[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 113
บรรดาบททั้ง ๓ ดังกล่าวมานี้ บทว่า เอวํ แสดงกิจแห่งวิญญาณมีโสตวิญญาณเป็นต้น. บทว่า เม แสดงบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยวิญญาณที่กล่าวแล้ว. บทว่า สุตํ แสดงการรับไว้อย่างไม่ขาดไม่เกิน และไม่วิปริต เพราะปฏิเสธภาวะที่ไม่ได้ยิน. อนึ่ง บทว่า เอวํ ประกาศภาวะที่เป็นไปในอารมณ์ที่ประกอบต่างๆ ตามวิถีวิญญาณที่เป็นไปตามโสตทวารนั้น. บทว่า เม เป็นคำประกาศตน. บทว่า สุตํ เป็นคำประกาศธรรม. ก็ในพระบาลีนี้ มีความย่อดังนี้ว่า ข้าพเจ้ามิได้กระทำสิ่งอื่น แต่ได้กระทำสิ่งนี้ คือได้สดับธรรมนี้ ตามวิถีวิญญาณอันเป็นไปในอารมณ์โดยประการต่างๆ . อนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นคำประกาศข้อควรชี้แจง. บทว่า เม เป็นคำประกาศถึงตัวบุคคล. บทว่า สุตํ เป็นคำประกาศถึงกิจของบุคคล. อธิบายว่า ข้าพเจ้าจักชี้แจงพระสูตรใด พระสูตรนั้น ข้าพเจ้าได้สดับ มาอย่างนี้. อนึ่ง บทว่า เอวํ ชี้แจงอาการต่างๆ ของจิตสันดาน ซึ่งเป็นตัวรับอรรถะและพยัญชนะต่างๆ ด้วยเป็นไปโดยอาการต่างกัน. จริงอยู่ ศัพท์ว่า เอวํ นี้ เป็นอาการบัญญัติ. ศัพท์ว่า เม เป็นคำชี้ถึงผู้ทำ. ศัพท์ว่า สุตํ เป็นคำชี้ถึงอารมณ์. ด้วยคำเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันจิตสันดานที่เป็นไปโดยอาการต่างกันกระทำการตกลงรับอารมณ์ ของผู้ทำที่มีความพร้อมเพรียงด้วยจิตสันดานนั้น. อีกประการหนึ่ง ศัพท์ว่า เอวํ เป็นคำชี้กิจของบุคคล. ศัพท์ว่า สุตํ เป็นคำชี้ถึงกิจของวิญญาณ ศัพท์ว่า เม เป็นคำถึงบุคคลผู้ประกอบกิจทั้งสอง. ก็ในพระบาลีนี้ มีความย่อดังนี้ว่า ข้าพเจ้า คือ บุคคลผู้ประกอบด้วยโสตวิญญาณ ได้สดับมาด้วยโวหารว่า สวนกิจที่ได้มาด้วยอำนาจวิญญาณ. บรรดาศัพท์ทั้ง ๓ นั้น ศัพท์ว่า เอวํ และศัพท์ว่า เม เป็นอวิชชมาน-บัญญัติ ด้วยอำนาจสัจฉิกัตถปรมัตถ์ เพราะในพระบาลีนี้ ข้อที่ควรจะได้ชี้แจงว่า เอวํ ก็ดี ว่า เม ก็ดี นั้น ว่าโดยปรมัตถ์ จะมีอยู่อย่างไร. บทว่า สุตํ เป็นวิชชมานบัญญัติ เพราะอารมณ์ที่ได้ทางโสต ในบทนี้นั้น ว่าโดยปรมัตถ์มีอยู่. อนึ่ง บทว่า เอวํ และ เม เป็นอุปาทาบัญญัติ เพราะมุ่งกล่าวอารมณ์นั้นๆ . บทว่า สุตํ เป็นอุปนิธาบัญญัติ เพราะกล่าวอ้างถึงอารมณ์มีอารมณ์ที่เห็นแล้วเป็นต้น. ก็ในพระบาลีนี้ ด้วยคำว่า เอวํ ท่านพระอานนท์แสดงความไม่หลง.เพราะคนหลงย่อมไม่สามารถแทงตลอดโดยประการต่างๆ ได้. ด้วยคำว่า สุตํ ท่านพระอานนท์แสดงความไม่ลืมถ้อยคำที่ได้สดับมา เพราะผู้ที่ลืมถ้อยคำที่ไค้สดับมานั้น ย่อมไม่รู้ชัดว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาโดยกาลพิเศษ. ด้วยอาการอย่างนี้ ท่านพระอานนท์นี้ ย่อมมีความสำเร็จทางปัญญาด้วยความไม่หลง และย่อมมีความสำเร็จทางสติ ด้วยความไม่ลืม. ในความสำเร็จ ๒ ประการนั้น สติอันมีปัญญานำ สามารถห้าม (ความอื่น) โดยพยัญชนะ ปัญญาอันมีสตินำ สามารถแทงตลอดโดยอรรถ. โดยที่มีความสามารถทั้ง ๒ ประการนั้น ย่อมสำเร็จภาวะที่ท่านพระอานนท์จะได้นามว่า ขุนคลังแห่งพระธรรม เพราะสามารถจะอนุรักษ์คลังพระธรรม ซึ่งสมบูรณ์ด้วยอรรถะและพยัญชนะ.
สาธุ
ขอนอบน้อมแด่สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า