ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในวันหนึ่งๆ อดที่จะคิดไม่ได้ว่า ถ้าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็คิดถึงสิ่งนั้นทันที เช่น ถ้ามองไปที่หน้าต่าง แล้วเห็นดอกไม้ จะไม่คิดถึงดอกไม้สักครู่หนึ่งได้ไหม อย่างน้อย ก็ต้องคิด เป็นความคิดสั้นๆ ไม่ได้คิดยาวอะไร หมายความว่า ในขณะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ใช่ "อารัมมณาธิปติปัจจัย"เพราะเหตุว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดความต้องการ หรือว่า เป็นไปอย่างหนักแน่น ในอารมณ์นั้นๆ
แต่ขณะใด ที่ท่านผู้ฟังก็คิดถึงสิ่งที่ได้เห็นนั้นอีก ประเดี๋ยวก็คิดถึงสิ่งนั้นอีก ประเดี๋ยวก็คิดถึงสิ่งนั้นอีกจนกระทั่งดูเหมือนว่า คิดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ มีความปรารถนา มีความพอใจ มีความต้องการในสิ่งนั้นให้ทราบว่าในขณะนั้น อารมณ์ที่ท่านกำลังคิดถึงนั้น เป็น "อารัมมณาธิปติปัจจัย"คือ เป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นปัจจัย โดยเป็นอารมณ์ที่เป็นใหญ่ซึ่งทำให้จิตหนักแน่นในอารมณ์นั้น คือไม่ใช่เพียงผ่านไป
เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ไหม ในชีวิตประจำวันว่า อารมณ์ใด เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย หรืออารมณ์ใด เป็นอารัมมณปัจจัย ซึ่งแต่ละคน มีอยู่เป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นเพียง อารัมมณปัจจัย หรือว่า เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย.
เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณา ว่า "ผัสสเจตสิก" เป็น อธิปติปัจจัย ได้ไหม ถ้าพิจารณาโดย สหชาตธิปติปัจจัย ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสะ ผัสสเจตสิก เป็น สหชาตาธิปติปัจจัยไม่ได้ เพราะว่า ผัสสเจตสิกเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดกระทำกิจกระทบกับอารมณ์ แล้วก็ดับไปไม่ใช่ฉันทะ ไม่ใช่วิริยะ ไม่ใช่จิตตะ ไม่ใช่วิมังสะ แต่เมื่อพิจารณา ว่า "ผัสสเจตสิก" เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย ได้ไหม
ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้น และ เป็นไปนั้นถ้าได้ทราบถึงสภาพธรรมที่เป็น "ปัจจัย"จะยิ่งเห็นถึงความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้วแต่ว่า สภาพธรรมนั้นๆ จะเป็น "ปัจจัย" โดยประการใด เป็นได้ไหม ว่า "ผัสสเจตสิก" จะเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย เช่น บางขณะ โลภะ มีความต้องการบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งหนักแน่นมาก ไม่ลืมที่จะแสวงหาสิ่งนั้น ไม่ลืมที่จะพยายามหาสิ่งนั้น หมายคามว่า ในขณะนั้น สิ่งนั้น กำลังเป็นอารัมมณธิปติปัจจัย
ท่านผู้ฟังอยากมีโลภะมากๆ ไหม หรือว่า ไม่อยากจะมีโลภะอีกแล้ว.?ไม่อยากจะลิ้มรสอาหารอร่อยๆ พิเศษๆ อีกแล้วหรือว่าอาหารบางชนิดช่างอร่อยจริงๆ ไม่ได้รับประทานหลายวันแล้ว วันนี้จะต้องพยายามรับประทานให้ได้เพราะเกิดความยินดีพอใจในรสนั้น ซึ่งเป็นความยินดีพอใจเป็นอย่างมากในวันนี้ ต้องการความยินดีพอใจถึงขั้นนั้นไหม จากรส จากรูป จากกลิ่น จากเสียง จากสัมผัส ในขณะนั้น หมายความว่า ต้องการ "ผัสสะ" ที่จะกระทบกับอารมณ์นั้นๆ อยากจะให้ "ผัสสะ" กระทบอารมณ์อะไรหรือเปล่า เช่น ทางตา ก็คงจะมีรูปพิเศษ ที่อยากจะให้ผัสสะกระทบอารมณ์นั้น
ทางหู อาจจะมีเพลงบางเพลง ซึ่งพอใจเป็นพิเศษ ซึ่งอยากจะให้ผัสสะกระทบกับเพลงนั้น ทางจมูก อาจจะมีน้ำหอมหลายชนิดซึ่งอยากจะให้ผัสสะกระทบกับกลิ่นที่น่าพอใจเป็นพิเศษทางลิ้น ก็อาจจะมีรสอาหารซึ่งอยากให้ผัสสะกระทบกับรสนั้นเป็นพิเศษทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ขณะที่ต้องการให้ "ผัสสเจตสิก" เกิดขึ้น กระทบกับอารมณ์ที่ปรารถนาอย่างหนักแน่น ขณะใด ขณะนั้น "ผัสสเจตสิก" เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ของ"จิต" ซึ่งกำลังปรารถนาจะให้ ผัสสเจตสิก กระทบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนานั้น.
นี่คือชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงเพราะฉะนั้น สังสารวัฏฏ์ ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดได้ ถ้าไม่สามารถที่จะเห็นว่า แม้ขณะซึ่งกำลังมีความยินดี มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างมาก อย่างหนักแน่น ก็เพราะเหตุว่า ขณะนั้น อารมณ์นั้น เป็นอารัมมณธิปติปัจจัยคือ ไม่ใช่เป็นแต่เพียง อารัมมณปัจจัย เท่านั้น
เพราะฉะนั้น การศึกษาเรื่องปัจจัยนี้ท่านผู้ฟังจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรมแต่ว่าไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าจะถึงเวลานั้นถ้าหากสามารถที่จะเข้าใจสิ่งใดได้ ในชีวิตประจำวันแล้วก็เริ่มที่จะเข้าใจ "ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยต่างๆ " นี้ได้
ก็จะทำให้คุ้นเคยกับ "สภาพของปัจจัย ๒๔" ซึ่งเป็นปัจจัยให้ท่านผู้ฟัง สามารถที่จะรู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ได้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ก็คงจะเข้าใจได้ ว่าขณะไหนเป็น อารัมมณปัจจัยและ ขณะไหนเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย และทราบว่าขณะนั้น สภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยของจิต ในขณะนั้น ไม่เที่ยง คือ เกิดแล้ว ก็ต้องดับไป ไม่สามารถที่จะเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยอยู่ได้ตลอดไปเพราะเหตุว่า จิตประเภทอื่น ก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นได้
ข้อความบางตอนจากเทปชุด ปัฏฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ ๓ โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาครับ