[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 696
๑๑. อนุสยสูตร
ว่าด้วยการละอนุสัย
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 696
๑๑. อนุสยสูตร
ว่าด้วยการละอนุสัย
[๖๓๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราหุล เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระราหุลนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร อหังการ มมังการ และมานานุสัย จึงจะไม่มีในกายที่มีใจครองนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก.
[๖๓๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี ที่เป็นอนาคตก็ดี ที่เป็นปัจจุบันก็ดี ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งหมดนั้น อริยสาวกย่อมเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ดังนี้ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง... สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี ที่เป็นอนาคตก็ดี ที่เป็นปัจจุบันก็ดี ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี วิญญาณทั้งหมดนั้น อริยสาวกย่อมเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 697
นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ดังนี้ ดูก่อนราหุล เมื่อบุคคลผู้รู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้แล อหังการ มมังการ และมานานุสัย จึงไม่มีในกายที่มีใจครองนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก.
จบอนุสยสูตรที่ ๑๑
อรรถกถาอนุสยสูตรที่ ๑๑
พึงทราบวินิจฉัยในอนุสยสูตรที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกายที่มีวิญญาณของตน ด้วยบทว่า อิมสฺมิญฺจ สวิญฺาณเก กาเย ทรงแสดงกายที่มีวิญญาณ หรือไม่มีวิญญาณของผู้อื่น หรือวิญญาณอย่างเดียว ทั้งของตน ทั้งของผู้อื่น ด้วยบทต้น ทรงแสดงรูปที่เนื่องด้วยอนินทรีย์ภายนอก ด้วยบทหลัง.
บทว่า อหํการมมํการมานานุสยา ได้แก่ ทิฏฐิว่าเป็นเรา ตัณหาว่าของเรา และอนุสัยคือมานะ.
บทว่า น โหนฺติ ได้แก่ ตรัสถามว่า กิเลสเหล่านี้ย่อมไม่มีในวัตถุเหล่านี้แก่ผู้รู้อยู่อย่างไร.
บทว่า สมฺมปฺปญฺาย ปสฺสติ ได้แก่ เห็นด้วยดี ด้วยมรรคปัญญา พร้อมทั้งวิปัสสนาปัญญา.
จบอรรถกถาอนุสยสูตรที่ ๑๑