ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สนทนาธรรมที่
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (ม.ศ.พ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๔ มิถุนายน ๑๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
๑. ภารสูตร (ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นภาระ)
...จาก ... พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๒๗ หน้า ๕๘ - ๖๑
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๒๗ หน้า ๕๘ - ๖๑
ภารวรรคที่ ๓ ๑. ภารสูตร (ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นภาระ)
[๔๙] กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาระ ผู้แบกภาระ การถือภาระ และ การวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว, ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่า ภาระคือ อุปาทานขันธ์ ๕, อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์ คือ รูป อุปาทานขันธ์ คือ เวทนาอุปาทานขันธ์ คือ สัญญา อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร และอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้ เรียกว่า ภาระ.
[๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่า บุคคล,บุคคลนี้นั้น คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าผู้แบกภาระ.
[๕๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็การถือภาระ เป็นไฉน? ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การถือภาระ.
[๕๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็การวางภาระเป็นไฉน? ความที่ตัณหานั่นแลดับไปด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการวางภาระ. พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นได้ตรัส ไวยากรณภาษิต (ร้อยแก้ว,ความเรียงธรรมดา) นี้ จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีก ในภายหลัง ว่า
[๕๓] ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระ คือบุคคล การถือภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวาง ภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหา พร้อมทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วดังนี้.
จบ ภารสูตรที่ ๑
อรรถกถาภารสูตรที่ ๑
ในภารสูตรที่ ๑ แห่งภารวรรค มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ .-
บทว่า ปญฺจุปาทานกฺขนฺธาติสฺส วจนียํ ตัดบทเป็น ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา อิติอสฺส วจนียํ ความว่า เป็นข้อที่จะพึงตรัสอย่างนั้น. บทว่า อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ภาโร ความว่าอุปาทานขันธ์ ๕ ท่านกล่าวว่าเป็นภาระ. ถามว่า ด้วยอรรถว่ากระไร? แก้ว่า ด้วยอรรถว่าเป็นภาระที่จะต้องบริหาร. จริงอยู่ อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้น จำต้องบริหารด้วยการให้ยืน ให้เดิน ให้นั่ง ให้นอน ให้อาบน้ำแต่งตัว ให้เคี้ยว ให้กิน เป็นต้นจึงชื่อว่าเป็นภาระ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ภาระ เพราะอรรถว่าเป็นภาระจะต้องบริหาร. บทว่า เอวํนาโม ได้แก่ มีชื่อเป็นต้น ว่า ติสสะ ว่า ทัตตะ. บทว่า เอวํโคตฺโต ได้แก่ มีโคตรเป็นต้นว่า กัจจายนโคตร วัจฉายนโคตร ดังนั้น ทรงแสดงบุคคลที่สำเร็จเพียงโวหาร ให้ชื่อว่า ภารหาระ (ผู้แบกภาระ) จริงอยู่ บุคคล ยกขันธภาระขึ้นในขณะปฏิสนธินั้นเอง แล้วให้ขันธ์นี้ อาบ บริโภค นั่ง นอน บนเตียงและตั่งที่อ่อนนุ่มแล้วบริหาร ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง จนตลอดชีวิตแล้วทิ้งไปในจุติขณะ ยึดเอาขันธ์อื่น ในปฏิสนธิขณะอีก เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าผู้แบกภาระ. บทว่า โปโนพฺภวิกา ได้แก่ที่เกิดในภพใหม่. บทว่า นนฺทิราคสหคตา ได้แก่ ถึงความเป็นอันเดียวกันกับนันทิราคะนั่นเอง ในที่นี้ท่านประสงค์ว่าเกิดพร้อมกับความเป็นนันทิราคะนั้น.บทว่า ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี ได้แก่ มีปกติยินดีในที่เกิดหรือในอารมณ์มีรูปเป็นต้นนั้นๆ . ในกามตัณหา เป็นต้น มีคำอธิบายว่า ความยินดีอันเป็นไปในกามคุณ ๕ ชื่อว่า กามตัณหา, ความยินดี ในรูปภพและอรูปภพ ความติดอยู่ในฌาน ความยินดีที่เกิดพร้อมด้วยสัสสตทิฏฐิ นี้ชื่อว่า ภวตัณหา ความยินดีที่เกิดพร้อมกับอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่า วิภวตัณหา. บทว่า ภาราทานํ ได้แก่ การถือภาระ. จริงอยู่ บุคคลนี้ ย่อมถือภาระด้วยตัณหา.
บทว่า อเสสวิราคนิโรโธ เป็นต้น ทั้งหมดเป็นไวพจน์ของนิพพานนั้นเอง.จริงอยู่ ตัณหา มาถึงพระนิพพานนั้นแล้ว ย่อมคลายความยินดี ย่อมดับ ย่อมละขาด ย่อมสละคืน ย่อมหลุดพ้น โดยไม่มีส่วนเหลือ ก็ในพระนิพพานนี้ไม่มีอาลัยคือกาม หรืออาลัยคือทิฏฐิ ฉะนั้น พระนิพพานจึงได้ชื่อเหล่านี้. บทว่า สมูลํ ตณฺหํ ความว่า อวิชชา ชื่อว่า เป็นมูลของตัณหา. บทว่า อพฺพุยฺห ได้แก่ ถอนตัณหานั้นพร้อมทั้งราก ด้วยอรหัตตมรรค. บทว่า นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ความว่า ผู้ออกจากตัณหา จะเรียกว่า ผู้ปรินิพพานแล้ว ก็ควรแล.
จบ อรรถกถาภารสูตรที่ ๑.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ภารสูตร (ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นภาระ)
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องภาระ เป็นต้น ดังนี้
-ภาระ คือ ขันธ์ ๕ (รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณ-ขันธ์) ซึ่งจะต้องบริหาร ให้เป็นไปอยู่ตลอดเวลา
-ผู้แบกภาระ คือ บุคคล (บุคคลเป็นเพียงสมมติ) เพราะมีการเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม คือ จิต เจตสิก และ รูป จึงมีการสมมติว่าเป็นคนนั้น คนนี้ มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ในภพนี้ก็ยึดถือหรือแบกขันธ์ ๕ ในภพนี้ เมื่อละจากโลกนี้ไป เกิดในภพใหม่ ก็ยึดถือขันธ์ ๕ ในภพใหม่อีก
-การถือภาระ คือ ตัณหาที่ทำให้เกิดในภพใหม่ มีภาระคือขันธ์เกิดขึ้นเพราะมีตัณหา
-การวางภาระ คือ การที่ตัณหา ดับหมดสิ้นโดยไม่เหลือ ไม่ต้องมีเหตุให้เกิดอีกในสังสารวัฏฏ์.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ
ภาระ
มีหนทางเดียวคือ หนทางละความไม่รู้ ละความติดข้อง
เพลิดเพลิน ติดข้องในขันธ์ทำให้ทุกข์ [อภินันทนสูตร]
ตกเหว [ตอนที่ ๒ ... ความติดข้องก็คือเหว]
ขันธ์ ๕ คืออะไร และมีอะไรบ้าง
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ