ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
หลังจากพักผ่อนนอนหลับหลังรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรมรามาดาแล้ว ตอนบ่าย สามก็ออกเดินทางไปสารนาถอีกครั้ง (ใกล้จะจบทริป รู้สึกเหมือนแบตเตอรีจะหมด ได้นอนพัก หลังรับประทานอาหารกลางวัน ค่อยมีเรี่ยวแรงที่จะเจริญกุศลต่อไป) เพื่อห่มผ้าพระเจดีย์ สนทนาธรรมและเวียนเทียนประทักษิณธัมเมกสถูป สถานที่แสดงปฐมเทศนา
เมื่อเข้าไปในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แล้วก็เดินชมรอบๆ บริเวณที่จัดแต่งไว้สะอาด สวยงาม มองดูสนามหญ้าสีเขียวขจี ตัดกับสีอิฐของพุทธสถานสำคัญ ช่างงดงามอย่างยิ่ง และจะยิ่ง งดงามเมื่อได้ทราบถึงความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ว่า
1. เป็นที่แสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก คือ ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร
2. มีพระอริยสงฆ์เป็นครั้งแรก คือ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ
3. มีพระรัตนตรัยครบทั้ง 3 คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะและพระสังฆรัตนะ
4. มีพระอรหันตสาวกครั้งแรก โดยแสดงอนัตตลักขณสูตรในวันแรม 5 ค่ำ ทำให้พระ ปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
5. มีพระมูลคันธกุฎีที่จำพรรษาแรกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ฯลฯ
เมื่อช่วยกันห่มผ้าสีทองรอบพระเจดีย์แล้ว ท่านอาจารย์มอบให้ รศ. สงบ เชื้อทอง เล่าพุทธประวัติตั้งแต่ตรัสรู้ใหม่ๆ จนถึงแสดงปฐมเทศนา ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแห่งนี้ ขอนำข้อความจากพระวินัย เล่ม ๔ มหาวรรค มหาขันธกะ ที่ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ย่อความไว้ว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ ประทับ ณ โคนไม้โพธิริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลา พระองค์ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ โคนไม้โพธิตลอด ๗ วัน
ในเวลาปฐมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท (ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย สายเกิด) แล้วทรงเปล่งอุทาน ความว่า เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เขา ย่อมสิ้นความสงสัย เพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งต้นเหตุ.
ในเวลามัชฌิมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทสายดับ แล้วทรงเปล่งอุทาน ความ ว่า เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เขาย่อมสิ้นความสงสัย เพราะได้ทราบ ถึงความสิ้นไปแห่งปัจจัย.
ในเวลาปัจฉิมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ทั้งโดยอนุโลม (ตามลำดับ) และ โดยปฏิโลม (ย้อนลำดับ) แล้วทรงเปล่งอุทาน ความว่า เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความ เพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาเสียได้ ดั่งดวงอาทิตย์ทำท้องฟ้า ให้สว่าง ฉะนั้น.
ทรงโต้ตอบกับพราหมณ์ที่ชอบตวาดคน
เมื่อครบ ๗ วันแล้ว ทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากโคนไม้โพธิ ไปยังไม้อชปาลนิโครธ (ต้นไทรที่เด็กเลี้ยงแพะชอบมาพัก) ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ โคนไม้นั้นตลอด ๗ วัน. มี พราหมณ์ผู้ชอบตวาดคนมาเฝ้า. กราบทูลถามถึงธรรมะที่ทำคนให้เป็นพราหมณ์ ทรงเปล่ง อุทานเป็นใจความว่า ผู้ที่จะนับว่าเป็นพราหมณ์ คือผู้ลอยบาป ไม่มักตวาดคน ไม่มีกิเลส เหมือนน้ำฝาด สำรวมตน มีความรู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ไม่มีความพอง (เย่อหยิ่ง)
ทรงเปล่งอุทานที่ต้นจิก
ครั้นครบ ๗ วันแล้ว ทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากโคนไม้อชปาลนิโครธ ไปยังต้นจิก ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ โคนไม้จิกนั้นตลอด ๗ วัน. ได้เกิดเมฆใหญ่ผิดฤดูกาล มีฝนตก พรำ เจือด้วยลมหนาวตลอด ๗ วัน. พญานาคชื่อมุจลินท์มาวงด้วยขนดรอบพระกาย ของพระผู้มีพระภาค ๗ รอบ เพื่อป้องกันหนาว ร้อน เหลือบ ยุง เป็นต้น. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภสุข ๔ ประการ คือ สุขเพราะความสงัด, สุขเพราะไม่เบียดเบียน, สุขเพราะ ปราศจากราคะ ก้าวล่วงกามเสียได้ และ ประการสุดท้าย สุขอย่างยอด คือ การนำ ความถือตัวออกเสียได้.
เหตุการณ์ที่ต้นเกตก์
ครั้นครบ ๗ วันแล้ว ทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากโคนไม้จิก ไปยังไม้ราชายตนะ (ต้น เกตก์) ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ โคนไม้เกตก์นั้นตลอด ๗ วัน. มีพ่อค้า ๒ คนชื่อ ตปุสสะกับ ภัลลิกะ เดินทางมาจากอุกกละชนบท ถวายข้าวสัตตุก้อนและสัตตุผง. ทรงรับด้วยบาตร ที่ ท้าวจาตุมหาราชถวาย แล้วเสวยข้าวนั้น. พ่อค้า ๒ คนปฏิญญาตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธ พระธรรม เป็นสรณะ นับเป็นอุบาสกชุดแรกในโลก ที่เปล่งวาจาถึงรัตนะ ๒ (คือพระพุทธ พระธรรม) .
เสด็จกลับไปต้นไทรอีก
ครั้นครบ ๗ วันแล้ว ทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากโคนไม้เกตก์ ไปยังต้นไทรที่เด็กเลี้ยง แพะชอบมาพัก (อชปาลนิโครธ) และประทับ ณ โคนไม้ไทรนั้น ทรงพิจารณาเห็นว่า ธรรมที่ พระองค์ตรัสรู้ลึกซึ้ง ยากที่คนอื่นจะตรัสรู้ได้ ก็ทรงน้อมพระหฤทัยไปในที่จะไม่แสดงธรรม.
พระพรหมมาอาราธนา
ท้าวสหัมบดีพรหมทราบพระพุทธดำริ จึงมาเฝ้ากราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม อ้าง เหตุผลว่า ผู้ที่มีกิเลสน้อย พอจะรู้พระธรรมได้มีอยู่. พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาสัตว์เปรียบ เทียบด้วยดอกบัว ๓ ชนิด คือที่อยู่ใต้น้ำ, เสมอน้ำ, โผล่พ้นน้ำ อันเทียบด้วยบุคคล ๓ ชนิด (ที่พอจะตรัสรู้ได้ ส่วนประเภท ๔ คือดอกบัวที่ไม่มีหวังจะโผล่ได้ เทียบด้วยบุคคล ผู้ไม่มีหวัง จะตรัสรู้) . จึงทรงตกลงพระหฤทัยที่จะแสดงธรรม. ทรงปรารภอาฬารดาบส กาลามโคตร ก็ทรงทราบว่าถึงแก่กรรมเสีย ๗ วันแล้ว ทรงปรารภอุททกดาบสรามบุตร ก็ทรงทราบว่า ถึงแก่กรรมเสียเมื่อวานนี้เอง จึงตกลงพระหฤทัยเสด็จไปแสดงธรรมโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ (พวก ๕) ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ระหว่างทางทรงพบอุปกาชีวก ได้รับสั่งโต้ตอบกับ อาชีวกนั้น แต่อุปกะไม่เชื่อ.
ทรงแสดงธรรมครั้งแรก
เมื่อเสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสีแล้ว ครั้งแรกภิกษุปัญจวัคคีย์แสดง อาการกระด้างกระเดื่อง แต่เมื่อทรงเตือนให้นึกถึงว่า เมื่อก่อนพระองค์ไม่เคยตรัสบอกเลยว่า ตรัสรู้ บัดนี้ตรัสบอกแล้วจึงควรตั้งใจฟัง ก็พากันตั้งใจฟัง. พระผู้มีพระภาคจีงทรงแสดงธัมมจัก กัปปวัตตนสูตร มีใจความสำคัญ คือ ๑. ทรงชี้ทางที่ผิด อันได้แก่กามสุขัลลิกานุโยค (การ ประกอบตนให้ชุ่มอยู่ด้วยกาม) และอัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตนให้ลำบาก) ว่าเป็นส่วน สุดที่บรรพชิตไม่ควรดำเนิน แล้วทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติสายกลาง) ได้แก่มรรคมี องค์ ๘ ว่าพระองค์ตรัสรู้แล้ว เป็นไปเพื่อพระนิพพาน. ๒. ทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์, เหตุ ให้ทุกข์เกิด, ความดับทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยละเอียด. ๓. ทรงแสดงว่าทรง รู้ตัวอริยสัจจ์ทั้งสี่, ทรงรู้หน้าที่อันควรทำในอริยสัจจ์ทั้งสี่ และทรงรู้ว่าได้ทรงทำหน้าที่เสร็จ แล้ว จึงทรงแน่พระหฤทัยว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว (อันแสดงว่าทรงปฏิบัติ จนได้ผลด้วยพระองค์เองแล้ว) . เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม และได้ขอบวชก่อน. ต่อมา พระวัปปะกับพระภัททิยะ สดับพระธรรมเทศนา ได้ดวงตาเห็น ธรรม และได้ขอบวช. ต่อมา พระมหานามะกับพระอัสสชิสดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็น ธรรม และได้ขอบวช เป็นอันได้บวชครบทั้งห้ารูป.
ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น มีใจความ สำคัญคือ ๑. รูป (ร่างกาย) เวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ ) สัญญา (ความจำได้หมายรู้) สังขาร (ความคิดหรือเจตนา) และวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางตา หู เป็นต้น) ไม่ใช่ตน. ถ้า เป็นตนก็จะบังคับบัญชาให้เป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างนั้นได้ เพราะไม่ใช่ตนจึงบังคับบัญชาไม่ได้. ๒. แล้วตรัสถามให้ตอบเป็นข้อๆ ไปว่า ขันธ์ ๕ (มีรูป เป็นต้นนั้น) เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ตอบว่า ไม่เที่ยง. สิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือสุข? ตอบว่า เป็นทุกข์. สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความ แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของ เรา? ตอบว่า ไม่ควร. ๓. ตรัสสรุปว่า เพราะเหตุนั้นควรเห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า รูป เป็นต้น นั้น ทุกชนิดไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ๔. ตรัสแสดงผลว่า อริยสาวกผู้เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เป็นต้นนั้น เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เพราะ คลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว. รู้ว่าสิ้นชาติ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำ หน้าที่เสร็จแล้ว ไม่ต้องทำหน้าที่อะไรเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก. ภิกษุปัญจวัคคีย์มีจิตหลุดพ้น จากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน. ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖ องค์ (ทั้งพระพุทธเจ้า) .
เมื่อบรรยายจบแล้ว ท่านอาจารย์ก็เดินนำประทักษิณรอบพระเจดีย์ธัมเมกสถูปสีทองด้วยผ้าที่ ห่มไว้ ครบ 3 รอบ แล้วพากันเดินไปมูลคันธกุฎีวิหาร เพื่อถวายโคมประทีปที่เวียนเทียนประ ทักษิณตั้งแต่พระวิหารเชตวัน ลุมพินี สถานที่ประสูติ กุสินารา สถานที่ปรินิพพาน ปาวาลเจดีย์ สถานที่ปลงพระชนมายุสังขาร กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน และ ที่ธัมเมกสถูป เป็นแห่งสุดท้าย พวกเรานำโคมประทีปที่ คุณโจ จรัล และ คุณสายฝน ปานุราช ถวายเป็นพุทธบูชา มอบให้ สมาคมมหาโพธิ์ สารนาถ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป โดยนำไปจัดเรียงอย่างสวยงามใต้ต้นโพธิ์ ทางด้านขวาของพระมูลคันธกุฎีวิหาร ซึ่งมีพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์นั่งประทับอยู่รอบต้นโพธิ์
ขออนุโมทนาคุณโจและคุณฝนในกุศลที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ รวมทั้งดอกไม้ประดับโคมของคุณนภา จันทรางศุ และคุณะผู้จัดดอกไม้เป็นพุทธบูชาทั้งที่พุทธคยาและสารนาถด้วยค่ะ ทราบว่ามีคุณ แอ๊ว ฟองจันทร์ คุณจิ่ม กัลยาณี น้องตั๊ก ลูกสาว คูณอ๋า นวลใจ คุณนภา สารวัตรกุ้ง และอีก หลายท่าน ขอประทานโทษที่จำได้ไม่หมดค่ะ แต่กุศลที่ท่านทำไว้ดีแล้วก็สะสมอยู่ในจิตของ ท่านแล้ว ไม่ว่าใครจะจำได้หรือไม่ก็ตาม และ จะให้ผลเป็นกุศลวิบาก เมื่อถึงเวลาที่สมควร เมื่อเสร็จพิธีนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยกาย วาจา ใจตามรูปแบบที่สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ใน วันสุดท้ายแล้ว ท่านอาจารย์ยืนริมรั้วบริเวณใต้ต้นโพธิ์ มองโคมประทีปที่จุดไฟวางเป็น ระเบียบ สวยงาม และ ยิ้มให้พวกเราด้วยความเมตตา จึงถือโอกาสเข้าไปกราบเท้า ขอบพระคุณท่าน ที่นำพระธรรมคำสอนที่แสนลึกซึ้ง และยากจะเข้าใจตามนี้ มาพร่ำสอน บ่อยๆ เนืองๆ จนพอจะเข้าใจได้บ้างว่า อะไรเป็นกุศลที่ควรเจริญ อะไรเป็นอกุศล ที่จะต้อง ขัดเกลา และ ที่ต้องขัดเกลามากที่สุด คือ การไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ว่า เป็น ธรรมะอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป ไม่กลับมาอีก แม้จะยังไม่ประจักษ์แจ้ง อย่างนี้ แต่ก็เริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า “เป็นธรรมะ” ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และเริ่มคิดอย่างนี้บ้าง นานๆ ครั้ง ซึ่งดีกว่าแต่ก่อนมากที่ไม่เคยแม้ได้ยิน แล้ว จะนำมาคิดพิจารณาได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น ชีวิต คือ วิถีจิตแต่ละขณะ ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง และที่สำคัญ คือ ที่คิดด้วยความเข้าใจ เป็นกุศลมากขึ้น
ขอบพระคุณอย่างที่สุดค่ะ หลังจากนั้นแต่ละท่าน แต่ละคู่ แต่ละกลุ่มก็ขอถ่ายภาพกับท่าน อาจารย์เป็นที่ระลึกว่า ณ กาลครั้งหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ ระหว่างวันที่ 13 – 23 ต.ค. 57 ได้ ติดตามท่านอาจารย์มาเจริญกุศลที่อินเดีย แดนพุทธภูมิ
... อ่านตอนต่อไป ...
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 15
... อ่านย้อนหลัง ...
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 13
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 12
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 11
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 10
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 9
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 8
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 7
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 6
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 5
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 4
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 3
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 2
(เกือบ) ถอดใจ ... ที่อินเดีย 1
อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญกับทุกๆ ท่านค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบเท้าบูชาคุณอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่ง กราบขอบพระคุณอาจารย์วิทยากรทุกท่าน ขอบพระคุณพี่แดงและอนุโมทนาในกุศลของทุกท่านค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองคนั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ขอกราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยคะ