[คำที่ ๑๖๑] ปสาสน
โดย Sudhipong.U  25 ก.ย. 2557
หัวข้อหมายเลข 32281

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  ปสาสน

คำว่า ปสาสน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - สา - สะ - นะ] แปลว่า การปกครอง หรือ แนะนำ เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งมาก มีความหมายทั้งการปกครองทั่วๆ ไป เช่น พระราชาปกครองบ้านเมือง (ข้อความจาก ชาตกัฏฐกถา อรรถกถา   เวสสันดรชาดก ว่า บทว่า สิวิรฏฺเฐ ปสาสตุ ความว่า ขอพระเวสสันดรนั้นจงเป็นราชาปกครองในพระนครนี้) เป็นต้น และยังมีนัยที่ลึกซึ้ง  คือ หมายถึงเครื่องปกครอง หรือ เครื่องแนะนำที่ดีอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยสูตร ว่า

เทวดา ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า อะไรหนอ ย่อมปกครองคนนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ปัญญา ย่อมปกครองคนนั้น

ข้อความจากอรรถกถามีว่า บทว่า ปญฺญา เจนํ ปสาสติ อธิบายว่า ปัญญา ย่อมแนะนำว่า ท่านจงกระทำสิ่งนี้ อย่ากระทำสิ่งนี้ กะคนนั้น   ดังนี้.


พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระธรรมคำสอนที่เกิดจากการตรัสรู้ของพระองค์ ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นเวลาที่นานมาก และเป็นการที่ยากมากกับที่จะได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง     เพราะฉะนั้น การได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ที่สืบทอดมาจนถึงสมัยปัจจุบันนี้ จึงเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต ซึ่งจะต้องเป็นผู้สะสมศรัทธาเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมมาแล้ว จึงมีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษา ได้สะสมปัญญาต่อไป เพราะพระธรรม ไม่ได้สาธารณะกับทุกคน

พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง นั้น เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังและน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามอย่างแท้จริง เป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไป พร้อมทั้งยังเป็นเหตุปัจจัยให้บรรลุถึงประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น แต่จะไม่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ไม่ได้ฟังไม่ได้ศึกษา หรือ ศึกษาด้วยจุดประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง 

ในชีวิตประจำวัน ประโยชน์ของการมีชีวิต คือ เพื่ออบรมเจริญปัญญา จากที่ไม่เคยเข้าใจความจริง จากที่เต็มไปด้วยความมืดคือ อวิชชา และกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ยิ่งขึ้น เมื่อมีปัญญาเจริญขึ้น ก็จะทำให้เป็นผู้มีชีวิตที่ดำเนินไปด้วยปัญญาตามที่ตนมี เปลี่ยนจากที่เคยอยู่ด้วยกิเลสประการต่างๆ มากมาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น     เป็นผู้อยู่ด้วยกุศลที่เพิ่มขึ้น หมายความว่า กุศลธรรม ค่อยๆ เจริญขึ้น

บุคคลผู้มีปัญญา ย่อมรู้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูก อะไรผิด แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ จึงเป็นเสมือนมีเครื่องปกครอง หรือเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ว่าสิ่งนี้ท่านควรทำ สิ่งนี้ท่านไม่ควรทำ สิ่งนี้ควรอบรมให้เจริญมากขึ้น เป็นต้น เพราะปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นนั่นเอง และเป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาจะเลือกทำสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้น สิ่งที่ประเสริฐสำหรับชีวิตของทุกคนก็คือ ปัญญา แล้วปัญญาจะมาจากไหน ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ต้องอาศัยเหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โดยไม่ขาดการฟัง  ไม่ขาดการพิจารณาไตร่ตรองพระธรรม เพราะการฟังพระธรรม ด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เท่านั้น จึงจะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญาในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ