สวัสดีครับ วันนี้ผมมีกุศลจิตที่ดีมาก มีสติมีปัญญาขั้นพิจารณานามรูป ซึ่งเป็นปัญญาขั้นแรก จึงเห็นว่ามีประโยชน์ ถ้าเราจะมาศึกษาเพื่อเจริญปัญญากันตั้งแต่ขั้นแรกๆ ก็จะดีไม่น้อยนะครับ สำหรับธรรมที่ช่วยให้เกิดปัญญา หรือเจริญปัญญา ก็คือ
//nkgen.com/35.htm เมื่อเจริญแล้วก็ศึกษาทำความเข้าใจถึง...
//nkgen.com/715.htm อ่าน เข้าใจ พิจารณา เจริญบ่อยๆ ครับ สาธุๆ
ธรรมไม่ใช่ข้อง่าย อย่าประมาทธรรมของพระพุทธเจ้านะครับ ให้ทุกวันทั้งชีวิต ทุกลมหายใจเติมเต็มด้วยสัมโพชฌงค์และปัญญาที่องค์บรมโลกนาถทรงสั่งสอนไว้ดีแล้วนะครับ ผมเพิ่งมีความคิดเห็นว่า ธรรมเป็นเรื่องของการละ คลาย ความยึดมั่น ถือผิด จริงๆ ก็วันนี้ ที่ได้เจริญปัญญาขั้นแรกครับ อิอิฯ
ผู้ที่ได้ปัญญาแล้ว จะไม่มีความสงสัยใดเหลืออยู่เลย ผมเข้าใจอย่างนั้นครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรียนสนทนาด้วยครับ จากลิงก์ที่ให้มานั้น แสดงถึงเรื่องโพชฌงค์ ๗ และวิปัสสนาญาณ ๑๖ ขั้น ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งครับ สำหรับโพชฌงค์ คือ องค์แห่งการตรัสรู้นั้น เป็นเรื่องของปัญญาระดับสูงมาก ไม่ใช่ปัญญาเบื้องต้นที่จะทำให้ถึงโพชฌงค์ได้ครับ ต้องเป็นปัญญาที่มีกำลังมากแล้วถึงจะเป็นโพชฌงค์
ซึ่งกระผมจะขอยกข้อความในแต่ละเรื่องและอธิบายให้เข้าใจว่าถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหรือไม่ครับ เพราะหากเข้าใจผิด อ่านในสิ่งที่แสดงผิดโดยไม่รู้ตัว ก็จะเข้าใจผิดและทำให้เข้าใจว่าปัญญาเกิดแล้ว ลองค่อยๆ อ่านพิจารณาเหตุผลนะครับ
โพชฌงค์ คือ องค์แห่งการตรัสรู้นั้น เป็นเรื่องของปัญญาระดับสูงมาก ดังนั้น องค์แต่ละองค์ในโพชฌงค์ ๗ ก็ต้องมีความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ประการแรก สติสัมโพชฌงค์ก็ต้องเป็นสติปัฏฐานที่เกิดบ่อยจนมีกำลังแล้วทั่วทุกทวาร ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ จนชำนาญแล้ว จนสตินั้นมีกำลังเป็นสติสัมโพชฌงค์ จึงเป็นเรื่องที่ไกลและยากมากครับ ซึ่งจากข้อความในลิงก์เรื่องสติสัมโพชฌงค์ ที่กล่าวว่าความระลึกได้ ความระลึกได้บ่อยๆ ในกิจ (สิ่งที่ควร) ที่ทำมาไว้แล้ว ความไม่เผลอเรอ ความมีสติกํากับอยู่ในกิจ หรืองาน หรือธรรมที่ปฏิบัติ ...
จากข้อความนี้ แสดงให้เห็นว่าสติสัมโพชฌงค์เป็นเพียงสติขั้นคิดพิจารณาเท่านั้น ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เป็นความไม่เผลอเรอ ซึ่งในความเป็นจริง สติสัมโพชฌงค์ไม่ใช่เป็นอย่างนั้นครับ เพราะสติสัมโพชฌงค์จะต้องเป็นสติที่ระลึกถึงสภาพธรรมที่มีกำลัง ที่ระลึกมาบ่อยแล้วโดยไม่ใช่การระลึกด้วยการคิด ไม่เผลอเรอ หรือการรู้ว่ากำลังทำอะไร ก็ไม่ใช่ความหมายของสติเลยครับ ซึ่งต้องมีตัวธรรมให้สติระลึกขณะนี้เอง โดยไม่ใช่การคิดนึกครับ
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ถูกต้อง ต้องเป็นปัญญา คือปัญญาระดับสูงมากที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ โดยไม่ใช่การคิดนึกครับ ซึ่งจากข้อความในลิงก์ แสดงเรื่องนี้ ว่า ธรรมวิจัย ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม การพิจารณาในธรรม อันครอบคลุมถึงการเลือกเฟ้นธรรมที่ถูกต้อง ดีงาม ถูกจริต และการค้นคว้า การพิจารณา การไตร่ตรองด้วยปัญญา หรือการโยนิโสมนสิการให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องอย่างแท้จริง
เมื่ออ่านโดยพิจารณาละเอียด จะเห็นความจริง ว่า ธัมมวิจยะในข้อความนี้ เป็นเพียงปัญญาที่ขั้นพิจารณาธรรมเท่านั้นครับ เป็นเพียงการคิดนึก และจากข้อความแสดงถึงเรื่องปัญญากับโยนิโสมนสิการว่าคือสภาพธรรมเดียวกัน ซึ่งไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าในความเป็นจริง โยนิโสมนสิการและปัญญาเป็นสภาพธรรมคนละอย่างกันครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...
ขอเรียนถามเรื่องการทำโยนิโสมนสิการ
โยนิโสมนสิการ
และจากที่ได้อ่าน องค์ของการตรัสรู้ในลิงก์ในข้อต่างๆ ก็ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง ไม่ว่าวิริยะก็จะต้องมีความเพียรที่จะต้องทำ มีตัวตนที่จะพยายาม ซึ่งขอให้เราเข้าใจพื้นฐานครับว่าไม่ใช่ว่าการจะอบรมปัญญา ต้องค่อยๆ อบรมทีละโพชฌงค์แต่ละข้อ แต่เมื่อปัญญาเกิดรู้ความจริงที่มีกำลัง ก็มีสติด้วย มีปัญญา (ธัมมวิจยะ) วิริยะก็มีในขณะนั้นไม่ต้องมาทำความเพียร มีปิติ มีอุเบกขา เป็นต้น ในขณะนั้นครับ
ดังนั้น ที่กล่าวมา โพชฌงค์เป็นเรื่องละเอียดและยากมาก เป็นปัญญาระดับสูง และการอ่านก็ต้องพิจารณาว่าสิ่งที่ได้อ่านถูกต้องหรือไม่ จึงต้องเริ่มจากการศึกษาพระธรรมเบื้องต้น แม้แต่คำว่าธรรมคืออะไร ไม่ต้องไปไกล เพราะอาจทำให้เข้าใจธรรมผิด อย่างเช่นในกรณีนี้ได้ รวมทั้งวิปัสสนาญาณก็เป็นเรื่องของปัญญาระดับสูงมาก แม้แต่สติปัฏฐานก็ยาก และแม้แต่ความเข้าใจขั้นการฟังที่จะเข้าใจในเรื่องธรรม จึงไม่ต้องไปไกล เริ่มในหนทางที่ถูก ช้าๆ ดีกว่าเข้าใจผิด คิดว่าเข้าใจแล้ว สติและปัญญาเกิดแล้ว สติและปัญญาเกิดได้อย่างไร หากความเข้าใจขั้นการฟังยังไม่ถูกต้องครับ ดังนั้น ขอให้กลับไปเริ่มที่ความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่าธรรมคืออะไร ไม่ต้องไปไกล แต่เริ่มให้ถูกครับ จะเป็นประโยชน์และไม่ทำให้เดินในหนทางที่ผิดครับ
ที่สำคัญที่สุด คือการเสพคุ้น ฟังหรือศึกษาในสิ่งที่แสดงผิด ย่อมทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ควรพิจาณาด้วยปัญญาและงดเว้นจากศึกษาในหนทางที่ผิด และกลับมาศึกษาเบื้องต้นในหนทางที่ถูกครับ
ขออนุโมทนา
"รู้ธรรม ไม่ใช่การคิดนึกเอาเอง"
ผมเข้าใจถูกหรือไม่ครับ ธรรมที่ได้ยกขึ้นมาอธิบายนั้น เป็นของหลวงพ่อท่านหนึ่งได้อธิบายไว้ทั้ง ๒ เรื่องครับ ผมก็ไม่อาจเข้าใจเนื้อหาได้โดยละเอียด ดังที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาอธิบายให้ได้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น
จากข้อความข้างต้นที่ผมได้กล่าวและได้ฟังท่านอาจารย์อธิบาย ผมมีความเห็นว่า ผมมีความเข้าใจถึงสภาพธรรมผิดไปจริงๆ ไม่เข้าใจถึงสติ ไม่เข้าใจถึงปัญญาอย่างแท้จริง ทั้งไม่อาจมีสติและปัญญาจริงๆ ได้เลย จึงทำให้ผมเข้าใจได้ถึงสภาพธรรมที่กล่าวไว้นั้นว่าเป็นเพียงสัญญาหรือไม่ก็สังขารเท่านั้น
ผมอนุโมทนาข้อความของท่านอาจารย์ยิ่งครับ
จริงอยู่ ความเข้าใจถูกนั้น ต้องผิดก่อนเสมอ สาธุๆ
เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ
ขออนุโมทนาด้วยครับ ขอให้เริ่มจากความเข้าใจถูกเบื้องต้นก่อน ผู้ที่มีความเห็นถูกย่อมรู้ว่าความเข้าใจผิดคืออย่างไร และเคยเข้าใจผิดอย่างไร ซึ่งอาศัยการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง ย่อมทำให้กลับมาสู่ความเห็นถูก และหลีกเลี่ยงไม่เสพคุ้นกับธรรมที่ผิดครับ ธรรมจึงไม่ใช่เรื่องคิดเอง แต่อาศัยการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง ย่อมน้อมไปสู่ความเห็นถูกครับ
ขออนุโมทนาในความเห็นถูกของ คุณ dets25226 ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นยังไม่ต้องไปถึงโพชฌงค์ (องค์ธรรมที่ทำให้ถึงความตรัสรู้) ก็ได้ เพราะยังไม่ถึง เป็นเรื่องที่ไกลมาก ต้องเริ่มสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น เนื่องจากว่าปัญญาขั้นสูงๆ เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ อันเป็นความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้นั้น ต้องเริ่มสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมตั้งแต่ในขณะนี้ เมื่ออบรมเจริญเหตุอย่างถูกต้อง คือการอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ในที่สุดแล้วก็ย่อมจะมีโอกาสถึงขณะที่ปัญญาถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อมได้ ที่สำคัญคือธรรมเป็นอนัตตา ไม่ใช่ไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตนหรือด้วยความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม ถ้าไปบังคับหรือไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิดเข้าใจผิดนั้น ไม่ใช่หนทางแล้ว ย่อมจะห่างไกลจากการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงออกไปทุกทีๆ ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
การศึกษาสิ่งที่แสดงไว้ผิดและเผยแพร่คำสอนผิดๆ นั้น มีโทษมาก เพราะจะทำให้มีความเห็นผิดที่มีกำลังมาก แม้คนส่วนมากมักชอบคำสอนที่ฟังง่าย แต่ความเรียบง่ายนั้นจะต้องถูกต้องด้วย ไม่ใช่ฟังง่ายแต่เป็นคำสอนที่ผิดอันเกิดจากความเข้าใจผิด หรือด้วยความเกียจคร้านที่จะศึกษาโดยละเอียด
ผู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ที่ละเอียดเป็นคำสอนที่ฟังง่ายๆ ได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีปัญญาและศึกษาในศาสตร์นั้นอย่างแตกฉานแล้ว รวมทั้งมีทักษะในการใช้ภาษาและน้ำเสียงด้วย ซึ่งหาได้ยากในทุกยุคสมัย
นับเป็นบุญที่เราได้สะสมไว้แล้ว จึงมีโอกาสได้เกิดมาพบกับการบรรยายธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ ซึ่งสามารถอธิบายพระธรรมที่แสนละเอียดได้ด้วยภาษาที่เรียบง่าย ไพเราะและถูกต้อง จึงไม่ควรประมาทในการศึกษาพระธรรมครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาที่เป็นผู้ตรง ที่รู้ตัวว่าเข้าใจสภาพธรรมผิด จะได้แก้ไขได้ด้วยการอบรม ด้วยการฟังธรรม เพราะความเข้าใจจะค่อยๆ ละคลายความเห็นผิดค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ เมื่อได้มาฟังธรรมท่านอาจารย์ สุจินต์ บรรยาย แม้สติจะไม่เกิดระลึกรู้สภาพธรรมแต่ก็รู้ได้ถึงความเข้าใจและยังไม่เคยคิดที่จะไปฟังที่ไหนอีกเลยค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ