ถ. ที่กล่าวว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คืออภิธรรม ขอให้อาจารย์ขยายความ การระลึกรู้ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมว่า จะต้องทำอย่างไร มีการระลึกรู้อย่างไร
สุ. ถ้ายังไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในขณะนี้อย่างถูกต้องจริงๆ ก็ปฏิบัติธรรมไม่ได้ ไม่มีใครปฏิบัติธรรมได้ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ ถ้ามีใครชวนไปดูหนังก็ไปดูได้ ใครชวนไปซื้อของก็ไปด้วยได้ ใครชวนไปเที่ยวก็ไปได้ ใครชวนไปปฏิบัติแต่ยังไม่รู้อะไรเลยจะปฏิบัติได้ไหม ฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งหมดจะต้องเข้าใจถูกก่อนว่า ปฏิบัติคืออะไร
อย่าเข้าใจว่าปฏิบัติคือทำก็จะทำ การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่อย่างนั้นเลย กำลังเห็นขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏทางตา ขณะที่ได้ยิน มีเสียง และมีได้ ยินด้วย ขณะที่รับประทานอาหารก็ลิ้มรส ขณะที่กระทบสัมผัสทางกาย ก็รู้สึกเย็นบ้าง ร้อนบ้าง แข็งบ้าง ไหวบ้าง ถ้าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่ใช่เราหรือตัวตนที่จะปฏิบัติ
ปริยัติ คือศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ต้องไปแสวงหาที่อื่นเลย ขณะนี้ก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มีท่านผู้หนึ่งท่านเที่ยวไปเสาะแสวงหาธรรมหลายจังหวัด แต่เมื่อท่านเข้าใจธรรมแล้ว ก็รู้ว่าทันทีที่ลืมตาตื่นก็มีธรรมปรากฏ จนกระทั่งหลับไป ขณะหลับโลกไม่ปรากฏ ไม่มีอะไรๆ ปรากฏเลยทั้งสิ้น เวลาหลับสนิทไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร อยู่ที่ไหน ไม่รู้ อะไรเลยทั้งสิ้น แต่จิตก็เกิดดับดำรงภพชาติให้เป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่าตื่นอีก เห็นอีก ได้ยินอีก จนกว่าจะตายไป
เมื่อยังไม่รู้ไม่เข้าใจว่าโลกที่ปรากฏทางตานั้นเป็นโลกหนึ่ง โลกเสียง สูง ต่ำ ที่ปรากฏทางหูก็เป็นโลกหนึ่ง โลกที่ปรากฏทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เป็นแต่ละโลก เมื่อยังไม่รู้อย่างนี้ก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น คือเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นสังขารขันธ์ (ขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕) ที่ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกได้ และเริ่มพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และเข้าใจแล้วจากการฟังเพื่อให้รู้ชัดและประจักษ์แจ้งว่า ธรรมที่ปรากฏนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ ตรงกับพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังทุกประการ
ฉะนั้น ก่อนอื่นอย่าเพิ่งปฏิบัติ ต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก่อน เพราะขณะปฏิบัตินั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด เช่น สติเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ปัญญาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง วิริยะเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ในขณะนั้นสภาพธรรมหลายอย่างเกิดรวมกัน แต่เมื่อไม่รู้ ก็คิดว่าเราปฏิบัติ แต่ความจริงนั้นเป็นสภาพธรรมประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของธรรมนั้นๆ ขณะนี้จิตกำลังปฏิบัติกิจของจิต คือ เห็น ขณะที่เห็นนี้แหละเป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจเห็น เป็นจักขุวิญญาณ จิตนั้นเรียกวิญญาณก็ได้ แต่เพราะจิตมีมากมายหลายชนิด จิตเห็นต้องอาศัยตาเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้นเห็นได้ ฉะนั้น จึงเรียกจิตนี้ที่ทำกิจเห็นนี้ว่า จักขุวิญญาณ คือเป็นจิตที่อาศัยตาเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้
ต้องเข้าใจสภาพธรรมเหล่านี้ก่อน จึงจะรู้ว่าสภาพธรรมที่กำลังเข้าใจนี้เป็น สังขารขันธ์ที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมที่เข้าใจขึ้นอีกเมื่อฟังและพิจารณาสภาพธรรมมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อเห็นก็ระลึกรู้ว่าสภาพเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นจิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน นี่คือการปฏิบัติอบรมเจริญปัญญา
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 7