ถามเรื่องพระวินัย
โดย rojer  12 พ.ย. 2555
หัวข้อหมายเลข 22039

๑. การที่พระสงฆ์เทศน์ สอนธรรม แบบบอกวาระจิต ของลูกศิษย์ เพื่อต้องการให้ลูกศิษย์เห็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างนี้ เรียกว่า ทักจิตทายใจหรือเปล่า? แล้วถือว่าผิดพระวินัย ต้องอาบัติไหมครับ

๒. ผู้ที่มีภรรยาแล้ว แต่ต้องการจะบวชตลอดชีวิต ต้องหย่าขาดจากภรรยาก่อนหรือเปล่า ครับ

๓. ถ้าสามีจะบวชเป็นพระ และภรรยาจะบวชเป็นชี แล้วศึกษาปฏิบัติธรรมในวัด หรือสำนักเดียวกัน แต่แยกกันอยู่คนละกุฏิได้ไหมครับ

๔. การที่พระท่านนำซองกฐินมาหลายซองให้ช่วยแจกบอกบุญกับญาติโยม ให้บริจาคสร้างสิ่งต่างๆ วัตถุต่างๆ ภายในวัด อย่างนี้จะผิดพระวินัยไหมครับ

แล้วถ้าไม่ประสงค์ที่จะไปแจกซองให้ผู้อื่น แต่ยินดีทำเฉพาะส่วนตัว ควรจะบอกกับพระท่านว่าอย่างไรดีครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 13 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. การที่พระสงฆ์เทศน์ สอนธรรม แบบบอกวาระจิต ของลูกศิษย์ เพื่อต้องการให้ลูกศิษย์ เห็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างนี้ เรียกว่า ทักจิตทายใจหรือเปล่า? แล้วถือว่า ผิดพระวินัย ต้องอาบัติไหมครับ

- ผู้ที่จะบอกวาระจิต รู้วาระจิตได้ จะต้องเป็นผู้ที่อบรมสมถภาวนามาจนได้ฌานขั้นสูงสุดและคล่องแคล่ว ซึ่งสมัยนี้ยากที่จะได้เพราะไม่ใช่กาลสมบัติ ดังนั้น ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเป็นสำคัญ ให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดปัญญาเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะอาศัยการฟังธรรมแต่ไม่ใช่ด้วยการทายจิต ดักจิต เพราะการบอกวาระจิตได้ รู้ใจ แม้ผู้นั้นจะสามารถบอกได้ว่าจิตของเราเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้ปัญญาของเราเจริญได้ เพราะไม่ใช่ปัญญาของตนเองที่เกิดขึ้น รู้วาระจิตของตนเอง ครับ

การรู้วาระจิตที่ประเสริฐ คือการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ที่เป็นจิตของตนเอง ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

ส่วนพระภิกษุที่ทายวาระจิต โดยที่ตนเองก็ไม่รู้จริงๆ ก็ทำไปด้วยความไม่รู้ และไม่ใช่หนทางการรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และยังเอื้อต่อการผิดพระวินัยได้ ที่สำคัญที่สุด เป็นโทษมาก เพราะกำลังแสดงหนทางที่ผิด ในการอบรมปัญญา ที่สำคัญว่าการบอกวาระจิต จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดตาม เพราะ อาศัยความเข้าใจผิดของตนเอง ครับ


๒. ผู้ที่มีภรรยาแล้วแต่ต้องการจะบวชตลอดชีวิตต้องหย่าขาดจากภรรยาก่อนหรือเปล่า

- ไม่จำเป็น ครับ เพราะ การบวช ก็ชื่อว่าเป็นการหย่าขาดจากเพศคฤหัสถ์ หย่าขาดโดยพฤตินัย ที่จะไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกันอีก เพราะ เป็นคนละเพศแล้ว ครับ


๓. ถ้าสามีจะบวชเป็นพระ และภรรยาจะบวชเป็นชี แล้วศึกษาปฏิบัติธรรมในวัด หรือสำนักเดียวกัน แต่แยกกันอยู่คนละกุฏิได้ไหมครับ

- การบวช คือ การสละทุกสิ่งทุกอย่างของความเป็นคฤหัสถ์ โดยเห็นโทษของการครองเรือน ด้วยปัญญาเป็นสำคัญ ซึ่งสำหรับการบวชชี ในความเป็นจริงแล้ว ชีก็คือคฤหัสถ์ผู้หญิงที่รักษาศีลเพิ่มจากศีล ๕ เท่านั้น ไม่ใช่เพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น การอยู่ใกล้กันของบรรพชิตกับคฤหัสถ์ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ครับ


๔. การที่พระท่านนำซองกฐินมาหลายซองให้ช่วยแจกบอกบุญกับญาติโยม ให้บริจาคสร้างสิ่งต่างๆ วัตถุต่างๆ ภายในวัด อย่างนี้จะผิดพระวินัยไหมครับ

แล้วถ้าไม่ประสงค์ที่จะไปแจกซองให้ผู้อื่น แต่ยินดีทำเฉพาะส่วนตัว ควรจะบอกกับพระท่านว่าอย่างไรดีครับ


- กฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเงินทองเลย เพราะเหตุว่า เงินทองเป็นสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ คือ สิ่งไม่เหมาะสมกับเพศบรรพชิตครับ

กฐิน เป็นสังฆกรรมของพระภิกษุทั้งหลาย โดยบริษัททั้ง ๔ หรือแม้แต่เทวดา ก็ถวายผ้ากับสงฆ์ และก็มีการทำกรานกฐิน โดยเป็นวินัยของสงฆ์ครับ

ดังนั้นการแจกซองกฐิน จึงไม่ถูกต้องตามกฐินในพระธรรมวินัย ที่เป็นเรื่องของการถวายผ้ากับพระภิกษุเท่านั้นครับ ไม่มีเงินและทองมาร่วมด้วย ไม่มีบริวารกฐินที่เป็นเงินทองเลยครับ และการสร้างศาสนวัตถุ ก็ไม่ควรนำกฐินมาเกี่ยวข้อง เพราะกฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะให้สร้างศาสนาวัตถุ ก็บอกไปโดยตรงว่าร่วมเรี่ยไรกันสร้างศาสนาวัตถุ แต่ไม่ใช่นำเอาเรื่องกฐินมาปนโดยการเรี่ยไรเงิน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกฐินและไม่ตรงเลยครับ

ดังนั้น แม้ตัวเราก็ไม่ควรแจกซองกฐิน เพราะ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และไม่ควรรับซองกฐินจากพระ หรือหากรับแล้วก็ไม่ควรที่จะทำ เป็นการทําในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่สำคัญผิดว่าเมื่อเป็นซองกฐินก็จะต้องใส่เงิน ซึ่งไม่ถูกต้อง ก็ไม่ควรทำด้วยเช่นกันแม้เป็นการส่วนตัว ครับ

เชิญคลิกอ่านเรื่องเกี่ยวกับกฐิน

กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๑]

กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๒]

กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๓]

กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๔]

กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนจบ]

บุญ มีหลายประการ ซึ่งก็สามารถทำบุญประการอื่นๆ ที่เหมาะสม และไม่มีโทษกับพระภิกษุ และพระศาสนาได้ แต่บุญที่ทำแล้ว รักษาพระศาสนาและตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเป็นสิ่งที่สมควร ครับ ซึ่งสำคัญกว่าการจะได้บุญ เพราะบุญ ไม่ได้หมายถึงว่าทำแล้วจะได้ แต่บุญ คือ กุศลที่เข้าใจถูก พิจารณาตามความเป็นจริง ในสิ่งที่จะทำ หรือ ไม่ทำ ก็เป็นบุญเช่นกัน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย ใฝ่รู้  วันที่ 13 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 13 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- ที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลจริงๆ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตามความเป็นจริง ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเมื่อตนเองมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะสามารถเกื้อกูลให้ผู้อื่นเข้าใจอย่างถูกต้องตามด้วย แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอะไรเลย หรือมีวัตถุประสงค์อย่างอื่นแอบแฝง มีความหวังลาภสักการะ เป็นต้น ก็จะทำให้กระทำในสิ่งที่ผิด ไม่คล้อยตามพระธรรมวินัย เป็นการทำให้ตนเองและผู้อื่นห่างเหินจากพระสัทธรรมออกไปทุกทีๆ

- การบวชเป็นอัธยาศัยของแต่ละบุคคลที่จะสละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่งเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น การบวชจะต้องเป็นผู้ที่พร้อมจริงๆ มีการขออนุญาตจากบิดามารดา เป็นผู้ที่มีบาตรและจีวรครบแล้ว เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามพระธรรมวินัยทุกอย่าง และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือวัตถุประสงค์ของการบวชที่ถูกต้อง คือเพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง เท่านั้น

- วัดวาอารามต่างๆ เป็นที่อยู่อาศัยของเพศบรรพชิตผู้สละอาคารบ้านเรือน ผู้เห็นว่า "การอยู่ครองเรือนเป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลธรรมทั้งหลาย" ไม่ใช่ที่อยู่ของคฤหัสถ์ รวมไปถึงผู้ที่สมมติว่าเป็นแม่ชีด้วย เพราะแม่ชีก็คือคฤหัสถ์ ไม่ใชเพศบรรพชิตแต่อย่างใด ควรที่จะอยู่ในที่อยู่ของตนๆ ตามสมควรแก่เพศ และประการสําคัญ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ไม่ได้เป็นเครื่องกั้นของการอบรมเจริญปัญญาและสะสมกุศลประการต่างๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะเห็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหนตามการสะสมจริงๆ ครับ

- สิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย ก็สามารถปฏิเสธได้ เพราะเมื่อได้ศึกษาพระธรรมวินัยเข้าใจแล้วว่าอะไรผิด อะไรถูก ก็จะต้องไม่กระทำในสิ่งที่ผิดอีกต่อไป แต่จะกระทำเฉพาะในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น ซึ่งการมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจนี้เองที่จะเป็นเครื่องเกื้อกูลที่ดี ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 13 พ.ย. 2555

การแจกซองกฐิน ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสงฆ์ หน้าที่ของพระภิกษุที่ดี มี สองอย่าง คือคันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย nopwong  วันที่ 15 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย rojer  วันที่ 15 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ