ชันตุสูตร ... พระสูตรวันเสาร์ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
โดย มศพ.  23 ก.พ. 2563
หัวข้อหมายเลข 31577

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๗๗

๕. ชันตุสูตร

[๒๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง ภิกษุเป็นจำนวนมาก อยู่ในกุฎี อันตั้งอยู่ในป่า ข้างเขาหิมวันต์แคว้นโกศล เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง ฟุ้งเฟ้อ ปากกล้า มีวาจาพล่อยๆ หลงลืมสติ ขาดสัมปชัญญะ ไม่ตั้งมั่น มีจิตไม่มั่นคง มีอินทรีย์อันเปิดแล้ว

[๒๙๔] วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ชันตุเทพบุตรเข้าไปหาพวกภิกษุเหล่านั้น แล้วจึงได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้น ด้วยคาถาทั้งหลาย ว่า แต่ก่อน พวกภิกษุสาวกพระโคดม เป็นอยู่ง่ายๆ ไม่มักได้ แสวงหาบิณฑบาตตามได้ ไม่มักได้ แสวงหาเสนาสนะตามได้ ท่านเหล่านั้น รู้ว่า สิ่งทั้งปวงในโลกไม่เที่ยง แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

ส่วนพวกท่านในบัดนี้ ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงยาก เหมือนนายบ้าน ในตำบลบ้าน กินๆ แล้วก็นอน หมกมุ่นไปในเรือนของคนอื่น

ข้าพเจ้าขอกระทำอัญชลี แก่สงฆ์แล้ว ขอกล่าวถึงภิกษุที่ควรกล่าวถึงบางพวก ในพระศาสนานี้ ท่านเหล่านั้น ถูกเขาทอดทิ้งหาที่พึ่งมิได้ เหมือนอย่างคนที่ตายแล้ว ถูกเขาทอดทิ้งไว้ในป่าช้า ฉะนั้น

ข้าพเจ้ากล่าวหมายถึงภิกษุจำพวกที่เป็นผู้ประมาทอยู่ แต่ท่านเหล่าใด เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ ข้าพเจ้า ขอกระทำการนอบน้อมแก่ท่านเหล่านั้น
จบชันตุสูตร

อรรถกถาชันตุสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในชันตุสูตรที่ ๕ ต่อไป :-

บทว่า โกสเลสุ วิหรนฺติ ความว่า เหล่าภิกษุเป็นอันมาก รับกัมมัฏฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พากันไปอยู่แคว้นโกศล

บทว่า อุทฺธตา ได้แก่ เป็นผู้มีปกติฟุ้งซ่าน เพราะสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร สำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร สำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ สำคัญในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ

บทว่า อุนฺนฬา ได้แก่ มีมานะดุจไม้อ้อที่ชูขึ้น ท่านอธิบายว่า ยกมานะที่เปล่าๆ ขึ้น

บทว่า จปลา ได้แก่ ประกอบด้วยความฟุ้งเฟ้อ มีแต่งบาตรจีวร เป็นต้น

บทว่า มุขรา แปลว่า ปากกล้า ท่านอธิบายว่า มีถ้อยคำกร้าว

บทว่า วิกิณฺณวาจา ได้แก่ ไม่ประหยัดถ้อยคำ เจรจาถ้อยคำที่ไร้ประโยชน์ได้ทั้งวัน

บทว่า มุฏฺฐสฺสติ ได้แก่ มีสติหายไป เว้นจากสติ กิจที่ควรทำในที่นี้ ภิกษุทั้งหลายก็หลงลืมเสียในที่นี้

บทว่า อสมฺปชานา ได้แก่ ปราศจากปัญญา

บทว่า อสมาหิตา ได้แก่ เว้นจากสมาธิที่เป็นอัปปนาและอุปจาระ เสมือนเรือที่ผูกไว้ในกระแสน้ำเชี่ยว

บทว่า วิพฺภนฺตจิตฺตา ได้แก่ มีจิตไม่มั่นคง เสมือนมฤคร้ายที่ขึ้นทาง

บทว่า ปากตินฺทฺริยา ได้แก่ มีอินทรีย์เปิดเหมือนเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ เพราะไม่มีความสำรวม

บทว่า ชนฺตุ ได้แก่ เทพบุตรมีชื่ออย่างนี้

บทว่า ตทหุโปสเถ ได้แก่ ในอุโบสถวันนั้น อธิบายว่า ในวันอุโบสถ. ศัพท์ว่า ปณฺณรเส ห้ามวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำเป็นต้นเสีย

บทว่า อุปสงฺกมิ ได้แก่ เข้าไปหาเพื่อทักท้วง ได้ยินว่า ชันตุเทพบุตรนั้นคิดว่า ภิกษุเหล่านี้รับกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้ว พากันออกไป บัดนี้ ก็อยู่กันอย่างเป็นผู้ประมาท แต่ว่าภิกษุเหล่านี้ ถูกเราทักท้วงในสถานที่นั่งแยกๆ กัน จักไม่ถือคำของเรา จำเราจักทักท้วงในเวลาที่มารวมกัน พอถึงวันอุโบสถ รู้ว่า ภิกษุเหล่านั้นประชุมกันแล้วจึงเข้าไปหา

บทว่า คาถาย อชฺฌภาสิ ความว่า เทพบุตรยืนอยู่ท่ามกลางเหล่าภิกษุทั้งหมด ได้กล่าวด้วยคาถาทั้งหลาย ในคาถาเหล่านั้น เพราะเหตุที่สภาพมิใช่คุณ ของผู้ไร้คุณ ย่อมปรากฏพร้อมกับการกล่าวคุณ ฉะนั้น เทพบุตรเมื่อกล่าวถึงคุณก่อน จึงกล่าวคาถาว่า สุขชีวิโน ปุเร อาสุ เป็นต้น

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขชีวิโน ปุเร อาสุ ความว่า พวกภิกษุแต่ก่อน เป็นผู้บำรุงเลี้ยงง่าย เทพบุตรกล่าวอย่างนี้ โดยอธิบายว่า พวกภิกษุแต่ก่อน ยังชีพให้เป็นไปด้วยอาหารคลุกกัน ซึ่งเที่ยวไปตามลำดับตรอกในตระกูลสูงและต่ำได้มา

บทว่า อนิจฺฉา ได้แก่ ปราศจากตัณหา เทพบุตรครั้นกล่าวคุณของเหล่าภิกษุเก่าก่อนอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะกล่าวโทษของภิกษุเหล่านั้น จึงกล่าวว่า ทุปฺโปสํ (ผู้เลี้ยงยาก) เป็นต้น

บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า คาเม คามณิกา วิย เทพบุตร กล่าวอธิบายว่า เปรียบเหมือนนายบ้าน เยี่ยมประชาชนในตำบลบ้านแล้ว ให้ลูกบ้านนำนมสดนมส้มข้าวสาร เป็นต้น มาบริโภค ฉันใด แม้พวกท่าน ตั้งอยู่ในอเนสนา (การแสวงหาที่ไม่สมควร) มาเลี้ยงชีวิตของพวกท่าน ก็ฉันนั้น

บทว่า นิปชฺชนฺติ ได้แก่ ไม่ต้องการด้วยการเรียนอุเทศ สอบถาม และไม่ใส่ใจกัมมัฏฐาน นอนปล่อยมือเท้าอยู่บนที่นอน

บทว่า ปราคาเรสุ ความว่าในเรือนของผู้อื่น คือ ในเรือนสะใภ้ของตระกูล เป็นต้น

บทว่า มุจฺฉิตา ได้แก่ หมกมุ่น ด้วยอำนาจกิเลส

บทว่า เอกจฺเจ ได้แก่ พวกที่ควรจะกล่าวถึงนี่แหละ

บทว่า อปวิฏฺฐา ได้แก่ ที่เขาทอดทิ้งแล้ว

บทว่า อนาถา ได้แก่ ไม่มีที่พึ่ง

บทว่า เปตา ได้แก่ คนที่ตายแล้ว เขาทิ้งในป่าช้า เปรียบเหมือนคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ย่อมถูกนกต่างๆ เป็นต้นจิกกิน แม้เหล่าญาติก็เป็นที่พึ่งของคนเหล่านั้นไม่ได้ รักษาไม่ได้ คุ้มครองไม่ได้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เห็นปานนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่ได้รับโอวาทและคำพร่ำสอนจากสำนักของอาจารย์และอุปัชฌาย์ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงถูกทอดทิ้งไม่มีที่พึ่ง เป็นเหมือนคนตาย ที่เขาละทิ้งแล้ว ฉะนั้น

จบ อรรถกถาชันตุสูตรที่ ๕



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 23 ก.พ. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ชันตุสูตร

ชันตุเทพบุตร ได้เห็นภิกษุเป็นจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในกุฎี อันตั้งอยู่ในป่า ข้างเขาหิมวันต์แคว้นโกศล เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง ฟุ้งเฟ้อ ปากกล้า มีวาจาพล่อยๆ หลงลืมสติ ขาดสัมปชัญญะ ไม่ตั่งมั่น มีจิตไม่มั่นคง มีอินทรีย์อันเปิดแล้ว (ไม่สำรวมอินทรีย์) มีความประสงค์จะทักท้วงในความประพฤติที่ไม่สมควรของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น จึงเข้าไปหาในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำซึ่งเป็นวันที่ภิกษุทั้งหลายมาประชุมพร้อมกัน แล้วได้กล่าวคำที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นในท่ามกลางสงฆ์ ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร เป็นต้นว่า

“แต่ก่อน พวกภิกษุสาวกพระโคดมเป็นอยู่ง่ายๆ ไม่มักได้ แสวงหาบิณฑบาตตามได้ ไม่มักได้ แสวงหาเสนาสนะตามได้ ท่านเหล่านั้น รู้ว่า สิ่งทั้งปวงในโลกไม่เที่ยง แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ส่วนพวกท่านในบัดนี้ ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงยาก ...”

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
ภิกษุคือใคร

พระภิกษุ ต้องงดงามตามพระธรรมวินัย

ความหมายของคำว่า บวช

ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะทำให้เกิดโทษ

ภิกษุต้องอาบัติ ถ้าไม่ปลงต้องตกนรกหรือไม่

พระทำผิดวินัยสงฆ์รับโทษอย่างไร

พระภิกษุก็ตกนรกได้

กรรมฐานกับสติปัฏฐาน

มหาโจร

บรรพชิต คือ ผู้สละ

ภิกษุ คือ ผู้ทำความดีในเพราะการขอ

พุทธบริษัทกับการดำรงพระธรรมวินัย
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 25 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ