นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
ปุตตมังสสูตร
(ว่าด้วยอาหาร ๔ ประการ)
จาก... พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๐๔
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และ คณะวิทยากรมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๐๔
ปุตตมังสสูตร
(ว่าด้วยอาหาร ๔ ประการ)
[๒๔๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔
อย่าง เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์
แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่างนั้นคือ ๑. กวฬีการาหาร
หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ๒. ผัสสาหาร ๓. มโนสัญเจตนาหาร
๔. วิญญาณาหาร ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้แล เพื่อ
ความดำรงอยู่แห่งสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่า
สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด.
[๒๔๑] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กวฬีการาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่าภรรยาสามีสองคน ถือเอาเสบียงเดินทาง
เล็กน้อย แล้วออกเดินไปสู่ทางกันดาร เขาทั้งสองมีบุตรน้อยๆ น่ารัก
น่าพอใจอยู่คนหนึ่ง เมื่อขณะที่คนทั้งสองกำลังเดินไปในทางกันดาร
เสบียงเดินทางที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดสิ้นไป แต่ทางกันดารนั้น
ยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองยังข้ามพ้นไปไม่ได้ ครั้งนั้น เขาทั้งสองคนคิด
ตกลงกันอย่างนี้ว่า เสบียงเดินทางของเราทั้งสองอันใดแล มีอยู่เล็กน้อย
เสบียงเดินทางอันนั้น ก็ได้หมดสิ้นไปแล้ว แต่ทางกันดารนี้ก็เหลืออยู่
เรายังข้ามพ้นไปไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย เราสองคนมาช่วยกันฆ่าบุตรน้อยๆ
คนเดียว ผู้น่ารัก น่าพอใจคนนี้เสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อ
ได้บริโภคเนื้อบุตร จะได้พากันเดินข้ามพ้นทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น
ถ้าไม่เช่นนั้น เราทั้งสามคนต้องพากันพินาศหมดแน่ ครั้งนั้น ภรรยาสามี
ทั้งสองคนนั้น ก็ฆ่าบุตรน้อยๆ คนเดียว ผู้น่ารัก น่าพอใจนั้นเสีย ทำ
ให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อบริโภคเนื้อบุตรเสร็จ ก็พากันเดินข้าม
ทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น เขาทั้งสองคนรับประทานเนื้อบุตรพลาง
ค่อน อกพลางรำพันว่า ลูกชายน้อยๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ลูกชาย
น้อยๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ดังนี้ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อ
นั้นเป็นอย่างไร คือว่า เขาได้บริโภคเนื้อบุตรที่เป็นอาหารเพื่อความคะนอง
หรือเพื่อความมัวเมา หรือเพื่อความตบแต่ง หรือเพื่อความประดับประดา
ร่างกายใช่ไหม?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า
จึงตรัสต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้น เขาพากันรับประทานเนื้อบุตรเป็น
อาหารเพียงเพื่อข้ามพ้นทางกันดารใช่ไหม?
พระภิกษุทั้งหลาย กราบทูกลว่า ใช่ พระเจ้าข้า
พระองค์จึงตรัสว่า ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า บุคคลควรเห็นกวฬี-
การาหารว่า[เปรียบด้วยเนื้อบุตร] ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่ออริยสาวก
กำหนดรู้กวฬีการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจ
กามคุณ เมื่ออริยสาวก กำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณได้แล้ว
สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีก ก็ไม่มี
[๒๔๒] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ผัสสาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร
เหมือนอย่างว่า แม่โคนมที่ไม่มีหนังหุ้ม ถ้ายืนพิงฝาอยู่ที่จะถูกพวกสัตว์
อาศัยฝาเจาะกิน ถ้ายืนพิงต้นไม้อยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ชนิดอาศัยต้นไม้ไช
กิน หากลงไปยืนแช่น้ำอยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ที่อาศัยน้ำตอดและกัดกิน
ถ้ายืนอยู่ในที่ว่าง ก็จะถูกมวลสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอากาศเกาะกัดและจิกกิน
เป็นอันว่าแม่โคนมตัวนั้นที่ไร้หนังหุ้ม จะไปอาศัยอยู่ในสถานที่ใดๆ ก็ถูก
จำพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้นๆ กัดกินอยู่ร่ำไป ข้อนี้ฉันใด เรา
กล่าวพึงเป็นผัสสาหารฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหาร
ได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้เวทนา
ทั้งสามได้แล้ว เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้
อีกแล้ว.
[๒๔๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มโนสัญเจตนาหารจะพึงเห็นได้
อย่างไร เหมือนอย่างว่า มีหลุมถ่านเพลิงอยู่แห่งหนึ่ง ลึกมากกว่าชั่วบุรุษ
เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน ครั้งนั้นมีบุรุษคนหนึ่งอยาก
มีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เดินมา บุรุษสองคนมีกำลัง
จับเขาที่แขนข้างละคนคร่าไปสู่หลุมถ่านเพลิง ทันใดนั้นเอง เขามีเจตนา
ปรารถนา ตั้งใจอยากจะให้ไกลจากหลุมถ่านเพลิง ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเขารู้ว่า ถ้าเขาจักตกหลุมถ่านเพลิงนี้ ก็จักต้องตายหรือถึงทุกข์
แทบตาย ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่าพึงเห็นมโนสัญเจตนาหาร ฉันนั้น
เหมือนกัน เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอัน
กำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว
เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว.
[๒๔๔] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร
เหมือนอย่างว่า พวกเจ้าหน้าที่จับโจรผู้กระทำผิดได้แล้วแสดงแก่พระราชา
ว่า ขอเดชะ ด้วยโจรผู้นี้กระทำผิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรง
พระกรุณาโปรดเกล้าให้ลงโทษโจรผู้นี้ ตามที่ทรงเห็นสมควรเถิด จึงมีพระ
กระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงประหารมันเสียด้วย
หอกร้อยเล่มในเวลาเช้านี้ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ช่วยกันประหารนักโทษ
คนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้า ต่อมาเป็นเวลาเที่ยงวัน พระราชา
ทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้น
เป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม
จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงช่วยกัน
ประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็
ประหารนักโทษคนนั้นเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน ต่อมาเป็น
เวลาเย็น พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอีกอย่างนี้ว่า ท่าน
ผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ
เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ
ไปเถอะพ่อ จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น เจ้าหน้าที่
คนนั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น ดูกรภิกษุ
ทั้งหลายเธอทั้งหลายยังเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือว่าเมื่อเขากำลัง
ถูกประหารด้วยหอกร้อยเล่มตลอดวันอยู่นั้น จะพึงได้เสวยแต่ทุกข์
โทมนัสซึ่งมีการ ประการนั้น เป็นเหตุเท่านั้น มิใช่หรือ ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกแม้เล่มเดียว ก็พึงเสวยความทุกข์
โทมนัสซึ่งมีการประหารนั้นเป็นเหตุ แต่จะกล่าวไปไยถึงเมื่อเขากำลัง
ถูกประหารอยู่ด้วยหอกสามร้อยเล่มเล่า ข้อนี้ฉันนั้น เรากล่าวว่า จะพึง
เห็นวิญญาณาหารฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหาร
ได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เมื่ออริยสาวกหากำหนดรู้
นามรูปได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกจะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไป
กว่านี้อีกแล้ว.
จบปุตตมังสสูตรที่ ๓.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ปุตตมังสสูตร
(ว่าด้วยอาหาร ๔ อย่าง)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่าด้วยอาหาร ๔ อย่าง
พร้อมด้วยคำอุปมาให้เข้าใจอย่างชัดเจน ดังนี้ คือ
๑. กวฬีการาหาร (อาหารที่ทำให้เป็นคำ) เปรียบเหมือนเนื้อบุตรที่สามีภรรยาบริโภค
เพื่อข้ามทางกันดาร โดยไม่ใช่เพื่อเล่น เพื่อมัวเมา แต่เพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้เท่านั้น
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้กวฬีการาหารด้วยอาการอย่างนี้ ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีใน
กามคุณ ๕ ได้
๒. ผัสสาหาร (อาหาร คือ ผัสสะ) เปรียบเหมือนแม่โคที่ไม่มีหนังหุ้ม ไปอยู่ ณ ที่ใดๆ
ก็ย่อมถูกสัตว์และแมลงต่างๆ คอยรบกวน จิก กัดอยู่ตลอดเวลา เมื่ออริยสาวกกำหนด
รู้ผัสสาหารด้วยอาการอย่างนี้ ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนา ๓ ได้
๓. มโนสัญเจตนาหาร (อาหารคือมโนสัญเจตนา) เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงลึก
กว่าชั่วคน เต็มไปด้วยถ่ายเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน เป็นสิ่งที่น่ากลัว เมื่ออริยสาวก
กำหนดรู้มโนสัญเจตนาหารด้วยอาการอย่างนี้ ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหา ๓ ได้
๔. วิญญาณาหาร (อาหารคือวิญญาณ) เปรียบเหมือนนักโทษที่ถูกประหารด้วยหอก
๓๐๐ เล่ม เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหารด้วยอาการอย่างนี้ ก็เป็นอันกำหนดรู้
นามรูปได้ และเมื่อกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว อริยสาวกก็ย่อมจะไม่มีกิจที่จะพึงกระทำ
ยิ่งไปกว่านี้
อาหารทั้ง ๔ เหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว
หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด.
ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่ ครับ
อาหาร หมายถึงอะไร
คำถามเกี่ยวกับอาหาร ๔ ที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่ได้
อาหาร[สภาพที่นำมาซึ่งผล] ๔ ประการ
กามคุณ ๕
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ความจริงแห่งชีวิตตอนที่ ๑๒๒ จิตตสังเขป (ความต่างของเวทนาเจตสิก)
ความจริงแห่งชีวิตตอนที่ ๑๒๗ จิตตสังเขป (เวทนาเจตสิก ๕ ประเภท)
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ
ปุตตมังสะสูตร ๑
ปุตตมังสะสูตร ๒
ปุตตมังสะสูตร ๓
ปุตตมังสะสูตร ๔
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
--ขออนุโมทนาค่ะ--
ขออนุโมทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
.....ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.....
ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ