จิตเป็นธรรมชาติที่ไม่เกิดไม่ดับไม่สลาย เหมือนธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ก็ไม่หายไปไหน มารวมกันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วเดี๋ยวก็กลายเป็นอย่างอื่นไป เช่นอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ก็มาจากการผสมผสานของดินน้ำลมไฟ มาเป็นผักเป็นเนื้อเป็นผลไม้ พอเข้ามาในร่างกายส่วนหนึ่งก็เป็นขนเป็นผมเป็นเล็บเป็นฟันฯลฯ ส่วนที่ร่างกายไม่ต้องการก็ถ่ายออกมา ก็กลับไปสู่ดินน้ำลมไฟอยู่ดี
จิตเป็นเหมือนกระแสคลื่นที่เข้ามาครอบร่างกาย สามารถไปได้ทั่วจักรวาลภายในเสี้ยววินาที อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า เพียงแต่อ้าแขนออกไปปั๊บก็ไปถึงแล้ว ถึงโลกนั้นถึงโลกนี้แล้ว
ได้ไปอ่านธรรมะจากที่หนึ่งของพระรูปหนึ่ง อยากทราบว่าในอรรถกถาหรือพุทธวจนมีการกล่าวเรื่องจิตในลักษณะที่กล่าวไว้หรือไม่ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า "จิต" ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง สภาพรู้ อาการรู้ลักษณะรู้แจ้งอารมณ์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ และคำว่า จิตนี้ยังมีชื่อที่ใช้แทนคำว่าจิตในบางแห่งอีกมาก เช่น ใจ มโน มานัส ปัณฑระ หทัย วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มนายตนะ เป็นต้น
จิต ไม่มีที่อยู่ แต่อาศัยที่เกิด จึงเกิดขึ้น เช่น จิตเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ก็อาศัย รูปเป็นที่เกิดที่เป็น ปสาทรูป ๕ และ จิตอื่นๆ ก็อาศัยรูป คือหทยรูปเป็นที่เกิด จึงเกิดขึ้น เมื่อจิตเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ได้ไปที่ไหน อยู่ที่ไหน ดั่งเช่น เมื่อแสงเทียน เปลวเทียนดับไป ก็ไม่ได้ไปอยู่ในสถานที่ ที่อยู่ไหนเลย ครับ ดับไปไม่เหลือเลย
[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ -หน้าที่ 682
ชื่อว่า การมา โดยรวมเป็นกอง โดยความสะสม ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่เกิดขึ้น ชื่อว่าการไปสู่ทิศน้อยใหญ่ ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับ ชื่อว่าการตั้งลงโดยรวมเป็นกองโดยสะสม โดยเก็บไว้ในที่แห่งหนึ่ง ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับแล้ว. เหมือนนักดีดพิณเมื่อเขาดีดพิณอยู่เสียงพิณก็เกิด มิใช่มีการสะสมไว้ก่อนเกิด เมื่อเกิดก็ไม่มีการสะสม การไปสู่ทิศน้อยใหญ่ออกเสียงพิณที่ดับไปก็ไม่มี, ดับแล้วไม่ว่าที่ไหนก็ไม่สะสมตั้งไว้ ที่แท้แล้วพิณก็ดี นักดีดพิณก็ดีอาศัยความพยายามอันเกิดแต่ความพยายามของลูกผู้ชายไม่มีแล้วยังมีได้ ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ฉันใด ธรรมมีรูปและไม่มีรูปแม้ทั้งหมดก็ฉันนั้นไม่มีแล้วยังมีได้ ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ พระโยคาวจรย่อมเห็นด้วยประการฉะนี้แล
จิตเกิดขึ้นและดับไปทีละขณะ ดำรงเพียวชั่วขณะจิต และเมื่อยังมีขันธ์ ๕ ไม่ใช่ จุติจิตของพระอรหันต์ ก็ยังมีเหตุปัจจัย เช่น อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย เป็นปัจจัยให้จิตดวงอื่นเกิดสืบต่อ จากจิตดวงที่ดับไปแล้ว ครับ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 44
๓. อุปเนยยสูตร
[๗] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อน เข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูกชราต้อนเข้าไปแล้วย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็น ภัยนี้ในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลายที่นำความสุขมาให้.
[๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อนเข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูกชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็น ภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด.
บัณฑิตพึงทราบ ความที่ชีวิตคือ อายุนั้นเป็นของน้อย โดยอาการ ๒ อย่าง คือ ชื่อว่าน้อย เพราะความที่ชีวิตนั้นเป็นไปกับด้วยรส คือ ความเสื่อมสิ้นไป และเพราะความที่ชีวิตนั้นประกอบด้วยขณะ คือครู่เดียว ก็เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ขณะแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อยมาก (เกินเปรียบ) คือสักว่าเป็นไปเพียงจิตดวงเดียวเท่านั้น (ว่าโดยปรมัตถ์ ขณะมี ๓ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ) จึงชื่อว่า น้อย เพราะความที่ชีวิตนามนั้นเป็นของเป็นไปกับด้วยขณะ อุปมาด้วยล้อแห่งรถ แม้เมื่อหมุนไป ย่อมหมุนไปโดยส่วนแห่งกงรถหนึ่งเท่านั้น แม้เมื่อหยุดอยู่ ก็ย่อมหยุดโดยส่วนแห่งกงรถหนึ่งนั่นแหละ ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปในขณะแห่งจิตดวงหนึ่ง
และพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าบุคคลที่เห็นผิดย่อมสำคัญว่า จิตเที่ยง ไม่แปรปรวนไป ดังข้อความในพระไตรปิฎก ครับ
ซึ่งขอยกข้อความในพระไตรปิฎกโดยตรง ที่แสดงว่า คำว่า วิญญาณ หมายถึง จิตและ แสดงถึงความเห็นผิดว่า วิญญาณ หรือ จิต ว่าเที่ยง ไม่เกิดดับ แท้ที่จริงเกิดดับ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 28
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางพวกในโลกนี้ เป็นนักตรึก เป็นนักตรอง กล่าวแสดงปฏิภาณของตนตามที่ตรึกได้ ตามที่ตรองได้อย่างนี้ว่า สิ่งที่เรียกว่าตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี นี้ ชื่อว่า อัตตา เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา. ส่วนสิ่งที่เรียกว่าจิต หรือ ใจ หรือ วิญญาณ นี้ชื่อว่าอัตตาเป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงทน มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปอย่างนั้นทีเดียว.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๔ ที่สมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้ว จึงมีวาทะว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลก ว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง.
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๔
อนิจจาทิธรรมสูตร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวง ที่เป็นของไม่เที่ยง คืออะไร คือ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ (เห็น) จักษุสัมผัส เป็นของไม่เที่ยงแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็เป็นของไม่เที่ยง
([เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อนิจจาทิธรรมสูตร)
เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรม จึงไม่เข้าใจ ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และเมื่อเข้าใจถูกต้องแล้ว ก็สามารถกล่าวอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจอย่างถูกต้องด้วย
จิต หรือ วิญญาณ เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่มีจิตประเภทใดที่เกิดแล้วจะไม่รู้อารมณ์ เมื่อจิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นขณะหนึ่งๆ จะมีอนุขณะ (ขณะย่อย) ๓ อนุขณะ คือ ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ตั้งอยู่ และขณะที่ดับไป จึงไม่มีจิตแม้แต่ขณะเดียว ที่ไม่ดับ หรือว่า เที่ยงแท้ยั่งยืน ทุกขณะของชีวิต ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของจิต จิตขณะหนึ่งดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที
ประโยชน์จากการฟังพระธรรม คือ เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง จากที่เคยไม่รู้มานานแสนนาน ไม่รู้เลยว่า ขณะนี้เป็นธรรม พร้อมทั้งมีการยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นมีความมั่นคงในความเป็นจริงของธรรมว่า ทุกขณะ ไม่ปราศจากธรรมเลย มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด โดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน แต่ที่ควรจะแสวงหา ก็คือ ความเข้าใจและความเข้าใจจะเจริญขึ้นได้ เกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยการอบรมจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แม้แต่จิตหรือวิญญาณ ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ