ประการที่ ๗ ญาติปลิโพธ เป็นความกังวลในเรื่องของญาติ เพราะเหตุว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะเกิดมาในโลกโดยที่ไม่มีญาติเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเมื่อมีญาติพี่น้องแล้ว จำเป็นต้องมีกิจที่พึงกระทำต่อญาติ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของบุตรธิดาหรือบิดามารดาก็ตาม แต่แม้กระนั้นสภาพธรรมทุกประเภทที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ก็เป็นของจริงที่เป็นนามหรือเป็นรูป เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่จะให้ความจริง เป็นอริยสัจจะ ทำให้ผู้พิจารณาสภาพธรรมเหล่านั้นสามารถที่จะรู้แจ้งในสภาพความจริงของสภาพธรรมนั้น และก็ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตนได้
คำว่า ญาติหรือว่าสภาพของความเป็นญาตินั้นมีจริง หรือว่าไม่จริง เพราะเหตุว่า โดยปรมัตถ์มีจิต มีเจตสิก มีรูป เมื่อจำแนกโดยย่อตามลักษณะมีสภาพธรรม ๒ อย่างคือ สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง คือ นามะ หรือ นาม และสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง คือ รูปะ หรือ รูป
เพราะฉะนั้น ญาติ มีจริงหรือไม่ ธรรมต้องสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก ทั้งพระวินัยปิฎก ทั้งพระสุตตันตปิฎก ทั้งพระอภิธรรมปิฎก
สภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลจริง แม้แต่ทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ในขณะนี้ก็เป็นนามเป็นรูป แม้บุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์เป็นญาติก็เป็นนามเป็นรูปเหมือนกัน แต่นามรูปนั้นเป็นญาติมีหน้าที่ที่จะพึงกระทำต่อกัน ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงด้วย
มีนามมีรูปไม่ใช่เฉพาะท่านคนเดียวในโลกนี้ที่เป็นนามเป็นรูป มีนามมีรูปมาก เป็นหลายบุคคล มีความสัมพันธ์ต่างกันไป โดยฐานะของญาติบ้าง มิตรสหายบ้าง หรือบุคคลผู้ไม่คุ้นเคยบ้าง แต่สภาพตามความเป็นจริงแม้แต่ตัวท่านเอง หรือแม้แต่บุคคลอื่นก็ไม่ใช่สภาพที่จะพึงยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความสัมพันธ์ มีความเกี่ยวข้อง มีความสนิทสนมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติทุกอย่าง ถึงแม้ว่าจะมีความกังวล มีธุระ มีกิจการงานที่จะต้องกระทำต่อญาติ ก็กระทำได้
เพื่อที่จะได้ทราบถึงข้อความในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับเรื่องของญาติว่า ไม่ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มาตุโปสกสูตร ที่ ๙ (ข้อ ๗๑๓) มีข้อความว่า
ครั้งนั้น มาตุโปสกพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าแสวงหาภิกษาโดยชอบ แล้วเลี้ยงมารดาและบิดา ข้าพเจ้าทำเช่นนี้ชื่อว่า ทำกิจที่ควรทำหรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชอบยิ่งพราหมณ์ ท่านทำดังนี้ชื่อว่า ได้ทำกิจที่ควรทำแล้ว ด้วยว่าผู้ใดแสวงหาภิกษาโดยชอบ แล้วเลี้ยงมารดาและบิดา ผู้นั้นย่อมได้บุญเป็นอันมาก
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยชอบ เพราะการบำรุงมารดาและบิดานั้นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกทีเดียว บุคคลนั้นละไปจากโลกนี้แล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว มาตุโปสกพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
สังเกตพยัญชนะที่ว่า เพราะการบำรุงมารดาและบิดานั้นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกทีเดียว
ความหมายของบัณฑิต ในพระสูตรมีความหมายที่ลึกซึ้งด้วย คือ หมายความถึงบุคคลที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น บัณฑิตที่นี่รวมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบัณฑิต ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกทีเดียว ไม่ใช่ว่าเวลาที่ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หรือว่าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นมารดาบิดา รู้สภาพตามความเป็นจริง และรู้คุณธรรมที่พึงปฏิบัติ รู้ว่าคุณธรรมเช่นใดที่เมื่อผู้ใดประพฤติปฏิบัติแล้ว ย่อมทำให้ประสบบุญเป็นอันมากทีเดียว
การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะนึกอย่างไร ไม่ว่าจะรู้อย่างไร ไม่ว่าจะคิดอย่างไร ก็เป็นนามธรรม ถ้ารู้ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร ในขณะที่รู้นั้นเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน
นี่เป็นสิ่งที่ผู้เจริญสติจะต้องทราบว่า เป็นไปตามปกติธรรมดาทุกประการ และก็จะรู้แจ้งตามความเป็นจริงด้วยว่า ความรู้ในขณะนั้นก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีนามรูปทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ซึ่งสติจะระลึกต่อไปจนกว่าจะชิน จนกว่าจะหมดความสงสัยว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่ว่าขณะใดทั้งสิ้น ที่จะไม่ใช่นามไม่ใช่รูป ไม่ว่าจะเป็นทางใจ ความคิดนึก การรู้เรื่อง รู้ความหมายต่างๆ ที่จะยังเหลือความสงสัยหรือความคิดว่า ไม่ใช่นามไม่ใช่รูป ไม่มีเลยสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล
ถ้าตรวจสอบกับพระวินัยปิฎก ก็มีเรื่องกิจที่พึงปฏิบัติต่อมารดาบิดาเช่นเดียวกัน
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา 58
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...
เรื่องพระให้ผ้าแก่โยมมารดาบิดาได้
เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย