การที่เราผิดศีล ๕ แล้วจะแก้ไขอย่างไร ศาสนาพุทธมีการสารภาพบาปบ้างไหม
ถ้าผิดศีล ๕ แล้วแก้ไขหรือปฏิบัติอย่างไร จึงจะแก้ความผิดได้ เช่นศีลขัอ ๑ คงจะเอาชีวิตไปคืนไม่ได้ แต่ตั้งสัจจะว่าจะไม่ฆ่า ศีลข้อ ๒ ถ้าเอาของที่ขโมยมาไปคืนเจ้าของ จะหายผิดศีลหรือเปล่า ศีลข้อ ๓ สามีไปสารภาพกับภรรยาหรือหญิงบำเรอ จะหายผิดศีลหรือไม่ ศีลข้อ ๔ บอกความจริงให้คนที่เราโกหกรู้ ศีลข้อ ๕ เลิกทานเหล้าหรือตั้งสัจจะว่าจะไม่ดื่ม
ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อบุคคลกระทำกรรมสำเร็จแล้ว เช่น การฆ่าสัตว์ อกุศลกรรมนั้นแก้ไขไม่ได้ คือ แก้ให้เป็นกุศลกรรมไม่ได้ สำเร็จเป็นอกุศลกรรม รอโอกาสให้ผลในอนาคต แต่ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลกรรมย่อมไม่ประมาทในการเจริญกุศลกรรมทุกประการ เมื่อรู้ว่าตนผิดพลาดเพราะกิเลสที่มีกำลัง จึงตั้งใจสมาทาน งดเว้นจากบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้มีศีล
สรุปคือ เมื่อล่วงศีล รู้ตัวว่าผิด ควรตั้งใจสมาทานงดเว้นต่อไป ว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีก สำหรับพระภิกษุเมื่อล่วงศีล แก้ไขได้ด้วยการแสดงอาบัติ (ปลงอาบัติ) คือเปิดเผยกับภิกษุรูปอื่น และตั้งใจจะไม่กระทำเช่นนี้อีก ย่อมพ้นจากอาบัตินั้นได้ (อาบัติเบา)
ผู้ที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอริยบุคคล วันหนึ่งๆ ก็มีเหตุให้ต้องล่วงศีลข้อใดข้อหนึ่งอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าจะน้อยหรือมาก เพราะความที่ยังเป็นผู้ที่ไม่มั่นคง แม้แต่ความตั้งใจที่จะไม่กระทำสิ่งที่ไม่ดีที่เคยระลึกกับตนได้ในอดีต ก็อาจจะหลงลืมไปหรือเปลี่ยนแปลงไปได้เวลาเจอสถานการณ์จริงๆ เข้า อกุศลกรรมที่กระทำสำเร็จแล้ว ล่วงผ่านไปแล้ว หนทางให้กลับไปแก้ไขไม่ให้เกิดนั้นไม่มี ไม่มีใครสามารถย้อนไปเปลี่ยนแปลงเหตุได้อีก เพราะกรรมนั้นเป็นสภาพปิดบังที่จะให้ผลในภายหน้า การหวนคิดถึงกรรม ถ้าไม่เป็นไปในทางกุศล คือ ทาน ศีล ภาวนา (สติไม่เกิด) ก็ย่อมยังทุกข์ใจให้เกิด
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
บาปที่ทำไปแล้วก็เป็นอันทำไปแล้ว แต่เห็นโทษและสำรวมระวังต่อไปได้ ครับ
ดังข้อความในพระไตรปิฎก เรื่อง พิธีปลงบาปที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ลองอ่านดูนะ ว่าเหมือนหรือต่างกับลัทธิอื่นอย่างไร และจะทำให้เข้าใจว่า การปลงบาปที่ถูกต้อง คือ ด้วยปัญญาและเห็นโทษจึงไม่ทำสิ่งนั้น ลองอ่านดูครับ มีประโยชน์มาก
เชิญคลิกอ่าน ... พิธีปลงบาปของพระอริยะ [ปฐมปัจโจโรหณีสูตร]
ขออนุโมทนาค่ะ
และขอรบกวนถามว่า ... การขายสุราและบุหรี่จะผิดศีลไหมคะ?
ขออนุโมทนาค่ะ
ตอบความเห็นที่ 7
ขายสุราและบุหรี่ไม่ผิดศีลค่ะ แต่เป็นอาชีพที่คฤหัสถ์ไม่ควรทำค่ะ
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 376
๗. วณิชชสูตร ว่าด้วยการค้าขายที่อุบาสกไม่ควรประกอบ
[๑๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
การค้าขายศัสตรา ๑
การค้าขายสัตว์ ๑
การค้าขายเนื้อสัตว์ ๑
การค้าขายน้ำเมา ๑
การค้าขายยาพิษ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ.
จบวณิชชสูตรที่ ๗
ขออนุโมทนาครับ
ด้วยความขอบคุณที่ให้ความกระจ่างค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ทำผิดศีลข้อที่ ๓ และเมื่อผิดศีลข้อ ๓ แล้ว ก็ขาดสติ ทำให้ผิดศีลข้อที่ ๕ ตามมา ด้วยความขาดสติสัมปชัญญะ ไม่ได้มีเจตนา จะบาปไหมคะ วอนถามผู้รู้ ขอความกรุณาช่วยให้ความกระจ่างเพื่อเป็นทานด้วยค่ะ
ขณะที่ดื่มเหล้า มีเจตนาดื่มผิดศีลข้อ ๕ แล้วก็ทำให้ล่วงศีลข้ออื่นๆ ตามมาด้วย ทำให้ฆ่าสัตว์ก็ได้ ประพฤติผิดในกามก็ได้ ฯลฯ
อย่างไรก็ตามต้องมีเจตนาค่ะ ถึงแม้ว่าเมาเหล้า ขณะที่เป็นอกุศลขณะนั้นก็หลงลืมสติ แต่เจตนาเจตสิกที่เป็นกรรมได้ทำสำเร็จไปแล้วค่ะ
ขอขอบพระคุณ คุณ wannee.s ที่ให้ความกระจ่าง ที่ช่วยให้ดิฉันได้รู้ถึงกฎแห่งกรรมมากขึ้น ต่อไปนี้ จะพยายามทำแต่ความดี ตั้งสติให้ดีเพราะมีเหตุจึงมีผลที่ตามมา ที่ผิดพลาดไป จะนำมาเป็นบทเรียนและปรับปรุงแก้ไข เพื่อจะไม่ให้ผิดครั้งต่อๆ ไปค่ะ
ขออนุโมทนากับทุกท่านค่ะ เคยได้ฟังพระสงฆ์ท่านหนึ่งกล่าวว่า ศีล ๕ ก็คือ มือ ๒ ข้าง เท้า ๒ ข้าง ศีรษะ ๑ ศีรษะ ทำสิ่งที่ดี อย่าไปทำสิ่งที่ไม่ดี ก็รักษาศีลได้แล้ว แต่บางทีก็ระลึกได้ บางทีก็ระลึกไม่ได้
ยินดีในกุศลจิตค่ะ