[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 250
ตติยปัณณาสก์
อันธกวินทวรรคที่ ๒
๑. กุลุปกสูตร
ว่าด้วยธรรมทําให้เป็นที่เคารพและไม่เคารพในสกุล
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 250
อันธกวินทวรรคที่ ๒
๑. กุลุปกสูตร
ว่าด้วยธรรมทำให้เป็นที่เคารพและไม่เคารพในสกุล
[๑๑๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เข้าสู่สกุลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญในสกุล ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้วิสาสะกับผู้ไม่คุ้นเคย ๑ เป็นผู้บงการต่างๆ ทั้งที่ตนไม่เป็นใหญ่ในสกุล ๑ เป็นผู้คบหาผู้ไม่ถูกกับเขา ๑ เป็นผู้พูดกระซิบที่หู ๑ เป็นผู้ขอมากเกินไป ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เข้าสู่สกุลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญในสกุล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เข้าสู่สกุลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ เป็นที่สรรเสริญในสกุล ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ไม่เป็นผู้วิสาสะกับผู้ไม่คุ้นเคย ๑ ไม่เป็นผู้บงการต่างๆ ทั้งที่ตนไม่เป็นใหญ่ในสกุล ๑ ไม่เป็นผู้คบหาผู้ไม่ถูกกับเขา ๑ ไม่เป็นผู้พูด กระซิบที่หู ๑ ไม่เป็นผู้ขอมากเกินไป ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เข้าสู่สกุลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพและเป็นสรรเสริญในสกุล.
จบกุลุปกสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 251
อันธกวินทวรรควรรณนาที่ ๒
อรรถกถากุลุปกสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในกุลุปสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อสนฺถววิสฺสาสี ความว่า แสดงความคุ้นเคย ในคนที่ไม่สนิทสนมกับตน คือไม่สนิทสนมคุ้นเคยกันนั่นเอง. บทว่า อนิสฺสรวิกปฺปี ความว่า มิได้เป็นใหญ่เลย แต่ทำเป็นผู้ใหญ่โดยสั่งว่า พวกท่านจงให้สิ่งนี้ จงรับสิ่งนี้. บทว่า พฺยตฺถุปเสวี ความว่า เข้าไปคบตระกูลที่แตกกัน ไม่หวังดีต่อกัน เพื่อเสียดสี. บทว่า อุปกณฺณกชปฺปี ความว่า รับมนต์ที่ ใกล้หู (กระซิบ). ธรรมฝ่ายขาว พึงทราบตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
จบอรรถกถา กุลุปกสูตรที่ ๑