ทุกขอริยสัจกับทุกขลักษณะ ในไตรลักษณ์ มีอรรถต่างกัน คือ ทุกขอริยสัจ ได้แก่ สภาพธรรมที่ผู้เจริญอริยมรรค ควรกำหนดรู้ เป็นโลกียธรรม มี ๑๖๐ คือ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ เป็นธรรมที่น่าเกลียด ว่างเปล่า ส่วนทุกขลักษณะ เป็นลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นไปในภูมิ ๔ ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ รวมโลกุตตรจิตและเจตสิกที่ประกอบด้วย สรุปคือ ทุกขอริยสัจ ได้แก่ สภาพธรรม แต่ทุกขลักษณะ เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ
ทุกขเวทนา มีทุกขลักษณะด้วย และเป็นหนึ่งในทุกขอริยสัจ เพราะทุกขอริยสัจมีความหมายกว้าง ทุกขเวทนาไม่ได้เป็นผลจากทุกขลักษณะ ลักษณะของความไม่เที่ยง และความเป็นทุกข์ โดยมากท่านอธิบายเกี่ยวเนื่องกัน เพราะไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ไม่ได้จึงไม่เที่ยง คำว่าอัตตาจริงๆ แล้ว ไม่มีเป็นความเข้าใจผิดว่า มีอัตตา เป็นความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิ
ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์ [๒๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง. พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา? ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ถามว่าความว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ทุกข์ ในที่นี้ หมายถึง ทุกขเวทนาหรือทุกขลักษณะ หรือทุกขอริยสัจ สุขในที่นี้หมายถึง สุขเวทนา หรือสุข โดยนัยใด และเหตุได้โลกุตตร จิต ๘ ซึ่งมีลักษณะเป็นทุกข์ จึงไม่จัดอยู่ในทุกขอริยสัจ ทุกขอริยสัจ คือธรรมที่ควรกำหนดรู้ว่า น่าเกลียด ว่างเปล่า การที่จะรู้ได้ว่าน่าเกลียด ว่างเปล่า ก็โดยกำหนดรู้ ทุกขลักษณะใช่หรือไม่ เพราะพยัญชนะขึ้นต้นด้วยคำว่าทุกข+อริยสัจ
ข้อนี้ ขอคำตอบ เพิ่มเติมโดยนัยอื่นๆ ครับ เผื่อว่าจะเข้าใจมากขึ้น คือ ทุกขลักษณะ และอนิจจลักษณะ ผมกำหนดรู้อนิจจลักษณะ โดยพิจารณาว่ามีแล้วไม่มี ไม่อยู่ คงที่ได้ตลอดไป ส่วนทุกขลัษณะ ถ้าตามคำตอบก่อน เข้าใจว่าต้องพิจารณาถึงความเบียดเบียน บีบคั้น ทนได้ยาก (นัยของทุกขเวทนา) พิจารณาที่ไร ก็เห็นไม่ชัดครับ เห็นแต่ อนิจจลักษณะ อยากให้ช่วยอธิบายโดยนัยของจิตครับ คือ จิตโดยสภาพรู้นั้นมี ๑ นั้น ชื่อว่าไม่เที่ยงเพราะมีแล้วไม่มี ไม่คงที่เกิดแล้วดับไป แล้วนัยของความเป็นทุกข์ จะอธิบายว่าอย่างไรครับ ส่วนความเป็นอนัตตาของจิตคือไม่มีตัวตนที่แท้จริง ต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง ดังนั้น ขอทราบคำอธิบาย นัยของความเป็นทุกข์ของจิตครับ
คำที่ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ หมายถึง ทุกขลักษณะ ถ้ากล่าว สิ่งใดเที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุข สุขในที่นี้คือ ความไม่เปลี่ยนแปลงยั่งยืน โลกุตตรจิต และเจตสิก ที่เกิดร่วม มีทุกขลักษณะ เพราะเกิดดับ แต่ไม่ใชทุกขอริยสัจ เพราะไม่ใช่ทุกข์ ที่ผู้อบรมเจริญปัญญากำหนดรู้ สำหรับผู้ที่เริ่มอบรมเจริญปัญญา ขั้นแรกปัญญา ยังไม่สามารถรู้ทุกขลักษณะในไตรลักษณ์ได้ แต่รู้ทุกขอริยสัจ โดยการฟังและการค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพของนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ที่กำลังปรากฏ ก่อนที่จะไปรู้ทุกขลักษณะ อนิจลักษณะอนัตตลักษณะ ส่วนการอธิบายทุกขลักษณะของจิต มีนัยเดียวกับ ขันธ์อื่นๆ คือ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่ทราบว่าแต่ละเรื่องที่คุณ WS202398 ถาม ยกมาจากหัวข้อที่ผ่านมาในกระดานสนทนานี้หรือไม่ ถ้าใช่ ช่วยบอกชื่อเรื่องของหัวข้อ (กระทู้) ที่คุณยกมา ไม่ต้องบอกตัวเลข ก็ได้ ผมจะได้พิมพ์ ที่ช่อง " ค้นหา " ที่มุมขวาด้านบน ของกระดานสนทนา ซึ่งก็จะง่ายต่อการกลับไปอ่านทบทวนน่ะครับ
จิตเป็นนามธรรม ก็เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง แต่เราไม่เห็น เช่น ตอนวัยเด็กความจำดี แต่พอชราแล้ว ความจำก็เริ่มเสื่อม จำอะไรไม่ค่อยได้ หลงๆ ลืมๆ บ้าง นามธรรมก็ชราเป็นทุกข์ที่ปกปิด ไม่เหมือนรูปธรรมที่มองเห็น เช่น ผมหงอก ฟันหัก เป็นต้น
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาฯ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารธรรมทั้งหมดไม่เที่ยง ความเสื่อม ความไม่เที่ยงของ รูปธรรมและนามธรรม ความไม่เที่ยงของรูปธรรม พอปรากฏให้เห็นได้บ้าง แต่ความไม่เที่ยง ของนามธรรมรู้ยาก เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงเมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้นหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
ผู้ใดที่ไม่เห็นความเกิดขึ้นและดับไป ของนามธรรมและรูปธรรมจนละคลาย ผู้นั้นจะบรรลุอริยสัจจ์ 4 เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารธรรมทั้งปวงเกิดแล้วก็ดับ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเหมือนกันหมด การเกิดดับ ความไม่เที่ยงนี่แหละเป็นทุกข์ สุขก็ไม่เที่ยง เพราะว่าเกิดแล้วก็ดับไป ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ได้แก่ ปรมัตถธรรม 4 คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา นิพพานไม่เกิดไม่ดับ จึงเที่ยง เป็นสุข เป็นอนัตตา
สาธุๆ สาธุ สาธุ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร
ขอเชิญศึกษาพระธรรม...
รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์
พระไตรปิฎก
ฟังธรรม
วีดีโอ
ซีดี
หนังสือ
กระดานสนทนา
การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)