[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 146
คำว่า ภควา นี้เป็นคำเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้วิเศษโดยพระ-คุณเป็นยอดของสัตว์ เป็นครูและควรเคารพ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐสุด คำว่า ภควา เป็น คำสูงสุด พระองค์ทรงเป็นครู และควรแก่ความเคารพ ด้วยเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกว่า ภควา ความจริง นามคือชื่อมี ๔ คือ อาวัตถิกะ ชื่อตามรุ่น ลิงคิกะ ชื่อตามเพศ
เนมิตตกะ ชื่อตามคุณ อธิจจสมุปันนะ ชื่อตั้งลอยๆ ชื่อว่าอธิจจสมุปปันนนาม ท่านอธิบายว่า เป็นนามที่ตั้งตามความพอใจ ในนามทั้ง ๔ นั้น นามเป็นต้น อย่างนี้ว่า โคลูก โคฝึก โคงาน ชื่อว่า อาวัตถิกนาม นามเป็นต้นอย่างนี้ว่า คนมีไม้เท้า [คนแก่] คนมีฉัตร [พระราชา] สัตว์มีหงอน [นกยูง] สัตว์มีงวง [ช้าง] ชื่อว่าลิงคิกนาม นามเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้มีวิชชา ๓ ผู้มีอภิญญา ๖ ชื่อว่า เนมิตตกนาม นามเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้เจริญด้วยสิริ ผู้เจริญด้วยทรัพย์ ซึ่งเป็นไปไม่เพ่งความของคำ ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนนาม
ส่วนนามว่า ภควา นี้ เป็นเนมิตตกนามโดยพระคุณ ไม่ใช่พระนางเจ้ามหามายาพุทธมารดาตั้ง ไม่ใช่พระเจ้าสุทโธนมหาราช พุทธบิดาตั้ง ไม่ใช่พระประยูรญาติ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ตั้ง ไม่ใช่เทวดาพิเศษมีท้าวสักกะ ท้าวสันดุสิตเป็นต้นตั้ง
เหมือนอย่างที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า พระนามว่า ภควา นี้พระพุทธมารดามิได้ตั้ง ฯลฯ พระนามคือ ภควา เป็นสัจฉิกาบัญญัติ เพื่อประกาศพระคุณทั้งหลาย ที่เป็นคุณเนมิตตกนาม พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถานี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า ภควา เพราะทรงเป็นผู้มีภคะคือโชค เพราะทรงเป็นผู้เสพ [ที่สงัด] เพราะทรงมีภาค [ส่วนที่ควรได้รับจตุปัจจัย หรือมีส่วนแห่งธรรม] เพราะทรงเป็นผู้จำแนกธรรม เพราะได้ทรงทำการหักบาปธรรม เพราะทรงเป็นครู เพราะทรงมีภาคยะคือบุญ เพราะทรงอบรมพระองค์ดี แล้วด้วยญายธรรมเป็นอันมาก เพราะเป็นผู้ถึงที่สุดภพ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น