ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ของกุศลได้ไหม?
ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 248
ถามว่า ก็อิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) เป็นที่ตั้งแห่งโลภะมิใช่หรือ ไฉนจิตนี้จึงเกิดมีชื่อว่า กุศลเล่า.
ตอบว่า ที่มีชื่อว่า กุศล ด้วยสามารถแห่งการกําหนด (นิยมิต) ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน (ปริณามิต) ด้วยสามารถแห่งความประพฤติดี (สมุทาจาร) ด้วยสามารถแห่งการผูกใจ (อาภุชิต) .
... จิตของบุคคลใด ชื่อว่า กําหนด ในเพราะการทํากุศลว่า กุศลเท่านั้นเราควรกระทํา ดังนี้.
... ชื่อว่า เปลี่ยนไป ในเพราะ การยังอกุศลที่เป็นไปให้กลับแล้วทํากุศล.
... ชื่อว่า ประพฤติดี ด้วยการประพฤติกุศลนั่นแหละ โดยการการทําบ่อยๆ
... ความคํานึงเป็นไปแล้ว โดยแยบคาย ด้วยอุปนิสสัยทั้งหลาย มี การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ การคบสัตบุรุษ ๑ การฟังพระสัทธรรม ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันกระทําไว้ในกาลก่อน ๑ ชื่อว่า การผูกใจ.
ธรรมดาว่า กุศลย่อมเกิดแก่จิตนั้น ด้วยสามารถแห่งการกําหนด ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน ด้วยสามารถการประพฤติดี และด้วยสามารถแห่งการผูกใจนี้.
[สรุป]
อิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ของกุศลได้ไหม
ตอบ เกิดได้
ปัฏฐาน เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 408
๒. อารัมมณปัจจัย
[๔๙๓] ๗. อัพยากตธรรม เป็นปัจจัยแก่อัพยากตธรรม ด้วยอำนาจของอารัมมณปัจจัย
... ๗. รูปายตนะ เป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ด้วยอำนาจของอารัมมณปัจจัย.
๘. สัททายตนะ เป็นปัจจัยแก่โสตวิญญาณ.
๙. คันธายตนะ เป็นปัจจัยแก่ฆานวิญญาณ.
๑๐. รสายตนะ เป็นปัจจัยแก่ชิวหาวิญญาณ.
๑๑. โผฏฐัพพายตนะ เป็นปัจจัยแก่กายวิญญาณ ด้วยอำนาจของอารัมมณปัจจัย
... [๔๙๔] ๘. อัพยากตธรรม เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม ด้วยอำนาจ ของอารัมมณปัจจัย
... ๓. พระเสขะหรือปุถุชนก็ตาม พิจารณาเห็นแจ้งซึ่งจักขุ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พิจารณาเห็นแจ้งซึ่งโสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หทยวัตถุ และขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอัพยากตวิบาก และอัพยากตกิริยา โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา.
[๔๙๕] ๗. อัพยากตธรรม เป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม ด้วยอำนาจของอารัมมณปัจจัย
... ๑. บุคคลย่อมยินดีเพลิดเพลินซึ่งจักษุ เพราะปรารภจักษุนั้น ราคะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ โทมนัส ย่อมเกิดขึ้น.
๒. บุคคลยินดีเพลิดเพลินซึ่งโสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หทยวัตถุและขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอัพยากตวิบากและอัพยากตกิริยา เพราะปรารภสิ่งนั้น ราคะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ โทมนัส ย่อมเกิดขึ้น.
[สรุป]
กุศล เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะมีอารมณ์ ที่เป็น อิฏฐารมณ์ หรือ อนิฏฐารมณ์ กุศลก็เกิดขึ้นได้ ตามที่แสดงไว้แล้วในคัมภีร์ปัฏฐานว่า อิฏฐารมณ์ ที่เป็น รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น สามารถเป็นอารัมณปัจจัยแก่ทั้งกุศล อกุศล และวิบากจิต เป็นต้น และเพราะ ตัวกุศล เอง ก็อาศัยปัจจัยอื่นๆ เกิดขึ้น เช่นกัน ซึ่งท่านแสดงไว้ ๔ ประเภท ไว้แล้ว ตามคัมภีร์ธรรมสังคณี เช่น
-ผู้ที่ได้รับเคยอาหารที่อร่อย ลิ้มรสหรือสูดดมในอิฏฐารมณ์ หรือเห็นที่นั่งอันสบายในรถโดยสาร พอได้อาหารนั้นมาก็ตาม ก็คิดจะให้แก่บุคคลผู้สูงกว่าด้วยคุณธรรม เช่น สมณะ หรือ เมื่อได้ที่นั่งสบายในรถโดยสาร ก็คิดจะสละแก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น ก่อนการบริโภคด้วยตนเอง นั่นก็เป็นกุศลก็เกิดขึ้นได้ด้วยสามารถแห่ง การกำหนด เป็นต้น
-ผู้ที่มีศีล หรือสมาทานศีล (ถือศีลเป็นข้อประพฤติ) เห็นอิฏฐารมณ์ เห็นสิ่งของที่สวยงาม ติดข้องอยากได้ แต่ก็เห็นว่าสิ่งนี้ควรเว้นไว้ไม่ควรยึดเป็นของตนโดยทุจริต กุศลก็เกิดขึ้นได้ด้วยสามารถแห่ง การกำหนด และการเปลี่ยน เป็นต้น เช่น พระเจ้าพิมพิสารเห็นทาสีของเศรษฐี แต่สงสัยว่าเป็นภรรยาเศรษฐีเพราะเป็นผู้งดงาม แม้ทาสียื่นมือมา พระองค์ก็ทรงรังเกียจที่จะแตะต้อง เป็นต้น
-ผู้ที่ได้ฟังธรรม ได้ยินอิฏฐารมณ์ เมื่อได้ยินเสียงธรรมของผู้ที่แสดงธรรม เพราะความที่ตนเองฟังบ่อยๆ ก็ฟังต่อไป พิจารณาความจริงยิ่งๆ ขึ้น กุศลจิตก็เกิดด้วยสามารถแห่งความประพฤติดี
-ผู้ที่ได้กระทบกับสิ่งที่นุ่มสบาย ได้กระทบกับอิฏฐารมณ์ เมื่อผู้นั้นเป็นผู้ที่ฟังธรรมบ่อยๆ ก็สามารถที่สติจะเกิดขึ้นรู้ในอารมณ์ที่ปรากฏว่าเป็นธาตุดินที่เป็นสภาพอ่อนแข็งได้ กุศลจิตก็เกิดด้วยสามารถแห่งความผูกจิต เป็นต้น
ขอกราบอนุโมทนา
ยินดีในกุศลจิตครับ