏตามความเป็นจริง ฯ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถ้าไม่ละเอียด ไม่ศึกษาด้วยความเคารพ ก็เป็นการประมาทพระธรรม ทำให้เข้าใจพระธรรม ผิด คลาดเคลื่อนไป ซึ่งมีแต่โทษเท่านั้น เพราะการที่ปัญญาจะเกิดขึ้น เจริญขึ้น จะต้องได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา บุคคลผู้ที่ท่านสามารถตรัสรู้ได้เร็ว หรือ มีความเข้าใจได้เร็ว ในชาตินั้น แม้จะได้ฟังไม่มาก เพราะอะไร? เพราะท่านได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก มามากแล้ว นั่นเอง และ ไม่ใช่ว่าท่านจะไม่ฟังอีก ท่านย่อมฟังอีก ศึกษาต่อไปอีก ตามความเป็นจริงของบุคคลผู้เป็นบัณฑิต คือ ย่อมไม่อิ่มในการฟังพระธรรม
อีกประการหนึ่ง ที่สำคัญยิ่ง คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องของอนัตตา ทั้งหมด เพราะแสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าศึกษาไม่ดี คิดธรรมเอง ก็เข้าใจผิด ไปมีตัวตนที่จะทำ ที่จะปฏิบัติ จดจ้องต้องการ ซึ่งผิดทั้งหมด การไปทำอะไรที่ผิด ด้วยความหวังด้วยความต้องการ ด้วยความเป็นตัวตน ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญ มีแต่จะทำให้อกุศลทั้งหลาย มีความไม่รู้ ความติดข้อง และความเห็นผิด เป็นต้น เกิดพอกพูนมากยิ่งขึ้น มีแต่โทษโดยส่วนเดียว ครับ
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาครับ