ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ คณะวิทยากรของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สวนิต ยมาภัย เพื่อไปพักผ่อน และ สนทนาธรรม ที่ ศูนย์สุขภาพเชตวัน ศาลายา (Chetawan Retreat Resort) ตั้งอยู่ที่ ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ศูนย์สุขภาพเชตวัน ศาลายา เป็นรีสอร์ทสุขภาพที่ตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เดินทางได้สะดวก ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ให้บริการในด้านการนวดแผนไทย แก่ผู้ที่เดินทางมาใช้บริการในเวลากลางวัน และ มีห้องพักที่สามารถรับรองแขกเข้าพักได้จำนวน ๑๕ ห้องไม่นับรวมห้องพัก สำหรับผู้ที่มาเข้าคอร์สเรียนการนวดแผนโบราณและการดูแลสุขภาพแผนไทย ซึ่งที่เห็น มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีความสนใจมาเรียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพ ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงามตามแบบวิถีไทยจำหน่ายอีกด้วย
และเช่นเคย ที่ข้าพเจ้าขออนุญาตนำความการสนทนาธรรมบางตอน มาฝากทุกๆ ท่าน เพื่อยังประโยชน์ตามควรแก่กาล ดังนี้ครับ
ท่านอาจารย์ สำหรับคนไม่รู้ภาษาบาลี คงจะสงสัยแน่ๆ เดี๋ยวก็กุศล เดี๋ยวก็กุศลา (กุ-สะ-ลา) เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นหลายๆ ก็ กุศลา ถ้าเป็นไม่หลายก็ กุศล "กุศลา ธรรมา" ก็หมายความว่า ธรรมะทั้งหลาย ที่เป็นกุศล ก็เป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น จึงเป็นคำว่า กุศลาทั้งหมดเลย ก็เป็นธรรมะ แต่ "ธรรมะ" ก็ไม่ใช่อย่างเดียว ต้องเป็น "ธรรมา" ด้วย นี่สำหรับ คนที่ไม่ได้เข้าใจเรื่องภาษาบาลี แต่ก็คงจะทราบเล็กน้อยว่าความหมาย ต้องเป็นอย่างนี้ ว่าไม่ใช่หมายถึง กุศลเดียว แต่กุศลทั้งหลาย ทั้งหมด ก็เป็นธรรมะ นั่นเอง
ธรรมะ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดง ตามที่เราสามารถที่จะเข้าใจได้ อย่างที่คุณวิชัยกล่าวถึง ก็คือ เดี๋ยวนี้ เราก็ต้องพิจารณาสิ่งที่จะได้ฟังว่า เดี๋ยวนี้ อะไรควรเสพ? ไม่ใช่ไปคอยจนถึงว่าตอนนั้น ตอนนี้ จะเสพอะไร แต่ แม้แต่ ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ซึ่งเป็นสภาพธรรมะที่มีจริง อะไรควรเสพ? อะไรไม่ควรเสพ? ยาก แต่ก็ทรงแสดงไว้ว่า สิ่งที่ควรเสพ ไม่ใช่นิมิต อนุพยัญชนะ เพราะเหตุว่า ถ้าเสพ แล้วติดข้อง รู้ความเป็นนิมิต รู้ความเป็นอนุพยัญชนะ ขณะนั้น จะไม่เข้าใจลักษณะของธรรมะเพราะมัวติดข้องในนิมิตของสิ่งที่ปรากฏและอนุพยัญชนะด้วย
เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า อโคจร (อะ-โค-จะ-ระ) เพราะเหตุว่า นิมิต อนุพยัญชนะ ไม่ทำให้เข้าใจสภาพธรรม ซึ่งกำลังเกิดดับ ในขณะนี้ เมื่อมีปัญญา ก็จะรู้ได้ว่า ควรเสพความจริง ที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ทีละล็ก ทีละน้อย อย่างขณะนี้ เห็น ไม่ใช่ คิด ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ถ้าไม่เข้าใจ ๓ คำนี้ ก็จะไม่เข้าใจคำว่า ควรเสพ และ ไม่ควรเสพ แต่เพราะรู้ว่า ความจริงขณะนี้ก็คือ "เห็น" มี แล้วก็กล่าวถึงเห็น เห็นจริงๆ ขณะที่เห็นเป็นธาตุรู้
แล้วสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ก็มีจริงๆ ยังไม่เป็นนิมิต อนุพยัญชนะ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับ ทั้งจิตเห็น และ สิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ว่าอายุจะยาวกว่าจิต แต่ก็ดับไปเร็วมาก เพราะฉะนั้น ที่ควรเสพจริงๆ คือ เดี๋ยวนี้ สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่เสพโดยที่ว่า "เป็นเรา" ไม่มีทางเป็นไปได้ ต้อง "เป็นปัญญา พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ" จึงสามารถที่จะเสพ คือ เริ่มศึกษา เริ่มเข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยการ "ฟัง"
ฟังทีละเล็ก ทีละน้อย อย่าคิดว่าจะได้ผลเดี๋ยวนี้ วันนี้ แต่จากการฟังความจริง ก็รู้ว่า เห็น เกิดเห็น แล้วก็ดับ "อุปัตติ" การเกิดขึ้นชั่วขณะที่แสนสั้น เร็วมาก เพราะมีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ กระทบจักขุปสาทจริงๆ จิต เจตสิก เกิดขึ้น กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เท่านี้เอง ฟังบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าคุณสวนิต ไม่ได้ยินคำว่า กุศลา ธรรมะ ก็คงจะฝันถึงกุศลา ธรรมา ไม่ได้
อย่างเมื่อกี้นี้ (ที่สนทนากันเรื่องของความฝัน) เป็นอย่างไร? ควรเสพ หรือไม่ควรเสพ? นิมิต อนุพยัญชนะ ของ "ความคิด" ทั้งหมดหรือเปล่า? แม้แต่ ความคิด ก็ต้องมีนิมิต อนุพยัญชนะด้วย แสดงว่า ต้องเข้าใจความหมายจริงๆ ของคำว่า ขณะนี้ คืออะไร และ ที่ใช้คำว่า นิมิต ก็หมายถึง สภาพธรรมะ ที่เกิดดับ สืบต่อ เร็ว จนเป็น "เรื่อง" ถ้าเพียง "หนึ่ง" ปรากฏ แล้วก็ดับไป ไม่เป็น "เรื่อง" เลย
แต่ว่า ที่กำลังเป็นเรื่อง ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝันดี ฝันไม่ดี หรืออะไรก็ตามแต่ ทั้งหมด ก็ไม่พ้นจาก นิมิต อนุพยัญชนะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่ควรเสพอย่างยิ่ง อย่างอุกฤษฏ์ ก็คือ นิมิต อนุพยัญชนะเพราะว่า จะไม่ทำให้สามารถรู้ความจริง ของสิ่งซึ่งมีจริง แต่ว่า ไปจดจำ สิ่งซึ่งไม่จริง เพราะเหตุว่า เป็นเพียงรูปร่าง สัณฐาน หรือว่า แล้วแต่ว่าจะใช้คำว่าอะไรก็ตามแต่ ของสิ่งที่เกิดดับ สืบต่อ จนเหมือนเที่ยง แล้วเข้าใจว่า สิ่งนั้น ยั่งยืน
เพราะฉะนั้น ถ้าเสพอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะไม่พ้น จากการที่ว่า โลกนี้เที่ยง เราเที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยง เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่การที่จะสามารถเข้าใจถูกต้อง จนกระทั่ง ละความเห็นผิด ดับ ไม่ให้เกิดอีกเลย ก็จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องของการอบรมปัญญา แม้ในขั้นของการฟัง ก็ไม่ข้าม คือ เข้าใจแต่ละคำ ที่ได้ยิน ได้ฟัง
เพราะว่า แม้จะกล่าวว่า ขณะนี้ ควรรู้อย่างยิ่ง ไม่ใช่เมื่อวานนี้ หรือ ขณะก่อน หรือ สิ่งที่ยังไม่มาถึง แต่ ทำไมไม่รู้? ทั้งๆ ที่ได้ยินคำว่า "ควรรู้อย่างยิ่ง" คือ "เดี๋ยวนี้" เพราะเหตุว่า ไม่สามารถที่จะมีปัจจัย ที่จะทำให้เข้าใจความจริง ของสิ่งที่ แม้กำลังเผชิญหน้า แต่อวิชชา ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นผู้ที่อดทน รู้ว่า "สิ่งนี้" มีจริงๆ ฟังแล้ว เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น นั่นเป็น หนทางเดียว ที่จะไม่ติด ในนิมิต อนุพยัญชนะ เพราะ "เข้าใจ"
ถึงขณะนี้ จะปรากฏ เป็นคนนั้น คนนี้ สิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่ก็ เข้าใจถูกต้อง ว่า ไม่ใช่ขณะที่ กำลังเห็น เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะเข้าใจ "เห็น" ในขณะนี้ ว่าเห็นจริงๆ เป็นธาตุรู้ ซึ่งอุปัตติ เกิดขึ้น ซึ่งใครยับยั้งไม่ได้เลย เพราะว่า ต้องมีกรรม เป็นปัจจัย ที่จะทำให้ จิตขณะนี้ เกิดขึ้นเห็น เกิดแล้ว ต้องเป็นไป ความประพฤติทั้งหมด ย่อมประพฤติ ตามที่เป็นไป แต่ละคน ตั้งแต่เกิดมา เราจะหลีกเลี่ยง ไม่ให้เป็น อย่างที่กำลังเป็นเดี๋ยวนี้ ก็ไม่ได้ ในแต่ละหนึ่ง ย่อมเป็นไป ย่อมประพฤติเป็นไป ตามการสะสม
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ กำลังสะสม ความเข้าใจ สิ่งที่แสนยาก ที่สั้นมาก แต่ก็มีจริงๆ แต่ละหนึ่งขณะ ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ สืบต่อ แต่ก็เพราะ อาศัยความอดทน การฟัง แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น วันหนึ่ง เราก็สามารถที่จะเริ่มเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้ ที่ว่าเหมือนฝัน ก็เพราะว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นชั่วคราว แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย
(พี่แอ้น-วิภาดา กัลยาณมิตร กรุณานำขนมและของว่าง รวมทั้งอาหารบางอย่าง เช่น ข้าวผัด ข้าวเหนียว หมูย่าง ไส้อั่ว ฯลฯ มาฝากทุกๆ ท่านด้วย เป็นการเพิ่มเติมจากที่ทางรีสอร์ทได้จัดไว้ อร่อยมากครับ ขออนุโมทนาครับ)
เราพูดได้ ชาติก่อน เป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แต่ชาตินี้ เมื่อวานนี้ เราทำอะไรบ้าง? ช่วยกันนึก นึกออกไหม? เดี๋ยวนี้ เป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้ จำได้ไหม? ถึงสิ่งที่เราพูด หรือ สนทนาธรรมกันเดี๋ยวนี้ ก็จำไม่ได้ ทั้งหมด เพราะไม่เหมือนขณะที่กำลังได้ยิน ไม่เหมือนขณะที่กำลังคิด ตามสิ่งที่ได้ฟัง
เพราะฉะนั้น แต่ละขณะ เพราะเกิดดับ สืบต่อ ผ่านไป โดยไม่กลับมาอีก โดยยับยั้งไม่ได้ จึงเหมือน ความฝัน ยังไม่ตื่น เพราะว่า ถ้าตื่น ก็คือ ขณะที่รู้ลักษณะและความเป็นจริง ของสภาพธรรม ซึ่งเป็นธรรม "แต่ละหนึ่ง" เช่น "แข็ง" เมื่อไหร่จะรู้ขณะที่กระทบ เมื่อเช้านี้มีใครรู้บ้าง? กระทบแข็งแล้ว แน่นอน ทุกคน แต่ว่า ไม่มีใครรู้ลักษณะที่เป็นธรรม ที่เป็นแข็ง เมื่อไม่รู้ ก็เหมือนฝัน คือ มีก็จริง แต่ก็หมดไปแล้ว แล้วก็ไม่เข้าใจด้วย
เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะ จึงต้องเป็นเรื่องที่รู้ว่า สิ่งที่ควรเสพ สิ่งที่ควรรู้ คือ ลักษณะที่มีจริง ซึ่งเป็นธรรมะเดี๋ยวนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถจะเป็นเดี๋ยวนี้ได้ การฟังแล้วเข้าใจขึ้น ก็สามารถจะละคลายความไม่รู้จนกระทั่งวันหนึ่ง ผู้ที่ได้อบรมแล้ว ท่านก็สามารถที่จะรู้ความจริงได้ จากการที่ไม่เคยรู้มาก่อน แล้วก็อบรม จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้
เพราะฉะนั้น ความจริงก็ต้องเป็นอย่างนี้ คือ สิ่งที่ควรเสพ จะต้องรู้จากสิ่งที่ปรากฏนี้ได้ แม้เดี๋ยวนี้ ได้ยินคำนี้ แต่ก็ยังไม่ได้เสพ ด้วยปัญญา แต่ถ้าฟังต่อไป เข้าใจต่อไป ก็ไม่ทิ้ง การที่จำอย่างมั่นคง ว่าสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ควรเสพยิ่ง ก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยความเห็นถูก ด้วยความเข้าใจถูก
เมื่อยังไม่เกิดก็ สะสม ความเห็นถูก และ ความดี อย่างความดี ดูเหมือนว่า รู้จักดีกันทุกคน แล้วก็พูดถึง "ทำดี" ด้วย เดี๋ยวนี้ล่ะ? ไม่ต้องรอขณะต่อไป เดี๋ยวนี้ ทำดี โดยฟังธรรมะ เห็นไหม? เป็นความดีอย่างหนึ่ง แน่นอน ไม่ใช่ว่าเราจะไปเที่ยว หรือว่า เราจะไปทำสิ่งที่ไม่มีสาระ แต่ กำลังฟังสิ่งที่มีสาระ และ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง นี่คือความดี แต่ว่า เวลาที่เราไม่ได้ฟังธรรมะ ดีหรือเปล่า? ต้องเป็นผู้ตรง
พอหรือยัง? เพราะฉะนั้น ความดี ไม่ต้องรอเลย เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ว่า เดี๋ยวนี้ฟัง หรือ เดี๋ยวนี้ ทำอะไรก็ตาม เดี๋ยวนี้เห็นใครก็ตาม เป็นมิตร ดีทันที ไม่ต้องรออีก เดี๋ยวนี้ มีอะไรที่จะช่วยคนอื่นได้ ช่วยทันทีอนุโมทนาได้ อนุโมทนา นี่คือ ความดีทั้งหมด คือ เดี๋ยวนี้
จะทำให้เรา ไม่เพียงคิดว่า ทำดี แต่วันนี้ ทำหรือยัง? ทั้งๆ ที่ กำลังอยู่ตรงนี้ ทำดี ก็คือว่า ฟังธรรม ให้เข้าใจ แต่ก็บังคับบัญชาไม่ได้ กำลังได้ยินอย่างนี้ คิดอย่างอื่น เห็นไหม? แม้ทำดี ก็บังคับบัญชาไม่ได้
แต่ถ้า มีความเข้าใจ ละเอียดขึ้นว่า ดี คือ อะไร? กุศลทุกชนิด ความเป็นมิตร และ สิ่งซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก สำหรับทุกชีวิต ก็คือว่า ได้ฟัง กับ การระลึกถึง ความตาย สัพพัตถกกัมมัฏฐาน ฐานะที่ตั้ง ที่ควรระลึก ซึ่งจะทำให้ขณะนั้น "ดี" ถ้าเราคิดถึงความตาย อาจจะเป็นเดี๋ยวนี้ก็ได้ ทำไมจะต้องคอย ทำดีวันต่อไป หรือว่า ขณะต่อไป ถ้าระลึกอย่างนี้ ขณะนั้นก็ "ดี" คือ ต้องเข้าใจความดีด้วย ว่า ความดี ไม่ต้องรอ เลย เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้
เติมความดี ในชีวิต แต่ละวันๆ ไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่า อกุศล มากมายเหลือเกิน แม้ขณะที่กำลังฟัง ได้ยินเสียง เสียงอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า ขณะนั้น ชอบ หรือ ไม่ชอบ หมดแล้ว แล้วก็มีอีก ปรากฏระหว่างนั้น ไม่ได้ดีเลย แล้วก็ไม่ใช่ทำความดีด้วย เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็เป็นประโยชน์ คุ้มกับการที่ได้เกิดมา พร้อมด้วยโสภณเจตสิก ที่ทำให้เป็นมนุษย์ ที่ไม่บ้าใบ้ บอด หนวก พิการ แต่สามารถที่จะได้ประโยชน์ จากความที่ ชีวิต ชั่วคราว แสนสั้น ก็ยังมีประโยชน์ ที่จะทำให้ สะสม ความดี และ ปัญญา ความเห็นถูกต้อง ต่อไป
เพราะฉะนั้น แม้แต่คำถามสั้นๆ อะไรควรเสพ? ก็คือ เดี๋ยวนี้ มีสิ่งที่ปรากฏ ฟัง จนกระทั่ง เข้าใจ แล้วก็จะรู้ความต่างกันว่า ขณะใด ที่ยังเป็นนิมิต อนุพยัญชนะ ด้วยความไม่เข้าใจ ขณะนั้น ก็เป็นอกุศล ถ้ากุศลไม่เกิด และ กว่ากุศลจะเกิดได้ ลำบาก หรือว่า ง่าย? ก็เป็นสิ่งที่ต้องเป็นไป ตามเหตุ ตามปัจจัย
ถ้าเป็นคนที่สะสมกุศลไว้มาก เห็นใครไม่เดือดร้อนเลย เป็นมิตรทันที หวังดี เกื้อกูลได้ ไม่ว่าคนนั้นเป็นใคร ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ดีกว่าไหม? ขุ่นเคือง ไม่ชอบ อะไรก็ไม่รู้ อย่างนั้น อย่างนี้ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมด แต่ละคำ ล้ำค่า คือ สามารถที่จะให้ความจริง และ เมื่อฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ก็จะได้พบข้อความในพระไตรปิฎก ที่ว่า น่าอัศจรรย์ พระพุทธศาสนา ทำให้รู้ว่า อะไรควรเสพ หรือว่า ไม่ควรเสพ และ อะไรที่มีประโยชน์ และ อะไรไม่มีประโยชน์
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลทุกประการของ รองศาสตราจารย์ ดร.สวนิต ยมาภัย
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอกราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
กราบอนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาคะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ