ทำไมคนเราจึงมีชีวิตที่แตกต่างกัน.ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข..
ทำไมชีวิต.บางคนยิ่งอยู่ยิ่งเจริญก้าวหน้า แต่.บางคนยิ่งตกต่ำลงเรื่อยๆ เหมือนมีบางอย่างดลบันดาลให้กลายเป็นแย่ลงมากๆ จนบางครั้งเครียดอยากฆ่าตัวตาย..มีวิธีช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง..ขอคำแนะนำ.ครับ.อะไรคือตัวกำหนดให้ชีวิตต้องเป็นไปอย่างนั้น.ณ.เวลานั้นเวลานี้ ... อยากย้อนเวลาเหลือเกิน ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แต่ละคน แตกต่างกันตามการสะสม เมื่อสะสมเหตุมาต่างกัน ผลที่ได้รับจึงต่างกัน ตามควรแก่เหตุที่แต่ละคนได้สะสมมา
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ฟัง ผู้ศึกษาอย่างแท้จริง เพราะพระองค์ทรงเห็นประโยชน์จึงทรงแสดงพระธรรม บุคคลผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา ก็สามารถที่จะฟัง พิจารณาไตร่ตรองตาม แล้วก็จะค่อยๆ เข้าใจได้ ที่สำคัญในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นผู้เข้าใจธรรมซึ่งเป็นเหตุเป็นผลแล้ว ก็จะรู้ทำให้จักตนเองตามความเป็นจริงขึ้น เพราะมีความเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ลาภ เสื่อมลาภ มีสุข มีทุกข์ เป็นต้น ก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งนั้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้เมื่อได้รับสิ่งที่ไม่ดีไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็จะไม่เสียใจมากนักหรือ เมื่อได้รับสิ่งที่ดี ที่น่าใคร่น่าพอใจ ก็จะไม่หลงระเริง ไม่เพลิดเพลินมัวเมา
ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหมดได้อย่างเด็ดขาด ทุกข์เพราะกิเลสก็ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุว่าบุคคลผู้ที่มีกิเลส ย่อมเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะเป็นผู้ถูกกลุ้มรุมด้วยกิเลสนานาประการ ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ รวมถึงกิเลสอื่นๆ ด้วย ผู้ที่จะมีความสงบสุขอย่างแท้จริง โดยที่ไม่มีทุกข์เพราะกิเลสอีกเลยนั้น ต้องบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอรหันต์ (พระอรหันต์ เป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง) ดังนั้น การที่กิเลสจะค่อยๆ ละคลายลงได้ ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง
แต่ละขณะ เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่ผ่านแล้วก็ผ่านไป ไม่สามารถไปทำอะไร แต่ขณะนี้สำคัญที่สุด ที่จะได้เริ่มฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา และไม่ประมาทในการสะสมความดีทุกประการ สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป เพราะอย่างอื่นเป็นที่พึ่งไม่ได้เลย ครับ
... ยินดีในกุศลของคุณ Kuat639 และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ