บุญคืออะไร ... กุศลคืออะไร
โดย ใหญ่ราชบุรี  25 พ.ย. 2556
หัวข้อหมายเลข 24075

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต

อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ขอเรียนถาม ความหมาย คำแปล ของ คำว่า “บุญ” กับ “กุศล” มาจากคำบาลีใด แตกต่างกันอย่างไร โดยประการใดบ้าง ช่วยกรุณายกข้อความในพระไตรปิฎก และช่วยชี้แจงแสดงธรรมที่เกี่ยวข้องด้วยค่ะ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายและกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ ด้วยความเคารพ จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 25 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรจะได้เข้าใจ ๒ คำคือ บุญ กับ กุศล ซึ่งเมื่อโดยอรรถแล้ว เหมือนกัน ไม่แตกต่างกันเลย และในรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวไว้ว่า กุศลขั้นสูงสุด คือ โลกุตตรกุศล แล้วถ้าจะใช้คำว่า โลกุตตรบุญ ได้ไหม ถ้าเข้าใจแล้ว ย่อมไม่เป็นปัญหาเลย ก็ย่อมได้ สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจอย่างถูกต้อง

บุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยอำนาจของอกุศลธรรม) จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปทำบุญ เพราะบุญอยู่ที่สภาพจิต จิตเป็นกุศลเป็นบุญ (ซึ่งก็สามารถกล่าวโดยโวหารของชาวโลกได้ว่า ผู้นั้น ผู้นี้กระทำบุญ) ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นอกุศล ก็ไม่ใช่บุญ

กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ตัดซึ่งอกุศลธรรม กุศล เป็นนามธรรม หมายถึง สภาพจิตใจที่ดีงาม ซึ่งจิตใจที่ดีงามนี้ ทำให้เกิดผลที่เป็นสุข จิตใจที่ดีงาม ย่อมเป็นเหตุทำให้ได้รับผลที่ดีงามด้วย ฉะนั้น ถ้าใครมีจิตใจที่ดีงาม โดยที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่โอ้อวด ไม่ทะนงตน ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มีกิเลสอะไรๆ เกิดขึ้นในขณะนั้นก็เป็นกุศล ถึงแม้ว่าจะไม่มีวัตถุสิ่งของให้แก่บุคคลอื่น ก็เป็นกุศลอย่างอื่นได้ เพราะเหตุว่ากุศล ไม่ได้มีเฉพาะการให้ทานเท่านั้น การอ่อนน้อมถ่อมตน การคอยช่วยเหลือบุคคลอื่น การมีเมตตาไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น การให้ข้อคิดธรรมเตือนใจดีๆ แก่ผู้อื่น การฟังธรรม การอุทิศส่วนกุศล การอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ เป็นต้น ก็เป็นกุศลเช่นเดียวกับความหมายของกุศลตามที่ปรากฏในพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ มีดังนี้

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๒๒๖

กุศลศัพท์ ใช้ในอรรถว่า ความไม่มีโรค ความไม่มีโทษ ความฉลาด และมีสุขเป็นวิบาก

สภาวะที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ยังปาปธรรมอันบัณฑิตเกลียดให้ไหว ให้เคลื่อนไป ให้หวั่นไหว คือ ให้พินาศ

ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ธรรมแม้เหล่านี้ ย่อมตัดส่วนสังกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ที่ถึงส่วนทั้งสอง คือ ที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิด เหมือนหญ้าคาย่อมบาดส่วนแห่งมือที่ลูบคมหญ้าทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ย่อมตัดคือ ย่อมทำลายอกุศล เหมือนหญ้าคา ฉะนั้น บุญ หรือ สภาพจิตที่ดี ทีเป็นกุศล มีหลายประการ ตามระดับและลักษณะของบุญครับ

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หมายถึง ที่ตั้งแห่งการกระทำความดี ๑๐ อย่าง หมายถึง กุศลจิตที่มีกำลังจนทำให้มีการกระทำออกมาทางกาย วาจาหรือทางใจ ได้แก่

๑. ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้วัตถุเพื่อสงเคราะห์หรือบูชาแก่ผู้อื่น

๒. ศีลมัย บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต หรือประพฤติสุจริต ทางกาย วาจา

๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส (สมถภาวนา) และการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง (วิปัสสนาภาวนา)

๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน

๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว

๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว

๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม

๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น บุญ หรือ กุศล หากเข้าใจความจริง บุญ กุศล ก็ไม่พ้นจากการเกิดขึ้นของจิต เจตสิกที่ดีงาม จิต เจตสิกที่ดี จึงเรียกว่าเป็นกุศลในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า กุศลธรรมทุกประเภท ความดีทุกประการ เป็นบุญ เป็นกุศล ซึ่งก็คือ กุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย นั่นเอง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะไม่เป็นภัยใดๆ เลย ไม่เป็นภัยทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น มีแต่จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 25 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทั้งบุญ และกุศล มีอรรถอย่างเดียว เพราะกล่าวถึงสภาพธรรมที่่เป็นความดี คือ กุศลจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย บุญ เป็นเครื่องชำระจิตให้สะอาด กุศล เป็นเครื่องตัดบาปธรรม ซึ่งก็คือ สภาพธรรมอย่างเดียวกัน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ควรจะได้พิจารณา คือ บุญคือกุศลจิต ขณะใดปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นคือบุญ บุญกุศลทุกประการ นำมาซึ่งความสุข ไม่ให้ผลที่เป็นทุกข์ใดๆ เลย เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ไม่ควรประมาทว่า นิดหน่อย เล็กน้อย หรือไม่ควรประมาทว่า ได้กระทำเพียงพอแล้ว แต่ควรที่จะเจริญบ่อยๆ ทำบ่อยๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

บุคคลผู้ที่เห็นโทษของกุศล และเห็นคุณประโยชน์ของบุญกุศล มีปัญญารู้ว่าบุญ เป็นที่พึ่ง นำสุขมาให้ ก็ย่อมจะอบรมเจริญกุศล พร้อมทั้งสะสมกุศลไปเรื่อยๆ ตามกำลัง ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง ฉันทะ (ความพอใจ) ในการเจริญกุศล ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ กุศลจึงจะลดน้อยลง เบาบางลง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ประมาท ไม่ได้เจริญกุศลอะไรๆ เลย กุศลย่อมจะเบาบางไม่ได้เลย มีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ครับ

อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 25 พ.ย. 2556

กุศลและบุญเหมือนกัน เพราะ เป็นสภาพธรรมที่ดี ที่มาจาก กุศลจิต ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย peem  วันที่ 27 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ