ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๒-๒๓ ธ.ค. ๒๕๕๙ [ตอนจบ]
โดย วันชัย๒๕๐๔  18 ม.ค. 2560
หัวข้อหมายเลข 28541

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๒๒-๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะวิทยากรของมูลนิธิฯ ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ได้รับเชิญจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อไปสนทนาธรรมกับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ของคณะอุตสาหกรรมเกษตร ตามโครงการค่ายคุณธรรมจริยธรรม ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุม ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้มีการนำเสนอภาพและความการสนทนาบางตอนของวันแรก ในกระทู้ ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๒-๒๓ ธ.ค. ๒๕๕๙ [ตอนแรก] ไปแล้วนั้น

ในตอนนี้ ขอนำเสนอเป็นตอนจบ ของการบันทึกภาพและเหตุการณ์ ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เดินทางมาสนทนาธรรมกับคณะนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ของคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้า สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

การเดินทางมาสนทนาธรรมของท่านอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในครั้งนี้จะเกิดมีขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการเห็นประโยชน์ของ ดร.มล.ญาศินี จักรพันธ์ุ (อาจารย์ยุ้ย) ปัจจุบัน ท่านเป็นสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ.หมายเลข ๑๖๒๕ ซึ่งข้าพเจ้าเองได้รับการเชิญให้เข้าร่วมในกิจกรรมการสนทนาธรรมในครั้งนี้ จากการติดต่อประสานงานโดยพี่แอ๊ว (ฟองจันทร์ วอลช) โดยพี่แอ๊วแจ้งว่า ทางคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอาจารย์ ดร.มล.ญาศินี จะทำการจองที่พักและตั๋วเครื่องบินไว้ให้ ซึ่งข้าพเจ้าตอบตกลงด้วยความยินดีอย่างยิ่ง ที่ไม่เพียงจะเป็นโอกาสได้เจริญกุศลครั้งสำคัญนี้ แต่ยังเป็นการเจริญกุศล ณ สถานที่ซึ่งข้าพเจ้าเคยเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แห่งนี้มาก่อนอีกด้วย

การได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับท่านอาจารย์และคณะฯ ในครั้งนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นความรู้สึกชื่นบานในใจของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง ทั้งการได้รับการต้อนรับและอำนวยความสะดวกอย่างดียิ่งของอาจารย์ยุ้ย ซึ่งท่านมีความน่ารักและเต็มไปด้วยอัธยาศัยไมตรีอย่างดียิ่ง ทำให้ทุกคนรู้สึกมีความสุข และซาบซึ้งใจมาก ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาและความดีทุกประการของอาจารย์ยุ้ยด้วยนะครับ ขอให้เจริญในธรรมที่มีค่าที่สุดในสากลจักรวาล ยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ

อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความการสนทนาในวันที่สอง ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการสนทนา เป็นการสนทนากับกลุ่มที่สองของคณะนักศึกษาที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งกลุ่มหลังนี้มีจำนวนน้อยกว่าเมื่อวานนี้ การสนทนาในวันนี้ เป็นการสนทนาจากความเห็นของนักศึกษาที่ได้รับฟังการสนทนาธรรมเมื่อวานนี้ โดยนักศึกษาได้ตอบแบบสอบถามที่ทางคณะอุตสาหกรรมเกษตรจัดทำไว้ ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่ของนักศึกษา กล่าวว่า ได้รับฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก ไม่เคยได้รับฟังความจริง คำจริง อย่างนี้มาก่อน มีเพียงเล็กน้อยราว ๕ เปอร์เซนต์ ที่มีความเห็นในทางที่ว่า เป็นการแสดงธรรมแบบเก่า ไม่สนุกสนาน ดึงดูดให้คนชอบฟัง เป็นต้น ซึ่งท่านอาจารย์และวิทยากร ได้สนทนาตอบความสงสัย และความเห็นดังกล่าวไว้อย่างน่าฟังและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ดังต่อไปนี้ครับ

ผศ.อรรณพ พวกเราเป็นกลุ่มสองนะครับ กลุ่มเมื่อวานเขาก็ได้มาร่วมรับฟังการสนทนา แล้วเขาก็มีความเห็นต่างๆ กัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีความเห็นที่ได้รับสาระ ได้รับประโยชน์ เช่นบอกว่าได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในสิ่งที่ไม่เคยฟังมาก่อน และได้เข้าใจว่า ธรรมะคืออะไร และได้ฟังธรรมะที่แท้จริง ที่เป็นเหตุเป็นผล บางท่านก็บอกว่า ที่เคยได้ยินว่าตัวเราๆ ที่แท้ก็เป็นธรรมะแต่ละอย่าง "ซึ่งไม่ใช่เรา" บางคนก็บอกว่า เข้าใจในสิ่งที่คิดว่าเคยรู้แล้ว เคยเข้าใจแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เข้าใจเลย เมื่อมาได้ฟังก็มีความเข้าใจ หลายๆ คนก็ประทับใจน้องอายุ ๘ ขวบ เมื่อวาน น้องเคน เขาบอกว่า ตอบคำถามได้ดีมาก น้องน่ารักมาก แปดขวบแล้วตอบคำถามได้ อันนี้ ส่วนใหญ่ก็ได้รับประโยชน์

ในส่วนที่เขามีความเห็นแตกต่าง เรารับฟังเลยนะครับ ยินดีรับฟังความเห็นที่แตกต่าง และจะเป็นประเด็นที่นำมาคุยกันด้วย ซึ่งกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์เพราะว่ามาสรุปให้ฟัง แล้วมาฟังเสียงส่วนน้อย แม้จะเป็นส่วนน้อย ๕ เปอร์เซนต์ก็ตาม เขาบอกว่า เขาฟังแล้วเขารู้สึกขัดแย้ง เพราะไม่เคยเหมือนกับธรรมะที่เคยฟังมาก่อน ไปเรียนที่โรงเรียน หรือตั้งแต่เด็กเล็กๆ มา ก็เข้าใจว่าพุทธศาสนาก็คือการใส่ชุดขาว เข้าวัด ทำบุญ แต่ที่มาฟังนี้ ไม่ตรงกับที่เคยเป็นมา เหมือนกับว่า ที่มาพูดกันนี้ เหมือนเป็นลัทธิอะไรอย่างนี้ครับท่านอาจารย์ ไม่เหมือนกับที่เขาเคยฟังมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก มาถึงปัจจุบัน ท่านอาจารย์จะเพิ่มเติมตรงนี้ก่อนไหมครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ฟังธรรมะ ประโยชน์คือ ได้รู้ว่าความจริงคืออะไร อะไรถูก อะไรผิด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเคยได้ยินได้ฟังอะไรมามากสักเท่าไหร่ แต่ถ้าได้ฟังสิ่งที่ถูกต้อง ก็สามารถที่จะรู้ว่า อะไรผิด แต่ถ้ายังไม่เคยฟังสิ่งที่ถูกเลย ก็เชื่อว่าสิ่งที่ผิดๆ นั้นแหละถูก!! จนกว่าจะได้ฟังสิ่งที่ถูกต้อง!!! เมื่อพิจารณาเห็นความจริง ความถูกต้อง ก็สามารถที่จะละความเห็นผิดได้ ถ้าเป็นผู้ที่ "ตรง"

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะ ไม่ใช่ว่าพูดให้คนอื่นฟัง แล้วไม่รับฟังความเห็นของคนอื่น ในเมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ทุกคนสามารถที่จะไตร่ตรอง เข้าใจ พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้น ก็พูดแต่ละข้อ ขอเชิญคุณอรรณพพูดถึงข้อที่คัดค้าน

ผศ.อรรณพ ข้อที่คัดค้านอันแรกก็คือ ฟังตรงนี้แล้ว รู้สึกว่าวิทยากรที่พูด เป็นความคิดแบบเก่า ควรที่จะพูดธรรมะให้ง่ายและเหมาะกับวัยนักศึกษา
ท่านอาจารย์ เขานับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่าคะ? เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เก่านะคะ สองพันห้าร้อยกว่าปี นี่เก่าไหม? เพราะฉะนั้น คิดว่าไม่ต้องนับถือหรือ? แต่เก่าหรือใหม่ก็ตามแต่ ความจริงต้องเป็นความจริง เพราะฉะนั้น สมัยใหม่มีแต่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่จริง กับ ของเก่าซึ่งเป็นของที่จริง ถูกต้อง ผู้ที่มีปัญญา ไตร่ตรอง จะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด และโดยเฉพาะ จะกล่าวว่า "เก่า" เก่าไม่ใช่เก่าอื่น ไม่ใช่เก่าของพวกเดียรถีย์ก่อนการตรัสรู้ แต่ที่ว่าเก่าก็คือว่า เห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงแสดงพระธรรม สองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว จะสองพันหกหรืออะไรก็ตามแต่ต่อไปข้างหน้า แต่คำนั้น ไม่ได้เปลี่ยนเลย เพราะว่า ตรัสรู้ความจริงถึงที่สุดของทุกอย่าง แม้ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เก่าหรือใหม่? กำลังเห็นขณะนี้ เก่าหรือใหม่? เห็นไหม? สองพันห้าร้อยกว่าปี มี "เห็น" ไหม? มีเห็น เดี๋ยวนี้มี "เห็น" เพราะฉะนั้น "เห็น" ขณะนี้กับสมัยนั้น เก่าหรือใหม่? หรือไม่ว่าสมัยไหนก็เป็นสิ่งนั้นแหละ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เพราะเหตุว่า เป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะ ทำให้คนซึ่งเคยเป็นผู้ไม่ตรง เป็นผู้คดงอ ตรงไม่ได้เลย ไม่สามารถที่จะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่การเป็นผู้ที่ได้ฟังเหตุและผล แล้วค่อยๆ ไตร่ตรอง ถ้าเป็นผู้ที่สะสมที่จะเห็นถูกต้อง สามารถละทิ้งความเห็นผิดได้

เพราะฉะนั้น ถ้าเคยฟังมา ที่บอกว่าสมัยนี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เก่าทั้งนั้น!! แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง "เห็น" สมัยนั้นก็มี สมัยนี้ก็มี รู้ตามความเป็นจริงไหม? แล้วสมัยก่อน "เห็น" เป็นอย่างไร? สมัยนี้ "เห็น" เป็นอย่างไร? ที่จะกล่าวว่าเก่า เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นคนที่คิดว่า ยุคสมัยที่กำลังมีใหม่ ต้องเชื่อ แต่ว่ายุคสมัยที่กำลังมี เป็นยุคที่ไม่ได้เข้าใจความจริง ถ้าเข้าใจความจริง ก็ต้องตอบทุกคำได้

เพราะฉะนั้น การสนทนาธรรม เป็นมงคลในมงคล ๓๘ เพราะเหตุว่า นำมาซึ่งความเห็นถูก ซึ่งก่อนการสนทนาธรรม ในครั้งอดีต ท่านก็ตั้งกติกากันไว้ สิ่งใดถูก ต้องว่าถูก สิ่งใดผิด ต้องว่าผิด ไม่ใช่เห็นสิ่งที่ถูกเป็นผิด และกล่าวสิ่งที่ถูกเป็นผิด ถ้าอย่างนั้นจะมีประโยชน์อะไร ในการสนทนาธรรม แม้แต่การมาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เพื่อที่จะได้ให้มีความเห็นที่ถูก กับผู้ที่ไม่เคยได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะเหตุว่า ทุกคำอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นการประมวลคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๘๔๐๐ พระธรรมขันธ์ ทั้งหมดทรงแสดงไว้แล้วและสืบทอดกันมา ซึ่งผู้ที่ฟัง ถ้าจะกล่าวว่า ของเก่าอาจจะผิด ก็ฟังก่อน ผิดตรงไหน? เพราะอะไร? ต้องชี้แจง ต้องมีผู้ที่สามารถที่จะรู้และต้องเป็นผู้ตรง

อย่าง "เห็น" ขณะนี้ ถ้าไม่มีการเกิดขึ้นเห็น ไม่มีเห็น แค่นี้ จริงไหม? เก่าไหม? สมัยสองพันห้าร้อยกว่าปีหรือก่อนนั้นก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ แม้ "เห็น" จะเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครไปทำให้เห็นเกิดขึ้น "เห็น" เกิดแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ไม่มีการที่จะเข้าใจว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล้าสมัย หรือว่าคนในครั้งโน้นที่ฟังสืบทอดกันมา รักษาความถูกต้อง เป็นคนล้าสมัย เพราะเหตุว่า เป็นคนที่มีความเห็นที่ถูกต้อง ในยุคสมัยทั้งหมด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ถ้าสมัยนี้จะไม่เห็นด้วยก็ชี้แจงมา

ผศ.อรรณพ เพราะฉะนั้น เขามีความคิดว่า ที่มาฟังนี้ เป็นธรรมะแบบเก่าที่ล้าสมัย ครับท่านอาจารย์ท่านอาจารย์ ค่ะ ล้าสมัยเมื่อไหร่? "เห็น" ล้าสมัยไหม?
ผศ.อรรณพ ทันสมัยที่สุด
ท่านอาจารย์ "ได้ยิน" ล้าสมัยไหม?
ผศ.อรรณพ ทันสมัยที่สุด เพราะกำลังได้ยิน
ท่านอาจารย์ แม้แต่คำว่า "ล้าสมัย" ก็ไม่เข้าใจว่าอะไร? และ สมัย คือ อะไร? แต่ว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ทำให้สามารถเข้าใจทุกคำ ทุกกาลสมัย แม้แต่ "สมัย" คือ อะไร "สมัย" คือ "ขณะแต่ละหนึ่งขณะ" สมัย ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่สมัย ขณะที่เห็น เพราะฉะนั้น สมัยที่ "ได้ยิน" ในครั้งโน้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สมัยนี้ "ได้ยิน" เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันไหนเก่า? อันไหนใหม่? อันไหนล้าสมัย? เพราะว่าเป็นแต่ละหนึ่งขณะ

เพราะฉะนั้น ทั้งหมด ต้องเป็นผู้ที่ฟังแล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็รู้ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะแก้การยึดถือ ความเห็นผิดเดิมๆ ได้ ถ้าไม่มีการฟังคำที่ถูกต้อง ซึ่งพิจารณาไตร่ตรองได้ ถ้าคิดว่าของตนเองถูกต้อง ก็คัดค้าน

ผศ.อรรณพ คือผมเข้าใจนะครับว่า นักศึกษาเขาคิดว่า แบบเก่าก็คือ พูดด้วยภาษาที่เป็นธรรมะแล้วก็เข้าใจยาก ถ้าเป็นแบบใหม่ก็คือ ผู้พูดธรรมะก็จะพูดให้สนุกสนาน แล้วก็ให้เข้าถึงวัยรุ่นได้ครับท่านอาจารย์ ถูกใจวัยรุ่นหน่อย

ท่านอาจารย์ ค่ะ ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง เกิดมาแล้ว อยู่ไปวันๆ เข้าใจความจริงอะไรบ้างหรือเปล่า? อยากฟังคำสนุกต่อไป แต่คำเหล่านั้น ไม่ใช่ "คำจริง" ที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ จะสนุก ทำไมต้องฟังธรรมะ? ที่จะให้เป็นตลก ขบขัน เหมือนจำอวด!! เป็นสิ่งที่ผิดพระวินัย เพราะเหตุว่า ภิกษุ เป็นผู้ที่สงบ คำว่า "ภิกขุ" หมายความถึง ผู้ที่สละ ผู้ที่ละ ชีวิตของคฤหัสถ์ เพราะเห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ และเป็นผู้ที่ สงบจากกิเลส เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังทำสิ่งที่คนอื่นหัวเราะ ชอบใจ เหมือนจำอวด ขณะนั้นไม่ใช่ภิกขุ เพราะไม่ใช่ผู้สงบ!!! และรู้จักภิกขุหรือเปล่า?

ถ้าอยากจะสนุกตลกขบขัน ก็ไปดูจำอวดสิคะ จำอวดยุคนี้สนุกจริงๆ ดูได้ แล้วก็รู้ด้วยว่า ขณะนั้น ดูเพื่อความเพลิดเพลิน แต่จะฟังธรรมะให้เหมือนฟังจำอวด ผิด!! เพราะเหตุว่า ผู้ที่ฟังธรรมะ ต้องเป็นผู้ที่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และรู้ว่าฟังธรรมะด้วยความเคารพ ที่จะ จากไม่เคยรู้เลย ก็มีผู้ที่กล่าวถึงความจริง ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ด้วยความสงบจากการที่ต้องการสนุก ถ้าต้องการสนุก ไปดูจำอวดค่ะ ไม่ใช่ต้องการให้ภิกขุ หรือผู้ที่กล่าวธรรมะ แสดงธรรมะอย่างจำอวด!!

ผศ.อรรณพ ครับ ก็เป็นประเด็นที่เขาแสดงความคิดเห็นมาด้วยว่า น่าจะเชิญพระอาจารย์ที่พูดธรรมะได้สนุก ตลก เพื่อจะทำให้น่าสนใจ แล้วก็ได้เข้าถึงธรรมะ ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ค่ะ พระอาจารย์จำอวด!! ไม่ใช่พระอาจารย์ธรรมะ ต่างกันแล้ว ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ธรรมวินัยไม่มีจำอวดที่จะไปแสดงให้คนสนุก ขบขัน แต่เป็นการกล่าวคำจริง ซึ่งยาก ที่ใครจะได้ฟัง!! เพราะเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร? ที่กล่าวว่านับถือ แค่ยกมือไหว้? แต่ไม่ได้ฟังคำ!!! เพราะคิดว่าคำนั้นต้องสนุกอย่างจำอวดถึงจะฟังอย่างนั้นหรือ? นั่นก็เป็นการเข้าใจผิด ซึ่งไม่รู้เลยว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร? แต่ก็ไปกราบไหว้ แล้วก็อยากฟังจำอวด!! อยากให้ภิกขุเป็นจำอวด!! ภิกขุเป็นจำอวดไม่ได้!! เพราะว่าเป็นผู้สงบ!! ใครก็ตามที่ไม่สงบ ผู้นั้นไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย!!! ทำผิดพระวินัยด้วย!! ขอเชิญคุณคำปั่นกล่าวถึงว่าผิดวินัยข้อไหนคะ

อ.คำปั่น ถ้าเป็นการพูดตลก พระภิกษุพูดตลก แน่นอนครับ เรื่องที่กล่าวถึงนี่ไร้สาระ เป็นคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ อย่างต่ำที่สุดก็คือ อาบัติทุพภาสิต เพราะว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ และประการต่อมา ถ้าเรื่องที่กล่าวถึงเป็นคำโกหก เป็นคำเท็จ แต่งขึ้นมาโดยที่ไม่มีความจริง ไม่เป็นความจริงเลย ก็เป็นอาบัติในข้อที่กล่าวเท็จ และขณะที่แสดงอย่างนั้น มีการตลก คึกคะนอง กิริยาอาการไม่เรียบร้อย ไม่เป็นผู้สงบ ต้องอาบัติอีก ในเรื่องของทุกกฏ เป็นความประพฤติที่ไม่เหมาะ ไม่ควร เป็นความประพฤติที่แย้งกับกุศลธรรม เป็นความประพฤติที่ไม่สามารถจะทำให้ก้าวไปสู่การรู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริงได้ เป็นโทษโดยประการทั้งปวง และพอแสดงจบ มีการรับเงินอีก เท่าที่ทราบ หลายหมื่น อาบัติอีก เท่ากับว่าเชิญท่านมาก็ท่านเป็นอาบัติ แล้วก็ทำให้คนหมู่มากลุ่มหลง ออกจากพระธรรมคำสอนที่แท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นโทษโดยส่วนเดียวครับ

ผศ.อรรณพ ซึ่งประการหลัง เป็นโทษมาก เป็นการทำลายพระธรรมวินัย จนกระทั่งน่าสลดใจว่า เยาวชนในสมัยนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เขาต้องการจำอวดพูดธรรมะ อยู่ในเพศบรรพชิต ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ไม่น่าดู ไม่น่าสนับสนุนเลย ทำไมจะหวังให้ผู้ที่บวชแล้ว มาเป็นนักแสดง มาทำเล่นตลก มาทำลายพระพุทธศาสนา เยาวชนควรศึกษาธรรมะให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าให้พระมาเล่นตลก พระถ้าอยากตลกก็สึกไป ไปเปิดคณะตลกเลย ไม่ใช่อาศัยเพศบรรพชิต ให้คนเคารพนับถือ แต่กระทำการทำลายพระธรรมวินัย!!

เพราะฉะนั้น โดยเฉพาะเยาวชนที่จะดูแลประเทศชาติ พระศาสนาต่อไป ต้องแยกให้ออก ไม่ใช่ว่าไม่ให้สนุกสนานเฮฮา ใครๆ ก็เป็น แต่อย่ามาต้องการให้ผู้ที่บวชเป็นเพศบรรพชิตมาทำตลก แล้วก็คิดว่าธรรมะก็ต้องตลกด้วย ทุกอย่างชีวิตต้องตลกไปหมด อันนี้ไม่ตลก ไม่ตลกเลย เข้าใจผิดว่า เป็นเรื่องที่ทันยุคทันสมัย สามารถที่จะให้วัยรุ่นสนใจได้ สามารถรู้เรื่องหนัง เรื่องละคร ไปร่วมแสดงด้วยหรืออะไรอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ทำลายพระธรรมวินัยทั้งสิ้น!!

ท่านอาจารย์ ค่ะ มอมเมาเยาวชน ไม่ได้รู้ความจริงเลย จะกล่าวว่าเป็นชาวพุทธไม่ได้!! พุทธะ คือ ผู้รู้ถูก เห็นถูก มีปัญญา พุทธะเป็นปัญญา เพราะฉะนั้น ชาวพุทธต้องมีเหตุผลและมีปัญญา ชาวพุทธต้องรู้ว่า ใครเป็นภิกษุ ใครไม่ใช่ภิกษุ!! ไม่ใช่เพียงเห็นห่มผ้าเหลือง เดินตามห้างสรรพสินค้า แล้วเข้าใจว่านั่นเป็นภิกษุ พระภิกษุไม่เดินตามห้างสรรพสินค้า ไปทำไม? ภิกษุเป็นผู้สงบ ชาวบ้านไปได้

เพราะฉะนั้น ชาวบ้านฟังธรรมะและให้คนอื่นรู้อย่างเปิดเผยว่าเป็นชาวบ้าน เป็นคนที่สนใจที่จะได้ฟังธรรมะแต่มีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ แต่คนที่ไปทำตลก ชาวบ้านยังไม่ทำเลย แล้วไปมอมเมาคนว่า นี่เป็นภิกษุ!! ภิกษุทำอย่างนี้ไม่ได้!!!

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญา ชาวพุทธต้องเข้าใจให้ถูกต้อง พระภิกษุเป็นเพศที่สูง สละอาคารบ้านเรือน ด้วยเหตุนี้คฤหัสถ์จึงกราบไหว้ ในคุณความดี ของผู้ที่สามารถสละพ่อแม่พี่น้อง คิดดูสิ ทั้งพ่อแม่ ทั้งพี่น้อง ทั้งเพื่อนฝูง ทั้งอาหารอร่อย ทั้งความสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ โดยการสละชีวิตเพื่อที่จะเป็นผู้ที่สงบจากสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่มีความประพฤติที่สงบ แล้วยิ่งกว่าคฤหัสถ์อีก สามารถที่จะแสดงกิริยา อาการ ซึ่งเป็นที่สนุกขบขัน คิดดู!! พระภิกษุเป็นที่สนุกขบขัน!! เป็นไปได้อย่างไรในยุคนี้!!! ไม่ใช่จำอวด!!

เพราะฉะนั้น เป็นการมอมเมาไม่ให้ชาวพุทธมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า พระภิกษุคือใคร? พระภิกษุต้องเป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน บวชในเพศบรรพชิต มีชีวิตที่สงบ ทั้งวันเป็นเรื่องของกุศล ไม่ใช่เป็นเรื่องของอกุศล แม้แต่จะบริโภคอาหารก็ต้องพิจารณา รู้ว่าต่างจากที่เคยเป็นคฤหัสถ์ คฤหัสถ์จะบริโภคอาหารเอร็ดอร่อยมากน้อยอย่างไรก็ได้ แต่บรรพชิต ไม่ว่าอาหารนั้นจะเป็นอย่างไร หุงต้มเองไม่ได้ แต่มีผู้ที่มีศรัทธา เห็นประโยชน์ของการที่มีชีวิตของผู้หนึ่ง ที่สามารถสละความสุขสบายเป็นเพศบรรพชิต เห็นคุณอันนี้ ก็นำอาหารมาให้ จะใส่ไปในบาตรหรือจะนำมาถวายอย่างไรก็ตาม ด้วยเห็นคุณความดี

เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ว่า เขากราบไหว้ในคุณความดี ก็ต้องมีคุณความดีให้เขากราบไหว้ ไม่ใช่ไปเล่นจำอวดหรือทำตลกให้เขาหัวเราะ นี่ก็ผิดแล้ว!! เพราะฉะนั้น ชาวพุทธถึงเวลาหรือยัง? ตื่นจากหลับ ตื่นจากความไม่รู้!! ถ้าไม่รู้ความจริงเมื่อไหร่ ยังคิดว่ายังเป็นอย่างนี้อยู่ นั่นคือกำลังหลับ หลับอย่างที่ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้เลย สนิทไปเลย ถึงเวลาที่จะต้องตื่นขึ้น!! แล้วก็รู้จริงๆ ว่า พระภิกษุไม่ใช่คฤหัสถ์ ทำอย่างนี้ไม่ได้!!! ถ้าต้องการให้เชิญพระภิกษุที่แสดงจำอวดได้มาแสดง ทำไมไม่ไปหาวงจำอวดมา เพราะไม่ได้สาระอะไรเลย แต่ละคำ ไม่ใช่คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริง

ผศ.อรรณพ เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน พ.ศ.๒๓๒๕ ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ ทุกคนคงจะรู้ ซึ่งในสมัยนั้น ผู้ปกครองบ้านเมืองก็คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ท่านเป็นผู้ที่เป็นหลักของประเทศชาติ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีอยู่ข้อหนึ่งในกฏหมายตราสามดวง ซึ่งท่านเอื้อเฟื้อพระวินัยอย่างมาก ทรงตราไว้เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ เป็นกฏพระสงฆ์ ฉบับที่ ๑ ในสมัยนั้น มีใจความบางตอนว่า " ... ประชาราษฎร์มักนิยมพระนักเทศน์ที่เทศน์แบบตลกคะนอง เป็นการเล่นหัว ซึ่งผิดพระธรรมวินัย ผู้ฟังก็ไม่ได้รับเอาอานิสงส์อะไร จากการฟังเทศน์นั้น จึงมีพระบรมราชโองการ ห้ามมิให้เทศน์และฟังเทศน์เป็นกาพย์กลอน และกล่าวถ้อยคำตลกคะนอง ภิกษุสามเณรรูปใดฝ่าฝืน ให้นำตัวมาลงโทษพร้อมกับญาติโยมของภิกษุสามเณรนั้น ... " ทั้งพระที่พูดตลกคะนองและคนที่ฟังโดนลงโทษ เพราะทำผิดพระวินัย แต่เพียงสองร้อยกว่าปีผ่านมา เกิดความเสื่อมถึงขนาดนิยมภิกษุผู้กระทำผิดพระวินัย เทศน์ตลกคะนอง เล่นหัว มิได้รับอานิสงส์คือสาระอะไร

ท่านอาจารย์ครับ ต่อไปก็มีการแสดงความคิดเห็นว่า ฟังแล้วขัดแย้งเรื่องการปฏิบัติธรรม เช่นใส่ชุดขาวเข้าวัด ทำสมาธิ ปฏิบัติธรรม ก็เคยได้รับการเข้าใจมาอย่างนั้น แต่รู้สึกว่าที่มาฟังนี่ ขัดแย้งกัน

ท่านอาจารย์ ได้รับฟังจากใครให้ใส่ชุดขาว? ไม่มีในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ฟังจากใคร?
ผศ.อรรณพ ก็ฟังตามๆ กันมาครับ
ท่านอาจารย์ แล้วชาวพุทธนับถือใคร?
ผศ.อรรณพ เพราะไม่ได้มีการสอบทานกับพระไตรปิฏก พระธรรมวินัยเลย

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่จะตื่นขึ้น สนทนาธรรมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าอะไรถูกอะไรผิด ได้ฟังคำว่าให้ใส่ชุดขาว เคยถามไหม? ว่า ใส่แล้วเป็นอย่างไร? มีเหตุผลอะไร? มีคำอธิบายอะไร? ติดข้องในชุดขาวหรือเปล่า? จึงต้องใส่ชุดขาว ถ้าไม่ติดข้อง จำเป็นหรือ? ใส่ชุดอะไรก็ได้ คนที่ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระวิหารเชตวัน ไม่มีการที่บอกว่าให้ใส่ชุดขาวไปฟังพระธรรม แล้วทำไมถึงได้มีความคิดอย่างนี้? ซึ่งเป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าใจผิดไปเลย ว่าจะต้องใส่ชุดขาว ทุกคำ ต้องพิจารณาไตร่ตรอง ในเหตุผล ถ้ามีเหตุผลก็ขอให้แสดงเหตุผลว่ามาจากไหน ข้อความที่สอนกันมาว่าให้ใส่ชุดขาว ให้นุ่งขาวห่มขาวไปฟังธรรมะ

ผศ.อรรณพ คือ ลำบากครับท่านอาจารย์ เพราะว่า ผู้สอนธรรมะส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ได้สอนตามพระไตรปิฎก แม้ดูเหมือนว่าจะอ้างตามพระไตรปิฎก แต่ไม่ตรงตามในพระไตรปิฎก แล้วผู้ฟังก็ไม่ได้มีโอกาสสอบทานเทียบเคียงกับในพระไตรปิฎก พอพระสอนมาอย่างนี้ก็เชื่อตามอย่างนี้ พ่อแม่ครอบครัวก็ฟังมาอย่างนี้ แต่ไม่เคยได้ฟัง ศึกษา ในพระธรรมวินัยจริงๆ ที่เป็นพระไตรปิฎก ซึ่งก็เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาตามพระไตรปิฎก สอบทานด้วย

ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืมว่า บริษัทคือหมู่คณะ พุทธบริษัทในครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี ๔ คือ ภิกษุ ๑ ภิกษุณี ๑ อุบาสก ๑ อุบาสิกา ๑ ไม่สับสนกัน การฟังธรรมที่จะเข้าใจ สามารถเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ ถ้าจะเป็นบรรพชิต ก็ต้องเป็นภิกษุในธรรมวินัย ไม่ใช่ว่ายังคงเป็นคฤหัสถ์เล่นจำอวด หรือพูดธรรมะแบบไหน ซึ่งถ้าใครสามารถที่จะกล่าวจำอวดเป็นธรรมะได้ คนนั้นไม่เข้าใจธรรมะ มิฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกต้องทำอย่างนี้ เพื่อที่จะให้คนมาสนใจสนุกสนาน นี่คือการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่ใช่เป็นการที่กล่าวร้าย แต่เป็นการที่ให้ทุกคน ที่จะดำรงรักษาพระศาสนา ได้เข้าใจให้ถูกต้อง ว่าการที่จะดำรงพระศาสนา ต้องเข้าใจพระศาสนาก่อน ใช่ไหม? ถ้าไม่เข้าใจพระศาสนาก่อน แล้วจะดำรงพระศาสนาได้อย่างไร? ไม่รู้ดำรงอะไร? ดำรงความเห็นผิด นุ่งขาวห่มขาว ไปวัด สวดมนต์ข้ามปี บวชตั้งร้อยตั้งพัน ถึงล้าน นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเลย เป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นการดำรงรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!!

ต้องเข้าใจว่าอะไรถูก อะไรผิด แล้วกล้า ที่จะทำสิ่งที่ถูก ถ้าเป็นสิ่งที่ถูก แล้วกลัวอะไร? เพราะถูกต้อง แต่ถ้าผิด ก็รีบแก้ไขเสีย เปลี่ยนเสีย เลิกเสีย หันกลับมาเป็นผู้ที่ตื่น ศึกษาธรรม เข้าใจธรรม แล้วก็รักษาพระศาสนาได้ โดยการที่เข้าใจทั้งพระธรรมและพระวินัย

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎกอังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาตเล่ม ๔ - หน้าที่ 260

๘. อัคคิขันธูปมสูตร

[๖๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จดําเนินไปสู่ทางไกล ได้ทอดพระเนตรเห็นไฟกองใหญ่ กําลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่ ในที่แห่งหนึ่ง จึงเสด็จแวะจากทางประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ใกล้ โคนไม้แห่งหนึ่ง ครั้นแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นไฟกองใหญ่โน้นที่กําลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วง อยู่หรือไม่ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสําคัญความข้อนั้น เป็นไฉน การเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดกองไฟใหญ่โน้น ที่กําลัง ลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่ กับการเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้า อ่อนนุ่ม อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การที่บุคคลเข้าไปนั่งกอดหรือ นอนกอดพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม นี้ประเสริฐกว่า ส่วนการที่บุคคลเข้าไป นั่งกอดหรือนอนกอดกองไฟใหญ่โน้น ที่กําลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่ เป็นทุกข์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติสกปรกน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็น สมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติ พรหมจรรย์ เน่าใน มีความกําหนัดกล้า เป็นดังหยากเยื่อ เข้าไป นั่งกอดหรือนอนกอดพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์หรือบุตรสาว คฤหบดี จะประเสริฐอย่างไร การเข้าไปนั่งกอดนอนกอดกองไฟ ใหญ่โน้นที่กําลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่ นี้ดีกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร

ข้อนั้นเพราะ การเข้าไปกอดกองไฟใหญ่นั้นเป็นเหตุ แต่ผู้นั้นเมื่อตายไป ไม่พึง เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาติ นรก เพราะการเข้าไปกอดกองไฟใหญ่ นั้นเป็นปัจจัย ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก มีความ ประพฤติสกปรก น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่า ประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน มีความกําหนัดกล้า เป็นดังหยากเยื่อ เข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์หรือ บุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่มนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ ตลอดกาลนานแก่เขา และ ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การที่บุรุษ มีกําลัง เอาเชือกหนังอันเหนียวแน่นพันแข้งทั้งสองข้างแล้วชักไปมา เชือกหนังพึงบาดผิว บาดผิวแล้ว พึงบาดหนัง บาดหนังแล้ว พึง บาดเนื้อ บาดเนื้อแล้ว พึงตัดเส้นเอ็น ตัดเส้นเอ็นแล้ว พึงตัดกระดูก ตัดกระดูกแล้ว หยุดอยู่จดเยื่อในกระดูก กับการยินดีการกราบไหว้แห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอ เตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคลผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นดังหยากเยื่อ ยินดี การกราบไหว้แห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือ คฤหบดีมหาศาล จะดีอย่างไร การที่บุรุษมีกําลัง เอาเชือกหนัง อันเหนียวแน่นพันแข้งทั้งสองข้าง แล้วชักไปชักมา เชือกหนัง พึงบาดผิว ฯลฯ หยุดอยู่จดเยื่อในกระดูก นั้นดีกว่า ... ฯลฯ ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคลผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นดังหยากเยื่อ ยินดีอัญชลีกรรมของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล จะดีอย่างไร การที่บุรุษกําลัง เอาหอกอันคมชะโลม น้ํามัน พุ่งใส่กลางอก นั้นดีกว่า ... ฯลฯ ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคลนั้นทุศีล ฯลฯ เป็นดังหยากเยื่อ บริโภคจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์ มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล. จะดีอย่างไร การที่บุรุษมีกําลัง เอาแผ่นเหล็กแดง ไฟกําลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงนาบกายตัว นี้ดีกว่า ... ฯลฯ ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคลผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นดังหยากเยื่อ บริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล จะดีอย่างไร การที่ บุรุษมีกําลัง เอาขอเหล็กแดงไฟกําลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงเกี่ยวปาก อ้าไว้ แล้วกรอกก้อนเหล็กแดง ไฟกําลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงเข้าในปาก ก้อนเหล็กแดงนั้นจะพึงไหม้ริมฝีปาก ... แล้วออกทางทวาร เบื้องต่ำ นี้ดีกว่า ... ฯลฯ ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคลผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นดังหยากเยื่อ บริโภคเตียงตั่งที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล จะดีอย่างไร การที่บุรุษ ผู้มีกําลัง จับที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วให้นั่งทับหรือนอนทับเตียง หรือตั่งเหล็กแดง ไฟกําลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วง นั้นดีกว่า ... ฯลฯ ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคลผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นดังหยากเยื่อ บริโภควิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา การที่บุรุษมีกําลัง จับเอา เท่านั้น เอาหัวลง โยนลงในหม้อเหล็กแดง ไฟกําลังลุกรุ่งโรจน์ โชติช่วง ถูกไฟเผาเดือดดุจฟองน้ํา ในหม้อเหล็กแดงนั้น บางครั้ง ลอยขึ้นข้างบน บางครั้งจมลงข้างล่าง บางครั้งลอย ไปขวางๆ นี้ดีกว่า ... ฯลฯ ...

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นพึงเข้าถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย มีข้อนั้นเป็นเหตุ แต่ผู้นั้นเมื่อตายไป ไม่พึงเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย ส่วนการที่บุคคล ผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นดังหยากเยื่อ บริโภค จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่เขาถวายด้วยศรัทธานั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่บุคคลผู้ทุศีลนั้น และบุคคลผู้ทุศีลนั้น เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะ เหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายบริโภค จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ของชนเหล่าใด ปัจจัยของชนเหล่านั้น จักมีผลมาก มีอานิสงส์มากและ การบรรพชาของเราทั้งหลายจักไม่เป็นหมัน มีผล มีกําไร ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

อนึ่ง เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์นั้น ควรแท้ทีเดียว ที่จะให้ประโยชน์นั้นสําเร็จด้วยความไม่ประมาท เมื่อพิจารณา เห็นประโยชน์ผู้อื่น ก็ควรแท้ทีเดียวที่จะให้ประโยชน์นั้นสําเร็จ ด้วยความไม่ประมาท หรือเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ทั้งสอง ก็ควรแท้ทีเดียวที่จะให้ประโยชน์ทั้งสองนั้นสําเร็จด้วยความไม่ประมาท.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว และเมื่อกําลังตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ โลหิตร้อนพุงออกจากปาก ของภิกษุ ๖๐ รูป (พวกต้น) ภิกษุ ๖๐ รูป (พวกกลาง) ลาสิกขา สึกมาเป็นคฤหัสถ์ ด้วยกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทําได้ยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทําได้แสนยาก อีก ๖๐ รูป จิตหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น.

จบ อัคคิขันธูปสูตรที่ ๘

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ ดร.มล.ญาศินี จักรพันธุ์ คณาจารย์และนักศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกท่าน และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ

... ... ...

ขอเชิญชมบันทึกการถ่ายทอดสดการสนทนาธรรมในวันนี้ได้ที่นี่ ...



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 18 ม.ค. 2560

คลิปวีดีโอ น้องเคนจะบวชไหม

จากการสนทนาธรรมที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อนุโมทนาในกุศลศรัทธาของอาจารย์ ดร. ม.ล. ญาศินี จักรพันธุ์ ผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมที่มีค่าอย่างยิ่งในครั้งนี้ ตลอดจนถึงคณาจารย์และนักศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 19 ม.ค. 2560

" ถ้าไม่เข้าใจพระศาสนาก่อน แล้วจะดำรงพระศาสนาได้อย่างไร? ไม่รู้ดำรงอะไร? ดำรงความเห็นผิด นุ่งขาวห่มขาว ไปวัด สวดมนต์ข้ามปี บวชตั้งร้อยตั้งพัน ถึงล้าน นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเลย เป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นการดำรงรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!! "

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อนุโมทนาในกุศลศรัทธาของอาจารย์ ดร. ม.ล. ญาศินี จักรพันธุ์ ผู้เห็นคุณประโยชน์ยิ่งของพระธรรม ตลอดจนถึงคณาจารย์และนักศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุกท่าน
อนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม ถ่ายทอดความงามของพระธรรมพร้อมด้วยภาพกิจกรรมที่สำคัญในครั้งนี้ และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย kullawat  วันที่ 19 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย orawan.c  วันที่ 19 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย Dechachot  วันที่ 19 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 26 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ