ขุททกนิกาย จุฬนิทเทส ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทส มีข้อความว่า
ท่านปุณณกะทูลถามดังนี้ว่า
ข้าพระองค์มีความประสงค์ด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ไม่มีตัณหาเครื่องหวั่นไหว ผู้เห็นมูล ฤๅษี มนุษย์ กษัตริย์ พราหมณ์ เป็นอันมากในโลกนี้ อาศัยอะไรจึงพากันแสวงหายัญให้แก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์เถิด
ข้อความในพระไตรปิฎกอธิบายว่า
ความว่า อาศัย คือ หวัง เยื่อใย เข้าไปใกล้ พัวพัน น้อมใจถึง ซึ่งอะไร จึงพากันแสวงหายัญให้แก่เทวดาทั้งหลาย
เทวดา คือ ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพ เยื่อใย น้อมใจถึงของบุคคลแต่ละประเภท
ท่านที่มีการให้ ไม่ได้พ้นไปจากการแสวงหายัญเลย เพราะเหตุว่าท่านหวัง เยื่อใย เข้าไปใกล้ พัวพัน น้อมใจถึง แล้วก็พากันแสวงหายัญให้แก่เทวดาทั้งหลาย
ส่วนเทวดานั้น คืออย่างไร คือผู้ใด
เทวดา คือ ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพ เยื่อใย น้อมใจถึงของบุคคลแต่ละประเภท เช่น อาชีวกเป็นเทวดาของพวกอาชีวกสาวก นิครนถ์เป็นเทวดาของพวกนิครนถ์สาวก ชฏิลเป็นเทวดาของพวกชฏิลสาวก ปริพาชกเป็นเทวดาของพวกปริพาชกสาวก ดาบสเป็นเทวดาของพวกดาบสสาวก ช้างเป็นเทวดาของพวกประพฤติหัตถีพรต ม้าเป็นเทวดาของพวกประพฤติอัศวพรต โคเป็นเทวดาของพวกประพฤติโคพรต ท่านเลื่อมใส พัวพัน น้อมใจเข้าไปใกล้ในบุคคลใด บุคคลนั้นก็เป็นเทวดาของท่าน
ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของเทพประเภทอื่น ซึ่งเทพแต่ละจำพวกก็เป็นเทวดาของพวกที่หวัง เยื่อใย พัวพันอยู่ในเทพนั้น และในความประพฤติอย่างเทพแต่ละพวกนั้น
ส่วนคำว่า แสวงหายัญ ยัญคืออะไร ในพระไตรปิฎกมีคำอธิบายว่า
ไทยธรรม คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป ท่านเรียกว่า ยัญ ในอุทเทศว่า ยญฺญมกปฺปึสุ ปุถูธ โลเก
คำอธิบายต่อไปมีว่า
แม้ชนเหล่าใดย่อมแสวง เสาะหา สืบหายัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะเป็นต้นไปจนกระทั่งถึงเครื่องประทีป แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่า แสวงหายัญ
แม้ชนเหล่าใดย่อมจัดแจงยัญ แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่า แสวงหายัญ
แม้ชนเหล่าใดย่อมให้ ย่อมบูชา ย่อมบริจาคยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าแสวงหายัญ
ไม่ใช่เฉพาะคำสอนอื่นเท่านั้นที่มีเรื่องของการบูชายัญ แต่สัตว์โลกไม่ว่าจะเป็นลัทธิศาสนาใด พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสัตว์โลกทั้งปวงที่ประพฤติเป็นไป เพราะฉะนั้น คำว่ายัญ ได้แก่ ไทยธรรมของที่จะให้ซึ่งแสวงหา ไม่ว่าจะเป็นการเสาะหา สืบหา หรือว่าการจัดแจง หรือว่าการให้ ก็ย่อมชื่อว่า บุคคลต่างๆ เหล่านั้นย่อมแสวงหายัญ
เพราะอะไร เพราะให้แล้วจะได้ คือ ถึงแม้ว่าจะบริจาคให้ไปแล้วก็จะได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้โผฏฐัพพะนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงยังคงเป็นผู้ที่แสวงหายัญอยู่ ถึงแม้มีการบริจาค ก็ไม่สามารถที่จะพ้นไปจากวัฏฏะ เพราะว่าเป็นผู้ที่ยังบูชายัญ ยังมีความต้องการ ยังมีความนิยม ยังมีความพัวพัน ยังมีความเข้าไปใกล้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และไม่ใช่ว่าจะบูชายัญกันแต่เฉพาะลัทธิอื่น เพราะคำว่ายัญนั้น คือ สิ่งที่นิยม สิ่งที่บูชา เมื่อนิยมในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ การบูชาก็เพื่อที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถึงแม้ว่าจะบูชาไฟ ต้องการอะไร ก็ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ข้อความต่อไปอธิบายว่า
คำว่า เป็นอันมาก คือ ยัญเหล่านั้นก็มาก ผู้บูชายัญนั้นก็มาก หรือพระทักขิเณยยบุคคลนั้นก็มาก
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 202