[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 413
๗. เรื่องเด็ก ๕๐๐ คน [๑๗๑]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 413
๗. เรื่องเด็ก ๕๐๐ คน [๑๗๑]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเวฬัวัน ทรงปรารภเด็ก ๕๐๐ ในระหว่างทาง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สีลทสฺสนสสมฺปนฺนํ" เป็นต้น.
พระศาสดาเสด็จบิณฑบาต พบเด็ก ๕๐๐ คน
ความพิสดารว่า วันหนึ่งพระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวารพร้อมด้วยพระอสีติมหาเถระ เสด็จเข้าไปกรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็ก ๕๐๐ คน ยกกระเช้าขนมออกจากเมืองแล้วไปสวน ในวันมหรสพวันหนึ่ง แม้เด็กเหล่านั้น ถวายบังคมพระศาสดาแล้วก็หลีกไป, ไม่กล่าวกะภิกษุแม้สักรูปหนึ่งว่า "ขอท่าน รับเอาขนม?"
พระศาสดาตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว ว่า "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักฉันขนมไหม?"
ภิกษุ. ขนมที่ไหน? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เธอทั้งหลายไม่เห็นพวกเด็กถือกระเช้าขนมเดินผ่านไป แล้วดอกหรือ?
ภิกษุ. พวกเด็กเห็นปานนั้น ไม่ถวายขนมแก่ใครๆ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย เด็กเหล่านั้นไม่นิมนต์เราหรือพวกเธอ ด้วยขนมก็จริง. ถึงกระนั้น ภิกษุผู้เป็นเจ้าของขนม ก็กำลังมาข้างหลัง ฉันขนมเสียก่อนแล้วไป จึงควร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 414
ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีความริษยาหรือความประทุษร้ายแม้ในบุคคลคนหนึ่ง; เพราะฉะนั้น พระศาสดาตรัสคำนี้แล้ว จึงพาภิกษุสงฆ์ไปประทับนั่งใต้ร่มเงาโคนไม้ต้นหนึ่ง.
พวกเด็ก เห็นพระมหากัสสปเถระเดินมาข้างหลัง เกิดความรักขึ้น มีสรีระเต็มเปี่ยมด้วยกำลังแห่งปีติ วางกระเช้า ไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ยกขนมพร้อมทั้งกระเช้าทีเดียวแล้ว กล่าวกะพระเถระว่า "นิมนต์รับเถิด ขอรับ."
ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะเด็กเหล่านั้นว่า "นั่น พระศาสดาพาพระภิกษุสงฆ์ไปประทับนั่งแล้วที่โคนไม้, พวกเธอจงถือไทยธรรมไป แบ่งส่วนถวายภิกษุสงฆ์. พวกเด็กรับคำว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วกลับไปพร้อมกับพระเถระทีเดียว ถวายขนมแล้ว ยืนมองดูอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถวายน้ำในเวลาฉันเสร็จ.
พวกภิกษุโพทะนาพวกเด็กผู้ถวายขนม
ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า "พวกเด็กถวายภิกษาเพราะเห็นแก่หน้า, ไม่ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระมหาเถระทั้งหลายด้วยขนม เห็นพระมหากัสสปเถระแล้ว ถือเอาขนมพร้อมด้วยกระเช้านั่นแลมาแล้ว."
พระศาสดาทรงยกพระมหากัสสปเป็นนิทัศนะ
พระศาสดา ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เช่นกับมหากัสสปผู้บุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมทำบูชาด้วยปัจจัย ๔ แก่ เธอโดยแท้" ดังนี้ แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 415
๗. สีลทสฺสนสมฺปนฺนํ ธมฺมฏฺํ สจฺจวาทินํ
อตฺตโน กมฺมกุพฺพานํ ตญฺชโน กุรุเต ปิยํ.
" ชน ย่อมทำท่านผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและทัสสนะ
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้มีปกติกล่าวแต่วาจาสัตย์ ผู้กระทำ
การงานของตนนั้น ให้เป็นที่รัก."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลทสฺสนสมฺปนฺนํ ความว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยจตุปาริสุทธิศีล และความเห็นชอบอันสัมปยุตด้วยมรรคและผล.
บทว่า ธมฺมฏฺํ ความว่า ผู้ตั้งอยู่ในโลกุตรธรรม ๙ ประการ, อธิบายว่า ผู้มีโลกุตรธรรมอันทำให้แจ้งแล้ว.
บทว่า สจฺจวาทินํ ความว่า ชื่อว่าผู้มีปกติกล่าววาจาสัตย์ด้วย สัจญาณ เพราะความที่สัจจะ ๔ อันท่านทำให้แจ้งแล้ว ด้วยอาการ ๑๖.
บาทพระคาถาว่า อตฺตโน กมฺมกุพฺพานํ ความว่า สิกขา ๓ ชื่อว่าการงานของตน, ผู้บำเพ็ญสิกขา ๓ นั้น.
สองบทว่า ตํ ชโน ความว่า โลกิยมหาชน ย่อมทำบุคคลนั้น ให้เป็นที่รัก คือเป็นผู้ใคร่จะเห็น ใคร่จะไหว้ ใคร่จะบูชาด้วยปัจจัย ๔ โดยแท้.
ในกาลจบเทศนา เด็กเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ดังนี้แล.
เรื่องเด็ก ๕๐๐ คน จบ.