๙. สตธรรมชาดก ว่าด้วยสตธรรมมาณพ
โดย บ้านธัมมะ  21 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35593

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 161

๙. สตธรรมชาดก

ว่าด้วยสตธรรมมาณพ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 161

๙. สตธรรมชาดก

ว่าด้วยสตธรรมมาณพ

[๒๐๗] อาหารที่เราบริโภค น้อยด้วย เป็นเดนด้วย อนึ่ง เขาให้แก่เราโดยยากเต็มที เราเป็นชาติพราหมณ์บริสุทธิ์ เพราะเหตุนั้น อาหารที่เราบริโภคเข้าไปแล้วจึงกลับออกมาอีก.

[๒๐๘] ภิกษุใดละทิ้งธรรมเสีย หาเลี้ยงชีพโดยไม่ชอบธรรม ภิกษุนั้นก็ย่อมไม่เพลินด้วยลาภ แม้ที่ได้มาแล้ว เปรียบเหมือนสตธรรมมาณพฉะนั้น.

จบ สตธรรมชาดกที่ ๙

อรรถกถาสตธรรมชาดกที่ ๙

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภการแสวงหาไม่ควร ๒๑ อย่าง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ เป็นต้นว่า ตญฺจ อปฺปญฺจ อุจฺฉิฏฺํ ดังนี้.

เรื่องพิสดารมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง ภิกษุเป็นอันมากสำเร็จ ชีวิตด้วยการแสวงหาไม่ควร ๒๑ อย่าง เป็นต้นว่า การเป็นหมอ การเป็นทูต การส่งข่าว การรับใช้ การให้ไม้สีฟัน การให้ไม้ไผ่


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 162

การให้ดอกไม้ การให้ผลไม้ การให้จุณสำหรับทา การให้ครุภัณฑ์ การให้ยา การให้ของบิณฑบาต. การแสวงหาไม่ควรนั้น จักมีแจ้งในสาเกตชาดก.

พระศาสดาทรงทราบการเลี้ยงชีพของภิกษุเหล่านั้น ทรงพระดำริว่า บัดนี้ภิกษุเป็นอันมากสำเร็จชีวิตด้วยการ แสวงหาไม่ควร ครั้นสำเร็จชีวิตอย่างนี้แล้วจักไม่พ้นความเป็นยักษ์ ความเป็นเปรต จักเกิดเป็นโคเทียมแอก จักเกิดในนรก เราควรกล่าวธรรมเทศนาสักอย่างหนึ่งอันเป็นอัธยาศัยของตน เป็นปฏิภาณของตน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของพวกเธอ แล้วรับสั่งให้หมู่ภิกษุประชุมกัน ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ควรให้ปัจจัยเกิดขึ้นด้วยการแสวงหาไม่ควร ๒๑ อย่าง เพราะบิณฑบาตที่เกิดขึ้นด้วยการแสวงหาไม่ควรเป็นเช่นกับก้อนทองแดงร้อน เปรียบเหมือนยาพิษร้ายแรง จริงอยู่การแสวงหาไม่ควรนี้ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า ติเตียน คัดค้าน เมื่อภิกษุบริโภคบิณฑบาตอันเกิดขึ้นด้วยการแสวงหาอันไม่ควร จะไม่มีความร่าเริงหรือโสมนัสเลย เพราะว่าบิณฑบาตอันเกิดขึ้นอย่างนี้เป็นเช่นกับอาหารเดนของคนจัณฑาล ในศาสนาของเรา การบริโภคบิณฑบาตนั้น ย่อมเป็นเหมือนการบริโภคอาหารเดนของคนจัณฑาล ชื่อสตธรรมมาณพ แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 163

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดคนจัณฑาล ครั้นเจริญวัยได้ตระเตรียมข้าวสารเป็นเสบียงและห่อข้าวเดินทางไปทำกรณียกิจอย่างหนึ่ง. ในกาลนั้น ในกรุงพาราณสีมีมาณพคนหนึ่ง ชื่อ สตธรรม เกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาลอุทิจจโคตร. เขามิได้ตระเตรียมข้าวสารหรือห่อข้าวเดินทางไปด้วยกรณียกิจอย่างหนึ่ง. ทั้งสองได้มาพบกันที่ทางใหญ่. มาณพจึงถามพระโพธิสัตว์ว่า ท่านเป็นชาติอะไร. มาณพบอกว่า เราเป็นคนจัณฑาล แล้วถามมาณพว่า ก็ท่านเล่าเป็นชาติอะไร เขาบอกว่า เราเป็นพราหมณ์อุทิจจโคตร. ดีแล้วเราไปด้วยกัน ทั้งสองก็เดินทางร่วมกันไป. ได้เวลาอาหารเช้า พระโพธิสัตว์จึงนั่งในที่ที่หาน้ำง่าย ล้างมือแก้ห่อข้าวแล้วกล่าวว่า มาณพบริโภคข้าวกันเถิด. มาณพตอบว่า ไม่มีเสียละเจ้าคนจัณฑาลที่เราจะต้องการอาหารของท่าน. พระโพธิสัตว์จึงว่าตามใจ แล้วแบ่งอาหารเพียงพอสำหรับตนไว้ในใบไม้อื่น ไม่ทำอาหารในห่อให้เป็นเดน มัดห่อวางไว้ข้างหนึ่ง บริโภค ดื่มน้ำ จากนั้นก็ล้างมือล้างเท้าถือเอาข้าวสารและอาหารที่เหลือ กล่าวว่าไปกันเถิดมาณพ แล้วก็เดินทางต่อไป. เขาพากันเดินทางไปตลอดวันยังค่ำ ในตอนเย็น ทั้งสองพากันลงอาบน้ำในที่ที่น้ำบริบูรณ์แห่งหนึ่ง เสร็จแล้วก็ขึ้น. พระโพธิสัตว์นั่งในที่สำราญ แล้วแก้ห่ออาหาร ไม่ได้เชิญมาณพ เริ่มบริโภค. มาณพเหน็ดเหนื่อย


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 164

เพราะการเดินทางมาตลอดวัน เกิดความหิวโหย ได้แต่ยืนมองด้วยคิดว่า หากเขาให้อาหารเรา เราก็จักบริโภค. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็มิได้พูดอะไร บริโภคท่าเดียว. มาณพคิดว่า เจ้าคนจัณฑาลนี้ไม่พูดกับเราเลย บริโภคจนหมด เราควรยึดเอาก้อนอาหารไว้ ทิ้งเศษอาหารข้างบนเสีย แล้วบริโภคส่วนที่เหลือ. มาณพได้ทำดังนั้น แล้วบริโภคอาหารเดน. ครั้นบริโภคเสร็จแล้วเท่านั้น ก็เกิดความร้อนใจอย่างแรงว่า เราทำกรรมอันไม่สมควรแก่ชาติ โคตร ตระกูล และประเทศของตน เราบริโภคอาหารเดนของคนจัณฑาล. ทันใดนั้นเองอาหารปนโลหิตก็พุ่งออกจากปากของมาณพนั้น. เขาคร่ำครวญ เพราะความโศกใหญ่หลวงเกิดขึ้นว่า เราทำกรรมอันไม่สมควร เพราะเหตุอาหารเพียงเล็กน้อย แล้วกล่าวคาถาแรกว่า :-

อาหารที่เราบริโภคน้อยด้วย เป็นเดนด้วย อนึ่ง เขาให้แก่เราโดยยากเย็นเต็มที เราเป็นชาติพราหมณ์บริสุทธิ์ เพราะเหตุนั้นอาหารที่เราบริโภคเข้าไปแล้ว จึงกลับออกมาอีก.

ในคาถานั้นมีความสังเขปดังต่อไปนี้ เราบริโภคอาหารใดอาหารนั้นน้อยด้วยเป็นเดนด้วย คนจัณฑาลนั้นมิได้ให้อาหารแก่เราด้วยความพอใจของตน ที่แท้ถูกเรายึดจึงได้ให้ด้วยความยาก คือด้วยความลำบาก เราเป็นพราหมณ์มีชาติบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนั้นอาหารที่เราบริโภคจึงพลุ่งออกมาพร้อมกับโลหิต.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 165

มาณพคร่ำครวญอยู่อย่างนี้แล้วจึงคิดว่า เราทำกรรมอันไม่สมควร ถึงอย่างนี้แล้วจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม จึงเข้าป่าไปไม่แสดงตนแก่ใครๆ ถึงแก่กรรมลงอย่างน่าอนาถ.

พระศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตนี้แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสตธรรมมาณพบริโภคอาหารเดนของคนจัณฑาล เป็นการบริโภคอาหารที่ไม่สมควรแก่ตน จึงมิได้เกิดความร่าเริงยินดีฉันใด ผู้ใดบวชแล้วในศาสนานี้ก็ฉันนั้น สำเร็จชีวิตด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร บริโภคปัจจัยตามที่ได้ ความร่าเริงยินดีมิได้เกิดแก่ผู้นั้น เพราะเขามีชีวิตเป็นอยู่ที่น่าตำหนิ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงคัดค้าน ครั้นทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว จึงตรัสพระคาถา ๒ คาถาว่า :-

ภิกษุใดละทิ้งธรรมเสีย หาเลี้ยงชีพโดยไม่ชอบธรรม ภิกษุนั้นก็ย่อมไม่เพลินด้วยลาภ แม้ที่ตนได้มาแล้ว เปรียบเหมือนสตมาณพฉะนั้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ ธรรม คืออาชีวปาริสุทธิคีล. บทว่า นิรงฺกตฺวา ได้แก่ นำไปทิ้งเสีย. บทว่า อธมฺเมน ได้แก่ มิจฉาชีพ กล่าวคือการแสวงหาไม่สมควร ๒๑ อย่าง อย่างนี้. บทว่า สตธมฺโม เป็นชื่อของมาณพนั้น. บาลีเป็น สุตธมฺโม บ้าง. บทว่า น นนฺทติ ความว่า มาณพสตธรรม ไม่ยินดีด้วยลาภนั้นว่า เราได้อาหารเดนของคนจัณฑาล ฉันใด


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 166

กุลบุตรผู้บวชในศาสนานี้ก็ฉันนั้น บริโภคลาภที่ได้มาด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่ยินดี ถึงความโทมนัสว่า เราเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ. เพราะฉะนั้น ผู้ที่สำเร็จชีวิตด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ควรเข้าป่าตายเสียอย่างอนาถดีกว่า เหมือนสตธรรมมาณพฉะนั้น.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ๔ ทรงประชุมชาดก เมื่อจบอริยสัจ ภิกษุเป็นอันมากบรรลุโสดาปัตติผล เป็นต้น. บุตรคนจัณฑาลใน ครั้งนั้น คือเราตถาคตในครั้งนี้แล.

จบ อรรถกถาสตธรรมชาดกที่ ๙