รบกวนอธิบายให้หนูทราบหน่อยนะคะ
มือถือสาก ปากถือศีล เป็นการแสดงถึงการกล่าวธรรม ศึกษาธรรมแต่ไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม หากพิจารณาในความเป็นจริงแล้ว กิเลสของสัตว์โลกมีมาก สะสมมาเนิ่นนาน เพราะฉะนั้นเพียงเริ่มฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญายังน้อย ก็ไม่สามารถทำอะไรกิเลสได้ จึงมีเหตุปัจจัยที่จะล่วงออกมาทางกาย วาจา เป็นธรรม หนทางการอบรมปัญญา จึงค่อยๆ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เป็นผู้ตรงที่รู้ว่ามีกิเลสมาก ไม่ได้หมายความว่า ศึกษาธรรมกิเลสจะหายไปลดลงไปเยอะ เป็นไปไม่ได้เลย นี่คือความจริงที่เป็นสัจจะ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ชีวิตของแต่ละคนก็เป็นไปตามการสะสม หลากหลายมาก แต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย จากคำที่กล่าวถึงนั้น "มือถือสาก ปากถือศีล" เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า บุคคลบางคนที่เป็นคนประพฤติชั่ว แต่กลับมีการแสดงตนว่าตนเองเป็นคนดีมีคุณธรรม ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความประพฤติเป็นไปของอกุศลธรรมเลย เป็นธรรม ชั่ว ก็เป็นธรรม และบุคคลอย่างนี้ เมื่อทำชั่วแล้ว ก็ปกปิด หรือกลบเกลื่อน หรือแม้จะโกหกว่าตนเองไม่ได้มีความชั่วอย่างนั้นก็ได้ ปรารถนาที่จะให้คนอื่นรู้ว่าตนเองเป็นคนดี แสดงถึงความหลากหลายของอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ประโยชน์ที่เกิดจากการได้ฟังพระธรรม คือ เข้าใจความจริง แท้ที่จริงแล้ว ที่เรียกว่าคนชั่ว คนไม่ดี นั้น ก็เพราะความชั่วนั่นเอง (อกุศลจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย) เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ จึงหมายรู้บุคคลนั้นได้ว่าเป็นคนชั่ว และเป็นที่น่าพิจารณาคือ ความชั่ว ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็ไม่ดีทั้งนั้น สภาพธรรมที่ชั่ว ก็ต้องเป็นชั่ว จะเป็นดีไม่ได้ เพราะฉะนั้นแล้วหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายสิ่งที่ไม่ดี ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา ความไม่รู้ อันเป็นต้นตอหรือเป็นหัวหน้าของสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
"มือถือสาก ปากถือศีล"
เป็นการกล่าวถึงลักษณะของ 'อกุศลธรรม' ที่มีการแสดงออกว่าตนเองเป็นคนดี มีคุณธรรม แต่ความประพฤติทางกาย ทางวาจา มีปกติเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นให้เดือดร้อน แล้วปกปิด กลบเกลื่อน ความประพฤติของตนเอง เพราะไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ได้แสดงถึงลักษณะของอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง คือ
"ความเป็นผู้ปรารถนาลามก"
ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีคุณธรรมในตน แต่ปรารถนาให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเองมีคุณธรรมมาก โดยมากสะสมมาที่จะมีความประพฤติชั่ว แต่แสดงตนให้ผู้อื่นทราบโดยทั่วกันว่ามีคุณธรรม ซึ่งมีตัวอย่างปรากฏมากมายในพระไตรปิฎกและอรรถกถา เช่น ท่านพระเทวทัต เป็นต้น ซึ่งสะสมมาจากความไม่เห็นโทษภัยของอกุศลธรรมที่มีกำลังที่เกิดขึ้นแล้ว
"ปัญญา" เท่านั้นทำให้เป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมทุกอย่างตามความเป็นจริง เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว จึงเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏเกิดขึ้นกับตนเองที่ได้สะสมมา หากมีลักษณะของ "อกุศลธรรม" เป็นไปโดยมาก ก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า "อกุศล"เป็น"อกุศล" ไม่ใช่ "เรา" "ปัญญา" ย่อมเห็นโทษของอกุศลอย่างจริงใจ โดยความเป็น "ธรรม" เพราะถ้ายังเป็น "อกุศลของเรา" ก็ยังมีความรักตน จึงไม่กล้าที่จะยอมรับว่าตนเองไม่ดี และรู้ตามความเป็นจริงว่าเป็น "อกุศล" ด้วยเหตุนี้ ถ้าตรงต่อสภาพธรรมที่เกิดกับตนเอง
หากเป็นผู้ที่ความประพฤติทางกาย ทางวาจา และใจไม่ดี ไม่เป็นไปตามที่ได้ศึกษาพระธรรม หรือ แสดงพระธรรมแก่ผู้อื่น แม้จะถูกติเตียนจากผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็ตาม ถ้าเป็นความจริง เป็นเรื่องจริง ก็ควรรับว่าจริง เพราะสะสมมาอย่างนั้น "ไม่ดี" คือ "ไม่ดี" ปัญญาต้อง "ตรง"
แล้วศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพต่อไป เพื่อที่ปัญญาจะเจริญขึ้นละคลายอกุศลที่มีมาก และไม่นำคำที่มีค่าประเสริฐสุดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงให้เกิด "ปัญญา" มาเป็นข้ออ้าง ข้อแก้ตัว ในการเข้าข้างอกุศล กลบเกลื่อนความไม่ดีของตนเอง ที่จะเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น หรือ เป็นอกุศลต่อไป
เพราะถึงแม้ว่าปัญญาไม่มากพอที่จะละความประพฤติไม่ดีทั้งหมดได้ทันที แต่ถ้าเป็น "ปัญญา" จริงๆ "ปัญญา" ย่อมเห็นโทษใน "ทันที" แล้วความประพฤติที่ขัดเกลาขึ้น ย่อมเป็นไปตามกำลังปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะขณะที่มีปัญญา เข้าใจว่า "อกุศล" เป็น "ธรรม" ไม่ใช่ "เรา" อย่างแท้จริง ขณะนั้นย่อมมี "หิริ" ความละอาย "โอตตัปปะ" ความเกรงกลัวในโทษภัยของอกุศล และมีโสภณธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น ศรัทธา สติ ความเป็นผู้ตรง เป็นต้น และ "ปัญญา" ไม่ได้รู้แต่ "อกุศล" ว่าเป็น "ธรรม" ไม่ใช่เรา เท่านั้น แม้ "กุศล" ก็ไม่ใช่เรา จึงไม่ยึดถือความดีว่าเป็นของเรา เป็นเราดี เราเป็นคนดี ไม่โอ้อวดในคุณความดีของตน เพราะความดีก็เป็นธรรม เกิดแล้ว ดับแล้ว ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หรือของใคร ที่จะยึดถือได้เลย
แม้ "ธรรม" ทั้งหมดที่เกิดขึ้นปรากฏ ก็ไม่ใช่ "เรา" ทุกอย่าง ไม่เว้นเลย หากเข้าใจความเป็นธรรมด้วยความเป็นผู้ตรง และจริงใจด้วย "สัจจบารมี" จริงๆ ความประพฤติย่อมเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ตามกำลังของปัญญาที่เจริญขึ้น ไม่มีทางที่ความประพฤติจะไม่ดีเหมือนเดิม หรือ แย่ลง จากการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง เพราะถ้าจำคำมาก กล่าวได้มาก มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมวิจิตร แต่ยังเป็น "เรา" ไม่ตรงต่อจุดประสงค์ของการศึกษาและเผยแพร่พระธรรมที่ถูกต้องว่า ทุกอย่างเป็นไปเพื่อ "เข้าใจ" และเพื่อ "ละ"
กิเลสย่อมพอกพูนขึ้นตามพระธรรมที่ได้ศึกษา ย่อมเป็นผู้ "มือถือสากปากถือศีล" ในที่สุด ด้วยเหตุนี้ เมื่อศึกษาพระธรรมก็ดี สนทนาธรรมก็ดี แสดงพระธรรมก็ดี ก็ควรให้ผู้อื่นทราบตามความเป็นจริงว่า ทุกคำที่กล่าวทั้งหมดมาจากการศึกษาพระธรรม เป็นคำจริงที่เป็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "ทุกคำ" ไม่ใช่คำของตนเองเลยแม้แต่คำเดียว
เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้สนทนา เห็นคุณค่าของ "พระธรรม" ไม่ใช่ในความดีของ "ตนเอง" ถึงแม้ว่าตนเองจะยังไม่มีคุณธรรมเป็นไปตามพระธรรมที่กล่าว แต่ถ้ากล่าวด้วยความเคารพ กล่าวด้วยความปรารถนาดี ให้ผู้อื่นได้เข้าใจถูกต้องในความจริง และเห็นคุณของพระรัตนตรัย และให้ผู้อื่นทราบตามความเป็นจริงว่าตนเองมีปัญญาน้อย เพียงแต่กล่าวตามที่ได้ศึกษามาเท่านั้น ไม่ปรารถนาสิ่งอื่นใดจากการสนทนาธรรม แสดงพระธรรม นอกจากเพื่อให้คนอื่นเข้าใจธรรมขึ้น และเป็นกุศลที่ปรุงแต่งเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง นี่จึงจะเป็นการแสดงพระธรรมที่ถูกต้อง ไม่ชื่อว่า "มือถือสาก ปากถือศีล" ครับ
ขอกราบนมัสการอย่างสูงสุดแด่พระรัตนตรัย
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน
และอนุโมทนาในกุศลของทุกๆ ท่านครับ
บางคนดูภายนอกดี พูดจาดี แต่จิตลึกๆ เราไม่รู้ เช่น พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง เช่น จะรู้ว่าคนนั้นมีศีล หรือไม่มีศีล ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ และมีปัญญาจึงจะรู้ ค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ