คือเวลาผมนึกถึงคนๆ หนึ่งซึ่งไม่เคยชอบพอกันเท่าไร เคยมีเรื่องกัน จิตใจมันก็รู้สึกโกรธเคือง บางวันนอนก็ไม่หลับ ผมก็ลองเจริญเมตตา แผ่เมตตานะแต่ก็ไม่เป็นผล ถึงแม้พยายามจะไม่คิดเรื่องของคนนี้แต่ก็ไม่เป็นผล ผมควรจะทำอย่างไรดีครับ
ควรทราบตามความเป็นจริงว่า บุคคลที่ไม่มีความโกรธอีกเลย คือพระอนาคามีและพระอรหันต์ ดังนั้นถ้าต้องการดับความโกรธได้เป็นสมุจเฉท คือความโกรธ จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญปัญญาจนบรรลุความเป็นพระอนาคามีบุคคลแต่ในเบื้องต้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรมเข้าใจ สภาพธรรมมากขึ้น ความโกรธย่อมค่อยๆ น้อยลง ตามกำลังของปัญญา สำหรับการอบรมเจริญเมตตาถ้าอบรมเจริญเมตตาอย่างถูกต้อง จนเมตตาเจริญ มีกำลังมากขึ้นๆ เมตตาย่อมข่มความโกรธได้เพียงชั่วคราว เมื่อเมตตาไม่เกิด ความโกรธย่อมเกิดขึ้นได้อีก
ขอเชิญคลิกอ่านเมตตาที่นี่
การแผ่เมตตาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และเมื่อไร
คุณธรรมที่ควรอบรมในชีวิตประจำวัน คือ เมตตา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 610
เมื่อผู้ทำความผิดมีคุณ เราไม่ควรทำความโกรธในผู้มีคุณ. เมื่อไม่มีคุณ ควรแสดงความสงสารเป็นพิเศษ. ยศอันเป็นคุณของเราย่อมเสื่อมเพราะความโกรธ.สิ่งเป็นข้าศึกทั้งหลายมีผิวพรรณเศร้าหมองและการอยู่เป็นทุกข์เป็นต้น ย่อมมาถึงเราด้วยความโกรธ. อนึ่ง ชื่อว่าความโกรธนี้กระทำสิ่งไม่เป็นประโยชนได้ทุกอย่างยังประโยชน์ทั้งปวงให้พินาศ เป็นข้าศึกมีกำลัง.
ให้คิดถึงความตายบ่อยๆ ทำให้สลด งอกลับ ถอยกลับจากอกุศลได้ ถ้าสะสมความโกรธมากขึ้น ชาติหน้าเราก็จะโกรธมากกว่าชาตินี้อีก ความโกรธทำให้ไปทุคติภูมิ คนโกรธไม่รู้ธรรมะ
โกรธได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าถึงกับเกลียด เพราะนั้นเป็นกิเลสที่ลึก ถ้าเราผูกโกรธจนกลายเป็นศัตรู เกิดชาติหน้าก็เป็นศัตรูกันอีก ถ้าจะเจริญเมตตาก็เริ่มต้นด้วยการไม่ผูกโกรธ และให้อภัยค่ะ
โกรธเกิดได้กับทุกชีวิตโดยมีเหตุมีปัจจัย ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนมีปฏิฆนุสัยอยู่เต็มเปี่ยม ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทเหมือนพระอนาคามี ถ้าสติไม่เกิดเวลาโกรธ ความไม่รู้สภาพธรรมก็ปิดบังว่าเป็นเราเป็นตัวตนที่ต้องโกรธ แต่ผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นจึงจะเห็นโทษของความโกรธว่า โกรธเป็นสภาพธรรมที่พึงละ ไม่ควรพอใจหรือยินดีที่จะโกรธ จนถึงขั้นผูกโกรธ พยาบาท เกลียดชัง แค้นเคือง ที่จะส่งผลให้คิดปองร้ายทางวาจา หรือทางกายในภายหลัง หากยังสั่งสมพอกพูนไว้แผดเผาจิตใจให้ทุกข์ร้อนไม่จบสิ้น
ขอเชิญฟังธรรมครับ
พึงละความโกรธ
อโหสิกรรม ๖ ประการคืออะไร
จิตสงบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
พรหมวิหารสี่เป็นอย่างไร
เมตตา คือ อโทสะ หรือ ความไม่โกรธ
สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย
อย่าได้อาฆาตพยายาทซึ่งกันและกันเลย
อย่าได้ทุกข์กายทุกข์ใจเลย
จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ
ความโกรธเป็น ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะกลุ้มรุมทำให้ไม่เป็นสุข ถ้ามีสติระลึกลักษณะของความโกรธ (โทสะ) ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ขณะนั้นไม่ได้โกรธเพราะกุศลจิตไม่เกิด ร่วมกับอกุศลจิต
ถ้านึกถึงเขาแล้วรู้สึกโกรธก็อย่าไปนึกถึงเขา หาสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ทำจะดีกว่า ตอนนี้ถึงเราโกรธเขา ไม่สบายใจเป็นทุกข์ใจ แต่เขาอาจจะมีความสุข หัวเราะสบายใจ อยู่ก็ได้ ทำไมเราต้องมานั่งจมอยู่กับความทุกข์กับจิตที่เป็นอกุศลอยู่คนเดียวล่ะ คะ คนเรามักเป็นทุกข์เพราะความคิด
ระลึกถึงพระโอวาทของพระพุทธเจ้าเรื่อง โทษของความโกรธและระลึกถึงความดีของเขา เป็นต้น
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ