ความรู้สึกที่ปลายจมูกขณะวิปัสสนา
โดย keaw10  21 มิ.ย. 2550
หัวข้อหมายเลข 4064

ขนาดที่นั่งวิปัสสนาสัมผัสความรู้สึกของชีพจรที่ปลายจมูกได้ หลังจากนั้นสามารถจับความรู้สึกที่ละเอียดกว่านั้นได้คือ มีความรู้สึกกระเพี่อมสั่นอย่างรวดเร็วที่ปลายจมูก เมื่อลองจับความรู้สึกส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็เป็นเหตุการเช่นเดียวกัน ผมใคร่ขอความกรุณาช่วยพิจารณา ว่าเป็นการเห็นการขาดจากสันตติ หรือไม่ครับ



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 22 มิ.ย. 2550

ควรทราบว่าผู้ที่จะมีปัญญา ประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรมต้องผ่านการอบรมปัญญาในเบื้องต้น ตั้งแต่การศึกษาด้วยความเข้าใจถูกความเห็นถูกเสียก่อน จากนั้นจึงมีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ค่อยๆ ศึกษาลักษณะของนามรูปตามความเป็นจริง เมื่อมีการอบรมปัญญามีกำลังเป็นวิปัสสนาญาณขั้นแรกคือ การประจักษ์แจ้งนามธรรมและรูปธรรม และรู้ปัจจัยของนามรูปเป็นวิปัสสนาขั้นที่ ๒ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจึงประจักษ์ การเกิดดับของนามรูป เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๓ และที่ ๔ ตามลำดับ ฉะนั้นการประจักษ์สันตติขาดในนามและรูปจึงเป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๓ และที่ ๔ ที่มีชื่อว่า สัมมสนญาณ และอุท-ยัพพยญาณ สมดังข้อความในปฏิสัมภิทามรรคว่า

เชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

ปัญญาในการพิจารณาเห็นความแปรปรวนแห่งธรรม [อุทยัพพยญาณ]


ความคิดเห็น 2    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 22 มิ.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขออนุญาตถามคุณ keaw10 เพื่อจะได้รู้ว่าปฏิบัติถูกไหม ตอบตามความเข้าใจนะการสนทนาจะทำให้เข้าใจขึ้นครับ

สติคืออะไร

ธรรมทั้งหลายเป็นอัตตาหรืออนัตตา บังคับได้ไหม

ยืน เดิน นอน วิปัสสนาได้ไหม ถ้าไม่นั่งวิปัสสนา

ขณะนั้นที่ทำปัญญารู้อะไรหรือเต็มไปด้วยความสงสัย

ขณะนี้มีธรรมไหมที่จะรู้ ถ้ามีอะไรบ้าง

และคำถามท้ายสุด ธรรมคืออะไร

ตอบเท่าที่ตอบได้ครับ ข้อไหนตอบไม่ได้ ก็จะอธิบายในวันต่อๆ ไป ขอให้คุณ keaw10 ช่วยตอบตามความเข้าใจเพื่อที่จะได้เข้าใจว่า สิ่งที่ทำถูกไหม เพราะต้อง
เป็นปัญญาของตนเองครับและรออ่านนะจะอธิบายเพิ่มให้ครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 22 มิ.ย. 2550

ในสังสารวัฏฏ์ วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ปัญญาที่ประจักษ์นามธรรม รูปธรรม ยังเกิดยากเลย ไม่ต้องพูดถึงวิปัสสนาญาณที่ ๓ ยังอีกไกล อยากให้คุณฟังแนวทางเจริญวิปัสสนา บรรยายโดย ท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ทุกวัน แล้วคุณจะค่อยๆ เข้าใจค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย keaw10  วันที่ 29 มิ.ย. 2550

ต้องขอโทษจริงๆ นะคับที่มาตอบ คุณแล้วเจอกันช้า จะขอตอบคำถามตามความเข้าใจนะคับ

๑. สติ เป็น เจตสิก ทำหน้าที่ให้เกิดความรู้ชัดในอารมณ์ ในที่ผมเข้าใจจากการปฎิบัติเอง แม้ตามความเข้าใจเวลาคนทั่วไปเจริญสติกัน แม้ว่าเค้าเหล่านั้นคิดว่าสติแนบแน่นอยู่ตลอดแล้ว แต่ที่จริง สติไม่ได้เกิดทุกรอบขณะจิต โดยคนทั่วไปยอมมีโมหะปนอยู่บ้าง ช่วงความคิดหนึ่ง เพราะถ้ามีสติอยู่ตลอดทุกขณะจริงแล้ว ก็ย่อมสามารถรู้สภาพธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเชนแม้มันจะเร็วเพียงใด เราจึงต้องเพียรเจริญสติ เพื่อเป็นปัจจัยให้สติเพิ่มพูนขึ้นในทุกๆ ขณะ

๒. ธรรมทั้งหลายเป็นอนันตาคือ ไม่เป็นตัวเป็นตน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ซึ่งสืบเนื่องกันมาไม่สามารถบังคับมันได้ แต่ปัจจุบันของเราก็ย่อมเกิดมาจากเหตุปัจจัย ในอดีตคนทั่วไปจึงเข้าใจกรรมเป็นเหตุทำให้เกิด ซึ่งจะกลายไปเป็นกรรมบันดาลไป ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะปัจจุบันเราสามารถเลือกเจตนาที่จะทำได้ แม้เจตนาที่เลือกนั้นเหตุปัจจัยเก่าๆ ก็มีส่วนรวมด้วย

๓. วิปัสสนา สามารถทำได้ทุกขณะ ไม่ว่า ยืน นั่ง นอน ขับถ่าย กิน เพราะสติเกิดขึ้นขณะใดก็สามารถ เฝ้า ดูกาย เวทนา จิต ธรรม ได้ทุกเมื่อ แต่ในการจะเฝ้าดูในความรู้สึกที่ละเอียดละออนั้นคิดว่า ในท่านั่งจะดีกว่า เพราะให้ลองคิดดู ขนาดการจับความรู้ของการเต้นของหัวใจ หรือการเต้นชีพจรในร่างของตัวเองนั้น อาจจะยากในอริยาบทปกติเลย แต่ในท่านั่งหรืออยู่นิ่งจะง่ายกว่า

๔. ในขนาดนั้นที่เฝ้าดูที่ปลายจมูก ความเพียรที่จะเฝ้าดูในเวลานานไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถรู้เกิดปัญญาได้คับ แต่ตอนนี้ได้ทราบแล้วว่าความรู้สึกนั้นเกิดจากการสั่นกระเพื่อมของร่าง เพราะตรวจสอบดูทุกส่วนของร่างกายแล้วก็เกิดอาการเช่นนี้เหมือนกัน

๕. ในข้อนี้ไม่เข้าใจคำถามคับ

๗. ธรรมคือ สถาพความเป็นจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านกี่โกฏิ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไป ไม่อยู่ที่บัญญัติหรือสมมติ ตัวเราก็เป็นธรรม ตัวเขาก็เป็นธรรม

ตอบคำถามให้แล้วนะคับและขออนุโมทนาด้วยที่ท่านเป็นคนที่เมตตา และปัญญาไม่ตัดสินใครในทันที่ แต่สอบถามให้เข้าใจก่อน คำตอบจะถูกผิดอย่างไรก็โปรดชี้แจงให้เข้าใจด้วยนะคับ แม้ผมอายุ ๒๔ แต่ก็สนใจในธรรม แม้ถ้าผมผิดทาง แต่ถ้ารู้ว่าผิดก็พร้อมปรับปรุงแก้ไขไปในทางที่ถูก เพราะอย่างน้อยทดลองแล้วรู้ว่าผิดทางแล้วก็ย่อมไม่เดินทางผิดอีกคับจะรอฟังคำตอบคับ


ความคิดเห็น 5    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 29 มิ.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สติ คือสภาพธัมมะที่ทำหน้าที่ระลึก ส่วนการรู้ชัดเป็นหน้าที่ของสัมปชัญญะ (ปัญญา) สติเป็นธรรมฝ่ายดี ขณะที่อกุศลเกิด ไม่มีสติเกิดดร่วมด้วยครับ ขณะใดที่กุศลเกิดต้องมีสติเกิดร่วมด้วยเสมอ แต่ไม่จำเป็นต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย สติเกิดโดยที่ไม่รู้ความจริงก็ได้ เพราะเป็นสติที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เช่น การให้ทาน ที่ไม่มีปัญญาก็ได้แต่มีสติเกิดด้วย แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐาน (เจริญวิปัสสนา) ต้องมีสติและปัญญาด้วย สติและปัญญาต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ที่สำคัญสติ และปัญญารวมทั้งธรรมทุกอย่างก็เป็นอนัตตา บังคับให้เกิดตามใจชอบไม่ได้ เพราะเป็นธรรมไม่ใช่เรา บังคับให้โกรธได้ไหม บังคับให้เป็นกุศลได้ไหม ถ้าบังคับได้ก็มีกุศลตลอดทั้งวันเพราะเราก็มีตัวตนที่จะเพียรให้มีกุศล แต่ตามความเป็นจริงแล้ว กุศลก็เป็นธรรม บังคับไม่ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เขาจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน สติและปัญญาก็เป็นธรรมฝ่ายดี เกิดกับกุศล ในเมื่อกุศลก็บังคับให้เกิดตามใจชอบไม่ได้ สติและปัญญา ก็เช่นกัน ดังนั้น จึงไม่มีตัวตนที่จะเพียรให้สติและปัญญาเกิดครับ แต่อาศัยการฟังธรรมจนเข้าใจสติ และปัญญา ก็เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องมีตัวตนที่จะทำความเพียร แต่ขณะนั้นก็มีความเพียรเกิดขึ้นแล้วครับ (เพราะวิริยเจตสิก เกิดกับจิตแทบทุกดวง รวมทั้งกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาด้วย)


ความคิดเห็น 6    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 29 มิ.ย. 2550

ธรรมทั้งหลายเป็นอัตตา หรืออนัตตา บังคับได้ไหม

ดังนั้นในเรื่อง การปฏิบัติก็เช่นกัน ก่อนอื่นเรายอมรับว่า ทุกอย่างเป็นธรรม มีแต่ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นสภาพธัมมะที่มีจริงจึงย้อนมาตรงคำว่า ปฏิบัติ ใครปฏิบัติ เราปฏิบัติ หรือธรรมปฏิบัติ ในเมื่อเราเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าเป็นความเห็นถูกก็คือ เป็นธรรมที่ปฏิบัติ แล้วธรรมอะไรหละที่ปฏิบัติ อกุศลปฏิบัติหรือเปล่า เพื่อบรรลุมรรคผลไม่แน่นอน แต่เป็นหน้าที่ของสติและปัญญาจึงจะบรรลุมรรคผล ดังนั้น สติและปัญญาปฏิบัติ ไม่ใช่เราปฏิบัติ จึงโยงมาที่คำถามที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอัตตาหรืออนัตตา ก็ยอมรับกันว่าเป็นอนัตตาคือบังคับบัญชาไม่ได้ สติและปัญญาบังคับได้ไหม ให้เกิดตามใจชอบ ถ้าบังคับได้ ก็คงเป็นพระอริยบุคคลง่ายมาก เพียงแต่เพียรแล้วบังคับให้สติและปัญญาเกิด ที่ตั้งคำถามนี้เพราะเกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติคือ การจับความรู้สึกที่กระเพื่อม ถ้าไม่พิจารณาเราจะไม่รู้เลยว่า การจับความรู้สึกเป็นสติและปัญญาหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นเรื่องของการอบรมปัญญาแล้วจะไม่สงสัย เพราะสติปัฏฐาน (วิปัสสนา) ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยพร้อมกับสติ ในเมื่อมีปัญญา จะสงสัยได้อย่างไร เพราะปัญญาทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง และขณะนั้น กำลังจดจ้องอยู่ที่สิ่งหนึ่ง สิ่งใด ขณะนั้นก็เป็นความต้องการอย่างละเอียด (โลภะ) และก็เกิดสงสัย ขณะที่สงสัย ไม่ใช่ปัญญาแน่นอน จึงไม่ใช่การอบรมปัญญาที่ถูกต้องครับ


ความคิดเห็น 7    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 29 มิ.ย. 2550

ยืน เดิน นอน วิปัสสนาได้ไหม ถ้าไม่นั่งวิปัสสนา

เราคงไม่ลืม ความคิดหลักที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ขณะที่เห็น เมื่อการเห็นจะเกิดขึ้น เลือกอิริยาบถไหม ขณะที่โกรธเกิดขึ้น เลือกอิริยาบถไหม ขณะที่กุศลเกิดขึ้น เลือกอิริยาบถไหม ธรรม มีเหตุปัจจัยก็เกิดครับ โดยไม่ได้เลือกอิริยาบถ สติก็เป็นธรรม บังคับไม่ได้ ความหมายของสติประการหนึ่งคือ สติคือ จำปรารถนาในที่ทั้งปวง นั่นแสดงว่า ไม่เลือกอิริยาบถเลยเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สติและปัญญาก็เกิด โดยไม่เลือกอิริยาบถ และที่สำคัญ ถ้าสติเลือกท่าทางที่จะเกิด ขณะนั้นก็แย้งกับความเป็นอนัตตา คือบังคับบัญชาไม่ได้ครับ จะขอยกข้อความในพระไตรปิฎก ว่าการบรรลุธรรม (ขณะทีสติและปัญญาเกิด) ไม่เลือกอิริยาบถครับ ลองอ่านดูนะ

เชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

ขณะบรรลุธรรมด้วยอิริยาบถยืน [อาตุมเถรคาถา]


ความคิดเห็น 8    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 29 มิ.ย. 2550

ต้องพิจารณาว่า ความเพียรไม่ได้ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง แต่ปัญญาต่างหากที่ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง ดังนั้น จึงไม่ใช่ความเพียรไม่พอจึงไม่รู้แต่ปัญญาไม่เกิดจึงไม่รู้ ขออธิบายเรื่อง ความเพียรนิดนึงครับ ความเพียร (วิริยเจตสิก) เกิดกับกุศลหรืออกุศลก็ได้ ดังนั้นความเพียรผิดก็มี (มิจฉาวายามะ) ถ้าไม่มีปัญญาความเห็นถูกครับ (สัมมาทิฏฐิ) และคงต้องย้ำอีกครั้งว่า สติและปัญญาเป็นหน้าที่รู้ธรรม จึงไม่ใช่เราที่เฝ้าดูครับ แต่ขณะที่มีตัวตนที่พยายามจดจ้องตามดูธรรม ก็ลืมความเป็นอนัตตาอีกแล้ว ว่าสติและปัญญาเป็นธรรมเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นความต้องการ (โลภะ) ที่ต้องการจดจ้องสภาพธัมมะครับ


ความคิดเห็น 9    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 29 มิ.ย. 2550

ธรรม คือสถาพความเป็นจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านกี่โกฏิ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไป ไม่อยู่ที่ปัณยัติ หรือสมมติ ตัวเราก็เป็นธรรม ตัวเขาก็เป็นธรรม ในเมื่อเราบอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่มีเรามีแต่ธรรม จะมีตัวเราหรือตัวเขาได้ไหมในเมื่อมีแต่ธรรม ถ้ากล่าวว่า ไม่มีตัวเขา ตัวเรา มีแต่ธรรม แล้วอะไรคือ ธรรม สิ่งใดที่มีจริง เป็นธรรม เห็น มีจริงไหม มีจริง เป็นธรรมเสียงมีจริงไหม มีจริง เป็นธรรม ความรู้สึกมีจริงไหม มีจริง เป็นธรรม โกรธมีจริงไหม มีจริงเป็นธรรม ความโกรธเป็นเราหรือเปล่า หรือเป็นธรรมอย่างหนึ่ง คิดนึก มีจริงไหม เป็นธรรม ดังนั้นถ้าเราเข้าใจว่าธรรมคืออะไร ก็จะรู้ว่าธรรมมีอยู่ในขณะนี้เอง แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เช่น เสียงเป็นธรรม ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม รู้ผิดว่า เป็นเสียงคนนั้น คนนี้ ไม่ใช่รู้ว่าเป็นเพียงเสียงเท่านั้นเห็นเป็นธรรม มีอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็เป็นเราที่เห็น (รู้ผิด) ถ้าเรารู้ตามความเป็นจริง ว่าธรรมคืออะไร โดยเริ่มจากการฟังก่อน ฟังให้เข้าใจ เราก็จะปฏิบัติถูก เพราะถ้าไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร เราก็จะแสวงหาในสิ่งที่เราไม่รู้ ธรรมก็มีอยู่ในขณะนี้ ขณะที่นั่งก็มีธรรม ยืนก็มีธรรม เดินก็มีธรรม นอนก็มีธรรม แต่ปัญญาไม่รู้ต่างหาก

ดังนั้น การอบรมปัญญาที่สำคัญที่สุดนะครับ ต้องเริ่มจากการฟังให้เข้าใจก่อน และต้องพิจารณาด้วยเหตุผล ให้เป็นปัญญาของเราเอง ว่าเป็นเหตุเป็นผลไหม พูดถึงสิ่งที่พิสูจน์ได้หรือเปล่า เช่น บอกว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เช่น เสียง เป็นธรรม เพราะมีจริง จริงไหมคำกล่าวนี้ ดังนั้นต้องเริ่มจากการฟังก่อน ถ้าไม่เข้าใจก็ปฏิบัติไม่ถูกต้องครับ ถ้าสงสัยถามได้อีกครับ ยินดีเสมอ และแนะนำฟังไฟล์เสียงในเว็ปนี้ครับ ลองฟังดูนะ ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 10    โดย natnicha  วันที่ 2 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย keaw10  วันที่ 3 ก.ค. 2550

สติปัญญาแม้จะไม่สามารถบังคับให้เกิดขึ้นเองได้ แต่ก็สามารถสร้างเหตุปัจจัยให้สติ และปัญญาเกิดขึ้นได้ เช่นการศึกษาธรรมจนเกิดสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นปัจจัยให้การบ่มเพาะปัญญาต่อไป ใช่ไหมครับ

ถ้าการจดจ้องสิ่งต่างๆ อย่างละเอียด ถ้าไม่มีการติดข้องกับอารมณ์นั้นๆ ก็ไม่ใช่โลภะ แต่เป็นไปด้วยฉันทะ ใช่ไหมครับ เหมือนเราศึกษาธรรมะ ที่ไม่เกิดความโลภต้องการที่จะบรรลุธรรม (เพ่งอยากได้) แต่เรามีความพึงพอใจคือ ฉันทะที่จะศึกษาและปฎิบัติเพราะเราเล็งเห็นประโยชน์อย่างยิ่งจากการกระทำสิ่งเหล่านี้


ความคิดเห็น 12    โดย study  วันที่ 3 ก.ค. 2550

สติและปัญญาอบรมเจริญขึ้นได้ด้วยการศึกษา ฟังพระธรรม ฯส่วนมากการจดจ้องด้วยความอยากเป็นโลภะแน่นอน แต่สติและสัมปชัญญะของผู้นั้นย่อมทราบในข้อนี้ได้


ความคิดเห็น 13    โดย แวะเข้ามา  วันที่ 5 ก.ค. 2550

การจดจ้องในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องเป็นโลภะ

ฌานลาภีบุคคลที่กำลังเข้าฌานสมาบัติ ด้วยอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดในกรรมฐาน ๔๐ จิตของท่านในขณะนั้นต้องเป็น มหากุศลญาณสัมปยุต การจดจ้องในลักษณะนี้จึงไม่ใช่โลภมูลจิต แต่เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่า อารมณ์ใดทำให้จิตสงบจากนิวรณธรรม เป็นการชั่วคราว


ความคิดเห็น 14    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 5 ก.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขณะใดที่ไม่มีสติและสัมปชัญญะ การจดจ้องนั้นเป็นอกุศลที่เป็นโลภมูลจิต ดังนั้นควรเริ่มจากการฟังให้เข้าใจถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม จะทำให้ปฏิบัติถูกและเข้าใจหนทางครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 15    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 22 ม.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ