พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 576
อธิบายเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓
บรรดามังสะ ๓ อย่างนั้น มังสะที่ชื่อว่า ไม่ได้เห็น คือ ไม่เห็นชาวบ้านฆ่าเนื้อและปลา เอามาเพื่อประโยชน์แก่พวกภิกษุ. ที่ชื่อว่าไม่ได้ยิน คือ ไม่ได้ยินว่า พวกชาวบ้านฆ่าเนื้อ ปลา เอามาเพื่อประโยชน์แก่พวกภิกษุ, ส่วนที่ไม่ได้รังเกียจ ผู้ศึกษาควรรู้จักมังสะที่รังเกียจด้วยการเห็น รังเกียจด้วยการได้ยิน และที่รังเกียจพ้นจากเหตุทั้งสองนั้น แล้วพึงทราบโดยส่วนตรงกันข้ามจากสามอย่างนั้น. คือ อย่างไร? คือว่า พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นพวกชาวบ้านถือแหและตาข่ายเป็นต้น กำลังออกไปจากบ้าน หรือกำลังเที่ยวไปในป่า. และในวันรุ่งขึ้น พวกชาวบ้านนำบิณฑบาตมีปลาและเนื้อมาถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้เข้าไปยังบ้านนั้นเพื่อบิณฑบาต. ภิกษุเหล่านั้นรังเกียจด้วยการได้เห็นนั้นว่า พวกชาวบ้านทำเนื้อเพื่อประโยชน์แก่พวกภิกษุหรือหนอแล? มังสะนี้ ชื่อว่า รังเกียจโดยได้เห็นมา. จะรับมังสะเช่นนั้น ไม่ควร. มังสะที่ไม่ได้รังเกียจเช่นนั้นจะรับ ควรอยู่. ก็ถ้าพวกชาวบ้านเหล่านั้น ถามว่า ทำไม ขอรับ ! ท่านจึงไม่รับ ? ได้ฟัง
ความนั้นแล้ว พูดว่า มังสะนี้ พวกกระผมไม่ได้กระทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย, พวกกระผมกระทำเพื่อประโยชน์แก่ตนบ้าง เพื่อประ-โยชน์แก่ข้าราชการเป็นต้นบ้าง ดังนี้, มังสะนั้น ควร. ภิกษุทั้งหลายหาเห็นไม่แล, แต่ได้ฟังว่า ได้ยินว่า พวกชาวบ้านมีมือถือแหและตาข่ายออกจากบ้าน หรือเที่ยวไปในป่า และในวันรุ่งขึ้นพวกชาวบ้านนำบิณฑบาตมีปลาและเนื้อมาถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้เข้าไปยังบ้านนั้น เพื่อบิณฑบาต. พวกเธอสงสัยด้วยการได้ยินนั้นว่า เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย หรืออย่างไรหนอ ? มังสะนี้ ชื่อว่ารังเกียจด้วยได้ยินมา. จะรับมังสะนั้น ไม่ควร. มังสะที่ไม่ได้สงสัยอย่างนี้จะรับ ควรอยู่. ก็ถ้าพวกชาวบ้านเหล่านั้น ถามว่า ทำไม ขอรับ ! ท่านจึงไม่รับเล่า? ได้ฟังความนั้นแล้ว จึงพูดว่า มังสะนี้ พวกกระผมไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย, พวกกระผมทำเพื่อประโยชน์แก่ตนเองบ้าง เพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการเป็นต้นบ้าง ดังนี้, มังสะนั้นควรอยู่. อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาเลย, แต่เมื่อพวกภิกษุเหล่านั้นเข้าไปยังบ้านนั้นเพื่อบิณฑบาต ชาวบ้านรับบาตรไปแล้ว จัดบิณฑบาตมีปลา เนื้อ นำมาถวาย. พวกเธอรังเกียจว่า มังสะนี้ เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย หรืออย่างไรหนอ? นี้ชื่อว่า มังสะที่รังเกียจพ้นจากเหตุทั้งสองนั้น. แม้มังสะเช่นนั้น ก็ไม่สมควรรับ. มังสะที่ไม่ได้รังเกียจอย่างนั้น จะรับ ควรอยู่ ก็ถ้าว่าพวกชาวบ้านเหล่านั้น ถามว่า ทำไม ขอรับ ! พวกท่านจึงไม่รับ? แล้วได้ฟังความนั้น จึงพูดว่า มังสะนี้ พวกกระผมไม่ได้กระทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย,พวกกระผมกระทำเพื่อประโยชน์แก่ตนบ้าง เพื่อประโยชน์แก่พวกข้าราช-การเป็นต้นบ้าง, หรือว่า พวกกระผมได้ปวัตตมังสะ เฉพาะที่เป็นกัปปิยะเท่านั้น จึงปรุงให้สำเร็จเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย มังสะนั้น ควรอยู่.แม้ในมังสะที่เขาทำเพื่อประโยชน์แห่งเปตกิจ แก่ผู้ตายไปแล้วก็ดี เพื่อประโยชน์ แก่งานมงคลเป็นต้นก็ดี ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. จริงอยู่มังสะชนิดใดๆ ที่เขาไม่ได้กระทำเพื่อภิกษุทั้งหลายเลย และภิกษุก็ไม่มีความสงสัยในมังสะใด, มังสะนั้นๆ ควรทั้งนั้น...