วิกาลโภชนาสิกขาบท
โดย wittawat  27 ก.ค. 2566
หัวข้อหมายเลข 46312

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้า 528

พระบัญญัติ

๘๑. ๗. อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่ง ของฉัน ก็ดี ในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์.

เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ

เข้าใจว่าพระพุทธประสงค์ในสิกขาบทข้อนี้ เพื่อขัดเกลาความติดในรส กระผมมีคำถามดังต่อไปนี้ครับ

1. คำว่าของเคี้ยว กับของฉัน นี้ถูกแปลมาจากภาษาบาลีว่า ขาทนียะ โภชนียะ ใช่ไหมครับ แล้ว 2 คำนี้ความหมายต่างกันอย่างไรครับ (เคยได้ยินว่าเป็นของกินเล่น กับของกินจริงๆ แม้ว่าอ่านข้อความในอรรถกถา แล้วก็ยังงง อยู่ดีครับ)

2. ยารักษาโรค ที่ภิกษุทาน เช่น ยาเม็ดแก้โรคกระเพาะ ทานเข้าไปต้องอาบัติไหมครับ ถ้าประสงค์ทานป้องกันโรคในเวลาวิกาล เช่น โรคกระเพาะ เป็นต้น และยาปัจจุบันบางตัวก็ต้องเคี้ยวกลืนด้วยครับ

3. น้ำปานะแม้ว่าทรงอนุญาต ไม่ทราบว่าถ้าทานด้วยคิดว่าแทนอาหารต้องอาบัติไหมครับ

4. น้ำเปล่าถ้าเอาไปต้ม แล้วฉันต้องอาบัติไหมครับ ทราบมาว่าการต้มน้ำ หรือน้ำปานะทำไม่ได้ ไม่ทราบว่าจุดประสงค์เพื่ออะไร หรือเกี่ยวเนื่องกับสิกขาบทอื่นใด

5. น้ำมะพร้าว น้ำแตงโม น้ำที่มาจากมหาผลาผล อันนี้เป็นน้ำปานะไหมครับ แต่ก็มีพระบัญญัติว่า ทรงอนุญาติน้ำผลไม้ทุกชนิด ไม่ทราบว่าจุดประสงค์ที่ห้ามน้ำผลไม้ที่มาจากมหาผลาผล เพื่ออะไร

6. การรับประทานของฉัน มากกว่า 1 ครั้ง ก่อนยามวิกาลต้องอาบัติไหมครับ เช่น ข้าวเช้า ข้าวเที่ยง

ขอกราบอนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 29 ก.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่องพระวินัยเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง ขอโอกาสตอบคำถามของคุณวิทวัต ดังนี้
1. คำว่าของเคี้ยว กับของฉัน นี้ถูกแปลมาจากภาษาบาลีว่า ขาทนียะ โภชนียะ ใช่ไหมครับ แล้ว 2 คำนี้ความหมายต่างกันอย่างไรครับ (เคยได้ยินว่าเป็นของกินเล่น กับของกินจริงๆ แม้ว่าอ่านข้อความในอรรถกถา แล้วก็ยังงง อยู่ดีครับ)
*คำว่าของเคี้ยว กับของฉัน นี้ถูกแปลมาจากภาษาบาลีว่า ขาทนียะ โภชนียะ นั้น ถูกต้อง ในพระวินัยปิฎก แสดงไว้ว่า โภชนียะ แปลว่า ของที่ควรบริโภค ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ส่วนขาทนียะ แปลว่า ของที่ควรเคี้ยว ประเภทของขาทนียะ คือ ยกเว้น โภชนะ ๕ และน้ำ นอกนั้นเป็นขาทนียะ แม้ประเภทพวกน้ำนม ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ของที่ควรเคี้ยว เพราะไม่ต้องเคี้ยว ก็สงเคราะห์ลงในขาทนียะด้วย


2. ยารักษาโรค ที่ภิกษุทาน เช่น ยาเม็ดแก้โรคกระเพาะ ทานเข้าไปต้องอาบัติไหมครับ ถ้าประสงค์ทานป้องกันโรคในเวลาวิกาล เช่น โรคกระเพาะ เป็นต้น และยาปัจจุบันบางตัวก็ต้องเคี้ยวกลืนด้วยครับ
*ยารักษาโรค ภิกษุสามารถฉันได้ตลอดชีวิตเฉพาะในกรณีที่เป็นโรค ย่อมไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าฉันประดุจเป็นอาหาร ย่อมเป็นอาบัติทุกกฏ (หลักฐานอ้างอิงอยู่ในข้อที่ ๓)


3. น้ำปานะแม้ว่าทรงอนุญาต ไม่ทราบว่าถ้าทานด้วยคิดว่าแทนอาหารต้องอาบัติไหมครับ
*น้ำปานะ เป็นประเภทยามกาลิก คือ ฉันได้ชั่วยาม คือ หลังเที่ยงไปแล้ว แม้ว่าจะทรงอนุญาตให้ฉันได้ แต่ถ้าภิกษุฉันเป็นประดุจอาหาร ฉันเพื่อให้อิ่มแทนอาหาร ย่อมเป็นอาบัติทุกกฏ ตามข้อความใน [เล่มที่ 4] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๕๐๒ ดังนี้
ภิกษุรับประเคนของที่เป็นยามกาลิก (พวกน้ำปานะ) สัตตาหกาลิก (เนยใน เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย) ยาวชีวิก (ยาวรักษาโรค) เพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฏ. ขณะกลืน ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน.



4. น้ำเปล่าถ้าเอาไปต้ม แล้วฉันต้องอาบัติไหมครับ ทราบมาว่าการต้มน้ำ หรือน้ำปานะทำไม่ได้ ไม่ทราบว่าจุดประสงค์เพื่ออะไร หรือเกี่ยวเนื่องกับสิกขาบทอื่นใด
*น้ำเปล่าภิกษุฉันได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรับประเคน แต่ถ้าจะนำไปต้มเป็นน้ำร้อน โดยที่ท่านไม่ได้ก่อไฟเอง มีไฟอยู่แล้ว ก็ย่อมได้ แต่ในกรณีน้ำปานะ ที่ผ่านการสุกด้วยไฟ ย่อมไม่เหมาะควรแก่ภิกษุ เป็นอาบัติด้วย เพราะเหตุว่า แสดงถึงความเป็นผู้มีกิจการงานเหมือนอย่างคฤหัสถ์ ไม่ต่างอะไรกับทำอาหารเลย ที่จะมีก่อไฟ หุงต้ม เป็นต้น


5. น้ำมะพร้าว น้ำแตงโม น้ำที่มาจากมหาผลาผล อันนี้เป็นน้ำปานะไหมครับ แต่ก็มีพระบัญญัติว่า ทรงอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด ไม่ทราบว่าจุดประสงค์ที่ห้ามน้ำผลไม้ที่มาจากมหาผลาผล เพื่ออะไร
*ผลไม้ที่อนุญาตเพื่อทำน้ำปานะ ได้แก่ น้ำจากผลไม้ ๘ ชนิด คือ น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะซาง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือองุ่น ๑ น้ำปานะทำด้วยเง่าบัว ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑
ไม่ใชว่าผลไม้ทุกชนิดจะมาทำเป็นน้ำปานะได้ อย่างเช่นผลไม้ประเภทมหาผลหรือผลใหญ่ ไม่สามารถมาทำเป็นน้ำปานะถวายภิกษุเพื่อฉันหลังเที่ยงได้ เหตุผลที่พอจะพิจารณาได้คือ ผลไม้ประเภทมหาผล เมื่อได้ฉันแล้ว ทำให้อิ่ม แทบจะไม่ต่างอะไรกับฉันอาหารเลย ครับ

ข้อความใน [เล่มที่ 7] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๕๒ แสดงความละเอียดของน้ำปานะ ดังนี้
*พระพุทธานุญาตน้ำอัฏฐบาน (ปานะ ๘ อย่าง)

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตน้ำปานะ ๘ ชนิด คือ น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะซาง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือองุ่น ๑ น้ำปานะทำด้วยเง่าบัว ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด

... น้ำปานะ ๘ อย่าง ทรงอนุญาตไว้ น้ำปานะแห่งผลไม้เล็กมี หวายมะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ และเล็บเหยี่ยว เป็นต้น มีคติอย่างอฏัฐบานแท้ น้ำปานะแห่งผลไม้เหล่านั้น ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ก็จริง ถึงกระนั้น ย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ เพราะฉะนั้น จึงควร


6. การรับประทานของฉัน มากกว่า 1 ครั้ง ก่อนยามวิกาลต้องอาบัติไหมครับ เช่น ข้าวเช้า ข้าวเที่ยง
ภายในเวลาตั้งแต่อรุณขึ้น ถึง เที่ยงตรง ภิกษุจะฉันอาหารกี่ครั้ง ก็ย่อมได้ ไม่มีอาบัติในส่วนนี้ แต่ก็ต้องดูสิกขาบทอื่นประกอบด้วย เช่น ต้องได้รับประเคนก่อน เป็นต้น


... ยินดีในกุศลของคุณวิทวัตและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย wittawat  วันที่ 31 ก.ค. 2566

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย nui_sudto55  วันที่ 6 ต.ค. 2567

ขออนุโมทนาครับ