กรุณาอธิบายเกี่ยวกับ ความหลง
โดย บ้านธัมมะ  21 ธ.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 6536

เคยได้ฟังว่า ความหลงนั้น เพียงแต่มองเห็นดอกกุหลาบดอกเดียวและรู้สึกว่าสวย ก็เป็นความหลงแล้วไม่เข้าใจ กรุณาอธิบายเกี่ยวกับความหลง

ที่พูดนี้ไม่ผิด แม้เพียงแต่เห็นดอกกุหลาบดอกเดียวและรู้สึกว่าสวย ก็เป็นความหลง ซึ่งถ้าจะให้ละเอียดยิ่งกว่านี้ แม้แต่เพียงเห็นว่าเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งเท่านั้นยังไม่ถึงว่าสวย ก็เป็นความหลงแล้ว เพราะความหลงนั้นไม่ใช่ความหลงใหลด้วยความเพลิดเพลินยินดี พอใจเท่านั้น ความหลงคือ โมหะหรืออวิชชา

อวิชชา คือความไม่รู้สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ซึ่งมีตั้งแต่เกิดไม่ใช่ว่าเพิ่งมามีตอนโต บางคนก็บอกว่าตอนเป็นเด็กไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย ดอกกุหลาบสวยก็ไม่รู้ คงจะไม่มีความหลง คงจะไม่มีโมหะ คงจะไม่มีอวิชชา ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็ผิด เพราะเหตุว่า ไม่ใช่เมื่อโตแล้วจึงจะมีอวิชชา มีโลภะ มีโทสะ แต่กิเลสอย่างละเอียดซึ่งเป็นอนุสัยกิเลสทั้งหลายนั้น มีอยู่ตั้งแต่เกิดเลยทีเดียว เพราะถ้าไม่มีอวิชชาก็ไม่เกิดแน่ เมื่อบุคคลใดรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว เมื่อสิ้นชีวิตก็ดับขันธปรินิพพาน ไม่มีกิเลสเป็นปัจจัยทำให้เกิดอีกเลย

ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่เกิดมา แม้พระโพธิสัตว์ในภพชาติสุดท้ายก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่พระองค์ปฏิสนธินั้นก็ต้องมีอนุสัยกิเลส เพราะไม่ใช่ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจึงปฏิสนธิ ขณะปฏิสนธิ คือขณะที่เกิดนั้นทุกคนยังมีกิเลสจึงปฏิสนธิ แต่ภายหลัง เมื่อพระองค์ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว จึงปรินิพพานได้

ฉะนั้น ความหลงหรืออวิชชา (โมหะ) ความไม่รู้นี้มีทุกคน โมหะหรืออวิชชานั้นเป็นเหตุของกิเลสทุกประเภท ที่จะเกิดโลภต้องการหรือที่จะเกิดโกรธขึ้นได้ ก็เพราะมีอวิชชา คือความไม่รู้เป็นเหตุ

แต่พระผู้มีพระภาค ฯ ทรงตรัสรู้โลกตามความเป็นจริงว่า โลกที่มีอยู่นี้ ที่เราเห็นเป็นโลกมนุษย์หรือเป็นจักรวาลใหญ่โตนั้น แท้ที่จริงก็เป็นสภาพธรรมต่างๆ ที่ปรากฏให้รู้ได้ ๖ ทาง คือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง สภาพธรรมที่ปรากฏทางหูก็อย่างหนึ่ง สภาพธรรมที่ปรากฏทางจมูกก็อย่างหนึ่ง สภาพธรรมที่ปรากฏทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง สภาพธรรมที่ปรากฏทางกายก็อย่างหนึ่ง สภาพธรรมที่ปรากฏทางใจก็อย่างหนึ่ง ฉะนั้น จึงมีโลกที่ปรากฏต่างกันเพียง ๖ โลก การที่จะรู้แจ้งโลกจริงๆ นั้น คือรู้สภาพธรรมแต่ละอย่างทั้ง ๖ ทางโดยไม่สับสน ไม่ปะปนกันและไม่รวมกันด้วย

ขณะที่คิดว่าเป็นกระดาษแผ่นนี้ ก็เพราะเอาสภาพธรรมหลายๆ อย่างมารวมกัน เอาทางตาที่เห็นสี กับทางกายที่กระทบสัมผัสความอ่อน ความแข็งมารวมกับความจำขอบเขต รูปร่างสัณฐาน จึงทำให้รู้ว่าสิ่งนี้เป็น กระดาษที่จะใช้ประโยชน์อย่างใด แต่ไม่ใช่การรู้ชัดสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทางว่า เป็นโลกแต่ละโลกที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง สภาพที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ สภาพที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์นั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน

ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนย่อมชินกับคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริงๆ นั้น คือลักษณะที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วของสังขารธรรมทั้งหลาย ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยปรุง แต่งจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด

ฉะนั้น คำว่า "สังขารธรรม" จึงไม่ได้หมายเฉพาะสังขาร ร่างกาย แต่หมายถึงสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทั้งนามธรรมและรูปธรรม สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อไม่รู้ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่เห็นว่าเป็นดอกกุหลาบสวย จึงเป็นความหลงเพราะไม่รู้ความจริง และถึงจะไม่เห็นดอกกุหลาบสวย แต่ไม่รู้สภาพที่ปรากฏแต่ละทางตามความเป็นจริงก็เป็นอวิชชาเป็นความหลง เป็นการไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง



ความคิดเห็น 1    โดย isme404  วันที่ 29 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 1 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 16 เม.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ