[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 65
อรรถกถาสูตรที่ ๔
ประวัติหัตถกอาฬวกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 65
อรรถกถาสูตรที่ ๔
๔. ประวัติหัตถกอาฬวกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี
ในสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
ด้วยบทว่า จตูหิ สงฺคหวตฺถูหิ ท่านแสดงว่า หัตถกอาฬวกอุบาสก เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔ อย่าง.
ได้ยินว่า หัตถกอาฬวกอุบาสกนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ต่อมาฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกผู้หนึ่ง ผู้ประกอบด้วยสังคหวัตถุ ๔ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. เขาเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ตลอดแสนกัป ในพุทธุปบาทกาล นี้ถือปฏิสนธิในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าอาฬวกะ กรุงอาฬวี แคว้นอาฬวี รุ่งขึ้นก็ถูกส่งตัวไปให้อาฬวกยักษ์พร้อมด้วยถาดอาหาร. ในเรื่องนั้น มีเรื่องกล่าวตามลำดับ ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 66
เล่ากันว่า วันหนึ่ง พระเจ้าอาฬวกะประพาสป่าล่าเนื้อ เสด็จตามเนื้อตัวหนึ่ง ฆ่าได้แล้วตัดเป็น ๒ ท่อน ผูกคล้องไว้ที่ปลายธนู เสด็จกลับมา มีพระวรกายเหน็ดเหนื่อยเพราะลมและแดด จึงเสด็จเข้าไปประทับนั่งโคนต้นไทรที่มีร่มเงาสบาย. ขณะนั้นพระราชาบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยได้ครู่หนึ่ง แล้วเสด็จออกมา เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไทรก็จับพระหัตถ์พร้อมกับกล่าวว่า หยุด หยุด ท่านต้องเป็นอาหารของเรา. เพราะถูกจับไว้มั่นคง ท้าวเธอก็ไม่ทรงเห็นอุบายอย่างอื่น จึงตรัสว่า เราจักส่งถาดอาหารพร้อมกับมนุษย์คนหนึ่งๆ ให้แก่ท่านทุกวัน เสด็จกลับพระนครแล้ว ตั้งแต่นั้นมา ก็ทรงส่งถาดอาหารพร้อมด้วยมนุษย์คนหนึ่งๆ จากเรือนจำ. โดยทำนองนี้แล เมื่อมนุษย์ในเรือนจำหมดแล้ว พวกคนแก่ๆ ก็ถูกจับส่งไป ความพรั่นกลัวก็เกิดขึ้นในบ้านเมือง. พวกราชบุรุษจับผู้คนเหล่านั้นไม่ได้แล้ว ก็เริ่มจับพวกเด็กอ่อน. ตั้งแต่นั้นมา แม่ของเด็กและหญิงมีครรภ์ในพระนครต่างพากันไปรัฐอื่น.
สมัยนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูโลกในระหว่างใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งมรรคผล ๓ ของอาฬวกกุมาร ทรงพระดำริว่า กุมารผู้นี้ตั้งความปรารถนาไว้ถึงแสนกัป จุติจากเทวโลกแล้วบังเกิดในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าอาฬวกะ พระราชาเมื่อไม่ได้คนอื่น ก็จักจับพระกุมารไปพร้อมด้วยถาดอาหารในวันพรุ่งนี้ ดังนี้แล้ว ในเวลาเย็น จึงเสด็จปลอมพระองค์ไปยังที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ขอร้องยักษ์มีชื่อคันธัพพะผู้เฝ้าประตู เพื่อเสด็จเข้าไปยังที่อยู่ยักษ์. คันธัพพยักษ์นั้นทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดเสด็จเข้าไปเถิด ส่วนที่ข้าพระองค์ไม่บอกอาฬวกยักษ์ ไม่ควรแน่ จึงได้ไปสำนักอาฬวกยักษ์ ผู้ไปสู่สมาคมยักษ์ใน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 67
หิมวันตประเทศ. แม้พระศาสดาเสด็จเข้าไปถึงที่อยู่แล้ว ก็ประทับนั่งบนบัลลังก์ที่นั่งของอาฬวกยักษ์. สมัยนั้น สาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์กำลังไปสู่สมาคมยักษ์ผ่านทางเบื้องบนที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ เมื่อยังไปไม่ถึงก็นึกว่าเหตุอะไรกันหนอ เห็นพระศาสดาประทับนั่งในภพของอาฬวกยักษ์ เข้าไปเฝ้าพระศาสดาถวายบังคมแล้วจึงไปสู่สมาคมยักษ์ ประกาศความยินดีแก่อาฬวกยักษ์ว่า ท่านอาฬวกะ ท่านมีลาภใหญ่แล้ว ที่พระผู้เป็นอัครบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ประทับนั่งในที่อยู่ของท่าน จงไปฟังธรรมในสำนักพระศาสดาเสีย. อาฬวกยักษ์ฟังคำของยักษ์ทั้งสองนั้นแล้วก็คิดว่า ยักษ์ทั้งสองนี้พูดว่า พระสมณะโล้นรูปหนึ่งบังอาจนั่งเหนือบัลลังก์ของเรา ก็ไม่พอใจ โกรธเกรี้ยวพูดว่า วันนี้เรากับสมณะรูปนี้จักต้องทำสงครามกัน พวกท่านจงเป็นสหายเราในสงความนั้น แล้วก็ยกเท้าข้างขวาเหยียบยอดเขาระยะประมาณ ๖๐ โยชน์. ยอดเขานั้นก็แยกออกเป็นสองส่วน. ตั้งแต่นั้น พึงกล่าวเรื่องการรบของอาฬวกยักษ์ให้พิสดาร.
ก็อาฬวกยักษ์ แม้รบกับพระตถาคตด้วยอาการต่างๆ ตลอดคืนยังรุ่ง ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงเข้าไปหาพระศาสดาถามปัญหา ๘ ข้อ พระศาสดาก็ทรงวิสัชนา. จบเทศนา อาฬวกยักษ์ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. ท่านผู้ประสงค์จะกล่าวโดยพิสดารพึงตรวจดูอรรถกถาอาฬวกสูตร. วันรุ่งขึ้นเมื่ออรุณขึ้น เวลานำถาดอาหารไป พวกราชบุรุษไม่เห็นเด็กที่ควรจะจับทั่วพระนคร จึงกราบทูลแด่พระราชา. พระราชาตรัสว่า พ่อเอ๋ย เด็กมีอยู่ในที่ไม่ควรจะจับได้มิใช่หรือ. พวกเขากราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า วันนี้มีราชโอรสประสูติในราชสกุล พระเจ้าข้า.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 68
จึงตรัสว่า พ่อจงเอาไป เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่จักได้ลูกอีก จงส่งเด็กนั้นไปพร้อมกับถาดอาหาร. เมื่อพระเทวีกันแสงคร่ำครวญอยู่ ราชบุรุษเหล่านั้นก็พาเด็กไปถึงที่อยู่ของอาฬวกยักษ์พร้อมด้วยถาดอาหาร กล่าวว่า เชิญเถิด เจ้าจงรับส่วนของเจ้าไป. อาฬวกยักษ์ฟังคำของบุรุษเหล่านั้นแล้ว ก็รู้สึกละอาย เพราะตนเป็นพระอริยสาวกแล้ว ได้แต่นั่งก้มหน้า. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า อาฬวกะ บัดนี้ ท่านไม่มีกิจที่จะต้องละอายแล้ว จงอุ้มเด็กใส่มือเรา. พวกราชบุรุษก็วางอาฬวกกุมารลงในมืออาฬวกยักษ์ๆ ก็อุ้มเด็กวางไว้ในพระหัตถ์ของพระทศพล. ส่วนพระศาสดาทรงรับแล้วก็ทรงวางไว้ในมืออาฬวกยักษ์อีก. อาฬวกยักษ์อุ้มเด็กวางไว้ในมือของเหล่าราชบุรุษ. เพราะพระกุมารนั้นจากมือหนึ่งสู่อีกมือหนึ่งดังกล่าวมานี้ จึงพากันขนานพระนามกุมารนั้นว่า หัตถกอาฬวกะ. ครั้งนั้น ราชบุรุษเหล่านั้นดีใจ พาพระกุมารนั้นไปยังสำนักพระราชา. พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระกุมารนั้น ทรงเข้าพระหฤทัยว่า วันนี้อาพวกยักษ์ไม่รับถาดอาหาร จึงตรัสถามว่า เหตุไรพวกเจ้าจึงพากันมาอย่างนี้เล่า พ่อ. พวกเขากราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ความยินดีและความจำเริญมีแก่ราชสกุลแล้ว พระศาสดาประทับนั่งในภพของอาฬวกยักษ์ ทรงทรมานอาฬวกยักษ์ให้เขาดำรงอยู่ในภาวะเป็นอุบาสก โปรดให้อาฬวกยักษ์ให้พระกุมารแก่พวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า. แม้พระศาสดาก็ทรงให้อาฬวกยักษ์ถือบาตรจีวร เสด็จบ่ายพระพักตร์สู่นครอาฬวี. อาฬวกยักษ์นั้น เมื่อจะเข้าสู่พระนครก็รู้สึกละอาย จะถอยกลับ. พระศาสดาทรงแลดูแล้วตรัสถามว่า ละอายหรืออาฬวกะ. เขาทูลว่า พระเจ้าข้า ชาวพระนครอาศัยข้าพระองค์ ทั้งแม่ ทั้งลูก ทั้งเมีย จึงพากันตาย พวกเขาเห็นข้าพระองค์
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 69
แล้ว จักประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ก้อนดินบ้าง ธนูบ้าง เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงจะถอยกลับ พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสปลอบว่า อาฬวกะ ไม่มีดอก เมื่อท่านไปกับเราก็สิ้นภัย ไปกันเถิด ประทับหยุดยืนอยู่แนวป่าไม่ไกลพระนคร. แม้พระเจ้าอาฬวกะก็ทรงพาชาวพระนครออกไปต้อนรับเสด็จพระศาสดา. พระศาสดาก็ทรงแสดงธรรมโปรดบริษัทที่มาถึง. จบเทศนา เหล่าสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ก็พากันดื่มน้ำอมฤต. ชาวเมืองอาฬวีเหล่านั้น พากันไปที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ณ แนวป่านั้นนั่นเอง จัดพลีกรรมกันทุกปี. แม้อาฬวกยักษ์ก็สงเคราะห์ชาวเมืองด้วยการจัดรักษาอย่างเป็นธรรม.
อาฬวกกุมารแม้นั้น เจริญวัยแล้ว ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วก็แทงตลอดมรรคและผล ๓ มีอุบาสกผู้เป็นอริยสาวก ๕๐๐ คนห้อมล้อมเที่ยวไปทุกเวลา. ต่อมาวันหนึ่ง เขาเข้าไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ คน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเขามีวินัยอันดี จึงตรัสถามว่า อาฬวกะ เธอมีบริษัทมาก สงเคราะห์กันอย่างไร. เขากราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเขายินดีด้วยการให้ ข้าพระองค์ก็เคราะห์ด้วยการให้ เมื่อเขายินดีด้วยการพูดจาน่ารัก ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการพูดจาน่ารัก เมื่อเขายินดีให้ช่วยทำกิจที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้น ข้าพระองค์ก็จะสงเคราะห์ด้วยการช่วยทำกิจที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้นไป เมื่อเขายินดีด้วยการให้วางตนเสมอกัน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการวางตนเสมอกัน พระเจ้าข้า. เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างนี้. ต่อมาภายหลังพระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวกอุบาสกไว้ในตำแหน่งต่างๆ จึงทรงสถาปนา
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 70
หัตถกอาฬวกอุบาสกไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสก ผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔ แล.
จบอรรถกถาสูตรที่ ๔