ถ้าเป็นคำสอนที่ไม่ถูก ไม่ตรง ไม่ให้ปัญญารู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เหมือนกับไซดักมนุษย์ ซึ่งตามปกติแล้ว ไซนั้นสำหรับดักปลา แต่ถ้าเป็นความเห็นผิด ก็สามารถที่จะดักมนุษย์ผู้สะสมความเห็นผิดมา ให้ไปสู่ความเห็นผิดได้
ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เกสกัมพลสูตร ข้อความบางตอนมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลพึงวางไซดักปลาไว้ที่ปากอ่าวเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ เพื่อความฉิบหาย เพื่อความพินาศแก่ปลาเป็นอันมาก แม้ฉันใด โมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เป็นเหมือนไซดักมนุษย์ เกิดขึ้นในโลกแล้ว เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ เพื่อความฉิบหาย เพื่อความพินาศแก่สัตว์เป็นอันมาก ฯ
ถ้าเป็นคำสอนที่ไม่ถูก ไม่ตรง ไม่ให้ปัญญารู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เหมือนกับไซดักมนุษย์ ซึ่งตามปกติแล้ว ไซนั้นสำหรับดักปลา แต่ถ้าเป็นความเห็นผิด ก็สามารถที่จะดักมนุษย์ผู้สะสมความเห็นผิดมา ให้ไปสู่ความเห็นผิดได้
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของความเห็นผิด และข้อปฏิบัติผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมรรคมีองค์ ๘ เพราะว่าการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น เพื่อให้ปัญญารู้ธรรมที่ปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ผู้ใดก็ตามซึ่งมีความเห็นผิดก็จะเข้าใจสภาพธรรมคลาดเคลื่อน คือ เห็นว่ากรรมไม่ใช่กรรม ไม่ได้นำมาซึ่งผลต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้นความเห็นผิดยังทำให้มีความเข้าใจในข้อปฏิบัติผิด ซึ่งไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้เกิดปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
สำหรับท่านผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ที่ใคร่จะดับกิเลส ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญา คือ ความเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏ ให้เกิดขึ้นตามความเป็นจริง จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่ถ้ามีความเห็นผิดแล้ว ก็มีข้อปฏิบัติผิด ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเลย
สำหรับเรื่องของการปฏิบัติผิด ความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอะลุ่มอล่วย หรือกล่าวว่าข้อปฏิบัติผิดเป็นข้อปฏิบัติถูก เพราะว่าสิ่งใด ถูกก็ถูก สิ่งใดผิดก็ผิด แต่จะเห็นได้ว่า แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังมีผู้ที่คัดค้านพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงต่อพระพักตร์ เช่น ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ภรัณฑุสูตร
ขอเชิญรับฟัง
เกสกัมพลสูตร และ ภรัณฑุสูตร โทษของความเห็นผิด