อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์
โดย นิรมิต  5 ก.ย. 2555
หัวข้อหมายเลข 21686

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

มีความสงสัยว่า เพราะเหตุไร โลภะ โดยปรกติ จึงติดข้องในอิฏฐารมณ์ หรืออารมณ์ที่ประณีต ที่เป็นผลของกุศล และเพราะเหตุไร โทสะ โดยปรกติ จึงขัดข้องในอนิฏฐารมณ์ หรืออารมณ์ที่หยาบที่เป็นผลของอกุศล (ว่ากันตามสภาพธรรม) ทำไมจึงต้องพอใจในอารมณ์ที่ประณีต แล้วทำไมจึงต้องไม่พอใจในอารมณ์ที่ไม่ประณีต?

แล้วถ้าบุคคลนั้นสั่งสมมาที่จะเกิดโลภะยินดีพอใจติดข้องในอารมณ์หยาบ อนิฏฐารมณ์ มากกว่าติดข้องในอารมณ์ที่ประณีต หรือถึงขนาดไม่ชอบเลยกับอารมณ์ที่ประณีต ควรจะชื่อว่าเป็นผู้มีโลภะหยาบกว่าผู้ที่ชอบในอารมณ์ที่ประณีตไหม ในเมื่อโดยปรกติโลภะก็ควรจะชอบอารมณ์ที่ประณีต และโทสะก็ควรจะไม่ชอบอารมณ์ที่ไม่ประณีต (ว่าโดยนัยว่า ถ้าติดข้องพอใจ สั่งสมมาในอารมณ์ที่หยาบ ไม่ประณีต ก็แปลว่าน่าจะต้องเกิดในอบายภูมิมามากกว่า จึงพอใจในอารมณ์ที่หยาบ ในขณะที่ผู้ที่สั่งสมพอใจในอารมณ์ที่ประณีต ก็แสดงว่าน่าจะเกิดในสุขคติมากกว่า จึงพอใจในอารมณ์ที่ประณีต แปลว่าผู้ที่ติดข้องในอารมณ์หยาบ แสดงว่าโลภะนั้นต้องหยาบกว่า พูดแบบนี้จะถือว่า ถูกผิดประการใดครับ)



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 5 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อิฏฐารมณ์ อิฏฺฐ (น่าปรารถนา, น่าพอใจ) + อารมฺณ (สิ่งที่จิตยึดหน่วง) อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ หมายถึง อารมณ์ที่ดีปานกลาง เช่น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่สวยงาม เป็นที่น่าปรารถนาของคนทั่วไป แต่ไม่ถึงกับประณีตจนเป็นทิพย์ เป็นอารมณ์ของจิตได้ทั้ง ๔ ชาติ

อติอิฏฐารมณ์ อติ (ยิ่ง, เกิน, ล่วง) + อิฏฐ (น่าปรารถนา, น่าพอใจ) + อารมฺมณ (สิ่งที่จิตยึดหน่วง) อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าพอใจอย่างยิ่ง หมายถึง อารมณ์ที่ดีเลิศ เป็นสภาพที่ประณีต เช่น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เป็นทิพย์ หรือสีที่เป็นรูปกายของพระผู้มีพระภาค เสียงของพระผู้มีพระภาค เป็นต้น

อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่ดี เป็นสภาพที่หยาบทราม ไม่ประณีต เช่น สีที่ซากศพ เสียงด่า กลิ่นเหม็น รสเผ็ดจัด โผฏฐัพพะแข็งไป อ่อนไป ร้อนไป เย็นไป

อนิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ของกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต หรือกิริยาจิตก็ได้

ซึ่งโดยทั่วไปโลภะเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ติดข้องได้เกือบทุกอย่าง เว้นโลกุตตรธรรม ๙ โลภะย่อมติดข้องในอารมณ์ที่ดี มี อิฏฐารมณ์ เช่น สีสวยๆ เสียงเพราะๆ ด้วยเหตุที่ว่า กามคุณ คุณของรูปประการหนึ่ง คือ รูปที่ดี ย่อมนำมาซึ่ง สุขโสมนัส เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตเกิดกับเวทนาที่เป็นโสมนัสเวทนาและ อุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น รูปที่ดี จึงทำให้เกิดสุขโสมนัส ที่เกิดกับโลภะเป็นปัจจัยสำคัญ ครับ เพราะ พอใจ ติดข้องในสิ่งที่ดี ในอารมณ์ที่ดี เป็นส่วนมาก ครับ

ส่วน โทสมูลจิตเกิดกับโทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น รูปที่ไม่ดี เป็นต้น ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ เมื่อรู้ในอารมณ์ที่ไม่ดี ย่อมเกิดความไม่ชอบ คือ เกิดทุกข์โทมนัสเวทนา ที่เกิดกับโทสมูลจิตเป็นสำคัญ ครับ เพราะโดยมาก ที่กระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดี ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความไม่ชอบใจ ไม่สบายใจ ซึ่งความไม่ชอบ ขุ่นเคืองใจ ไม่ใช่ลักษณะติดข้อง แต่เป็นลักษณะของโทสะ ครับ

ส่วนบางบุคคล ก็สะสมมาแตกต่างกันไป ตามความวิจิตรของจิต ย่อมชอบไม่เหมือนกันก็ได้ และ ไม่ชอบบางอย่างที่ไม่เหมือนกันก็ได้ แม้จะเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี โลภะ ก็ติดข้องพอใจในสิ่งนั้นได้ เพราะ โลภะติดข้องได้ทุกอย่าง ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เมื่อติดข้องในอารมณ์ที่ไม่ดี มี สี ไม่สวยก็ชอบ จะเป็นโลภะที่หยาบครับ แต่ เป็นไปตามการสะสมมาในอดีต ที่เคยชอบอารมณ์นี้มาก่อนในอดีตชาติ เป็นต้นได้ครับ

ซึ่งโลภะที่หยาบ หรือ โลภะหยาบ ใช้กับ โลภะที่มีกำลัง คือ ถึงการล่วงศีล มีการอทินนาทานเป็นต้น ชื่อว่า เป็นโลภะที่หยาบ ส่วนโลภะที่ละเอียด คือ โลภะที่เกิด ขณะที่เป็นอกุศลจิตเพียงเล็กน้อย ลืมตาขึ้นมาก็ติดข้องแล้วโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น ครับ

เพราะฉะนั้น การชอบในอารมณ์ที่ไม่ดี และ ไม่ชอบในอารมณ์ที่ดี ก็เป็นไปตามการสะสมของแต่ละคน ซึ่งวิจิตรละเอียดอย่างยิ่ง เพราะ มีการสะสมมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ นับชาติไม่ถ้วน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 6 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อารมณ์ที่น่าปรารถนา กับ ไม่น่าปรารถนา เป็นธรรมที่มีจริง โดยที่ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ถ้าเกิดความยินดี พอใจ ติดข้องในสิ่งใด หรือ เกิดความไม่พอใจในสิ่งใด ขณะนั้นเป็นผู้ถูกกิเลสทั้งหลายครอบงำแล้ว ที่ติดข้อง ยินดีพอใจหรือ แม้กระทั่ง ไม่พอใจ นั้น เพราะการได้สั่งสมกิเลสประเภทนั้นๆ มาแล้ว เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย กิเลสก็เกิดขึ้น เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงมีการรู้อารมณ์ต่างๆ มี รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น และโดยปกติของผู้ที่เป็นปุถุชน จะห้ามไม่ให้ติดข้อง จะห้ามไม่ให้ยินดีในสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะห้ามไม่ให้โทสะเกิด ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะสะสมกิเลสประเภทนั้นๆ มาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ อีกทั้งยังไม่เห็นโทษของกุศล ยังไม่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง จึงถูกกิเลสกุศลครอบงำอยู่เป็นประจำ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย กิเลสก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

ส่วนผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดแล้ว กิเลสย่อมไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ประเภทใดๆ ก็ตาม ดังนั้น ผู้ที่หมดกิเลสแล้ว กับ สัตว์โลกผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย นิรมิต  วันที่ 6 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนา อ.ผเดิม และ อ.คำปั่น ครับ _/\_


ความคิดเห็น 4    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 7 ก.ย. 2555

สิ่งที่แยกแยะได้ว่าสิ่งใดเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ ได้แก่ อเหตุกวิบากจิต เช่นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส และจิตกระทบสัมผัส เป็นต้น ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ จิตที่รับรู้อารมณ์เป็นกุศลวิบากจิตเหล่านั้น ในทางตรงข้ามถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์ จิตที่รับรู้อารมณ์เป็นอกุศลวิบากจิต

อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์


ความคิดเห็น 5    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 7 ก.ย. 2555

โลภะเป็นนามธรรม อารมณ์ (อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์) เป็นสิ่งที่โลภะรู้ติดข้อง แต่ละคนสะสมกิเลสต่างกัน ระดับของโลภะย่อมต่างกันแม้รู้อารมณ์เดียวกัน จึงไม่สามารถสรุปเป็นที่แน่นอนได้ว่า โลภะที่ติดข้องรู้อารมณ์ประณีต (อิฏฐารมณ์) ละเอียดกว่า (กำลังน้อย) โลภะที่ติดข้องในอารมณ์ที่ไม่ประณีต (อนิฏฐารมณ์)

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย ธุลีพุทธบาท  วันที่ 5 ก.พ. 2558

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนา ครับ.


ความคิดเห็น 7    โดย peem  วันที่ 1 พ.ย. 2560

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย chatchai.k  วันที่ 27 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 9    โดย Jarunee.A  วันที่ 6 เม.ย. 2567

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ