ถามเรื่องสติครับ
โดย golf1983  18 ก.ค. 2551
หัวข้อหมายเลข 9302

การที่เรารู้สึกตัวทุกอริยาบถถือว่าเป็นการเจริญกุศลป่าวครับ


ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 21 ก.ค. 2551

การที่เราจะกล่าวว่าจิตเป็นกุศล อยู่ที่สภาพจิตเป็นไปในทาน ศีล หรือภาวนา

ถ้าสภาพจิตไม่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นจิต (ชวนะ) เป็นอกุศลทั้งหมด

ดังนั้น เรื่องการเจริญกุศลจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด

แล้วย่อมสำคัญอกุศลว่าเป็นกุศลก็ได้ เพราะเพียงการรู้สึกตัวว่ากำลังยืน เดิน นั่ง

นอน แค่นี้ยังไม่พอต้องอยู่ที่สภาพจิตเป็นสำคัญเพราะอกุศลจิตก็รู้ว่ากำลังนั่งอยู่

ขณะนั้นไม่ใช่การเจริญกุศล โปรดศึกษาพระธรรมโดยละเอียดครับ


ความคิดเห็น 2    โดย wannee.s  วันที่ 21 ก.ค. 2551

การรู้สึกตัวเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ สภาพของสติเป็นสภาพที่ระลึกได้ เป็น

เจตสิกฝ่ายดี ถ้าเป็นไปในความสงบ สติที่เกิดพร้อมกับสัมปชัญญะเป็นธาตุรู้ อาการรู้

รู้ถูกต้อง และกุศลทุกขั้นมีสติเกิดร่วมด้วยแล้วแต่ว่าจะเป็นขั้นทาน ศีล ภาวนา ค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย ajarnkruo  วันที่ 21 ก.ค. 2551

ขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน ถ้ายังมีเราทั้งตัวที่ยืน เดิน นั่ง นอน ขณะนั้นก็ไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรมะ เพราะความจริงมีเพียงสิ่งที่ปรากฏทางใดทางหนึ่งเท่านั้น ไม่ปะปนกันเลยแต่ความไม่รู้ที่สะสมมา จึงทำให้ไม่เข้าถึงความจริงแต่ละทาง เพราะดูเหมือนว่าทุกสิ่งจะปะปนกันไปหมดทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิด ทั้งเรื่องราว ฯลฯ ในชีวิตประจำวัน แม้กายจะไหวเป็นไปตามกุศลจิตบ้างในบางขณะ เช่น นั่งกราบพระ ยืนใส่บาตร เดินไปช่วยเหลือผู้อื่น นอนคิดถึงทานที่ได้บริจาคมา เหล่านี้ แต่ถ้าไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น แม้จิตจะเป็นกุศล ก็ไม่รู้ว่ากุศลที่กำลังเกิดในขณะนั้น เป็นแต่เพียงธรรมะที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ อกุศลจิตที่ทำให้กายไหวเป็นไปในอิริยาบถต่างๆ ด้วยเช่นกัน ถ้าหากขณะนี้กำลังนั่งอยู่ แล้วจู่ๆ ก็ลุกขึ้นยืนโดยที่ไม่รู้ว่ามีสภาพธรรมอะไรปรากฏ ก็จะเรียกว่าสติเกิดระลึกไม่ได้ เพราะถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ปกติก็จะหลงลืมสติ และเป็นไปกับอกุศลเป็นส่วนใหญ่ สิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้ว มีความดับไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่สิ่งที่จะพึงยึดถือเลย เพราะไม่ใช่เรา ไม่มีเรา ไม่มีตัวตนของใครทั้งนั้น แต่ควรที่จะเจริญกุศลที่รู้ยิ่งกว่า การรู้ตัวด้วยความไม่รู้ด้วยการจดจ้องในอิริยาบถ ด้วยความมีตัวตนว่า เรากำลังยืน เดิน นั่ง นอน ซึ่งก็คือการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา เริ่มจากขั้นการฟังว่า ธรรมะคืออะไร? ก่อนครับ


ความคิดเห็น 4    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 21 ก.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

รู้สึกตัว หากไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ก็เข้าใจว่า การรู้สึกตัวคือรู้ว่าเดิน

รู้ว่ายืน รู้ว่านั่ง เป็นต้น แต่ความจริงแล้วการรู้สึกตัวคือสติที่เกิดขึ้น และต้องมี

ปัญญาด้วย รู้ว่านั่งแล้วปัญญารู้อะไร เด็กรู้ไหมว่าตัวเองนั่ง ซึ่งต่างกับการอบรม

ปัญญาที่เป็นสติและปัญญาที่รู้สึกตัวด้วยปัญญาว่าเป็นธรรมขณะนั้น ขณะที่รู้ว่า

ตัวเองเดิน ก็ยังเป็นเราที่รู้ว่าเดิน ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม


ความคิดเห็น 5    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 21 ก.ค. 2551

แต่การอบรมปัญญาที่ถูกต้องในอิริยาบถทั้ง 4 คือ ในขณะเดิน ยืน นั่ง นอนรู้สึกตัว คือสติและปัญญารู้ว่ามีธรรมในขณะนั้น ในขณะยืนก็มีธรรม ขณะนอนก็มีธรรม แล้วอะไรที่เป็นธรรมขณะนั้น เช่น เห็น ได้ยิน เสียง เป็นต้น สติและปัญญารู้สภาพธรรมที่มีในขณะนั้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ในขณะยืน เดิน นั่ง นอนครับ จึงต้องศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ไม่เช่นนั้น ก็เข้าใจคำว่ารู้สึกตัวผิดรู้สึกตัวตามกระทู้ที่กล่าวมาจึงเป็นอกุศลก็ได้ ที่สำคัญขณะนั้นปัญญารู้อะไร ตรงนี้สำคัญมากเพราะเป็นเรื่องของปัญญาครับ ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 6    โดย PUM  วันที่ 22 ก.ค. 2551

รู้สึกตัวทุกอริยาบถ จะเป็นการเจริญกุศลก็ต้องพิจารณาจนเห็นความเป็นไตรลักษณ์ในแต่ละอริยาบท และนำไปสู่การเห็นความเป็นไตรลักษณ์ในสังขารทั้งหลายด้วย ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายคลายความยึดมั่นในความเป็นตัวตน เป็นเพียงการประกอกันขึ้นของเหตุและปัจจัย จึงจะถือได้ว่าเจริญกุศลเพราะได้อบรมปัญญาให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ขออนุโมทนาในความเพียรครับ


ความคิดเห็น 7    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 22 ก.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับ ขณะที่เดิน ยืน นั่ง นอน มีสภาพธรรม ดังนั้นต้องรู้

ก่อนว่าธรรมคืออะไรครับ ไม่เช่นเห็นการเกิดดับซึ่งเป็นวิปัสสนาญานขั้นที่ 3

และ 4 ขณะที่ยืนก็มีธรรม เช่น เห็น สี ได้ยิน ไม่ได้เลือกที่จะรู้อะไร แต่แล้วสติว่า

จะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร ปัญญารู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ในขณะอยู่

ในอิริยาบถใดก็ตาม แต่ไม่ใช่ รู้ว่ายืน เดิน นั่ง นอน และไม่ใช่การคิดนึกว่าเป็น

ธรรมด้วย แต่ต้องเป็นสติที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น โดยไม่ใช่การ

คิดนึกครับ จึงเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่ง่ายเลยเพราะเป็นเรื่องของปัญญาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 22 ก.ค. 2551

ในอิริยาบถนั้น พึงทราบความว่า แม้สัตว์ดิรัจฉาน เช่น สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก

เป็นต้น เมื่อเดินไปก็รู้ว่าตัวเดิน ก็จริงอยู่ แต่ในอิริยาบถนั้น มิได้ตรัส

หมายเอาความรู้เช่นนั้น. เพราะความรู้เช่นนั้น ละความเห็นว่าสัตว์ไม่ได้ เพิก

ถอนความเข้าใจว่าสัตว์ไม่ได้.ไม่เป็นกัมมัฏฐาน หรือ สติปัฏฐานภาวนาเลย.พระไตรปิฎกเล่ม 14 หน้า 298 มหาสติปัฏฐานสูตร ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 9    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 22 ก.ค. 2551

ถ้ามีฉันทะที่จะเจริญกุศล ก่อนอื่นต้องรู้ว่า...กุศลคืออะไร?

ถ้าไม่รู้ว่ากุศลคืออะไร...แล้วจะเจริญอย่างไรล่ะค่ะ?

กุศลเกิดได้ทุกอิริยาบถและทุกทวาร

แต่ต้องรู้ว่าขณะไหน...คือกุศล...จึงจะเจริญได้ค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย จำแนกไว้ดีจ๊ะ  วันที่ 23 ก.ค. 2551

อนึ่ง สติย่อมไม่มีในอกุศลจิตเพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่งสติ เพราะฉะนั้น

พระองค์จึงไม่ถือเอา. ถามว่า บุคคลผู้มีทิฏฐิทั้งหลายย่อมไม่ระลึกถึงการงาน

อันตนกระทำบ้างหรือ? ตอบว่า ย่อมระลึก แต่การระลึกนั้นไม่ชื่อว่าเป็นสติ

เพราะอาการระลึกนั้น เป็นความประพฤติของอกุศลจิตอย่างเดียว ฉะนั้น จึงไม่

ทรงถือเอาสติ. ถามว่า เมื่อความเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร ในพระสูตร

จึงตรัสว่า มิจฉาสติ เป็นความระลึกเล่า? ตอบว่า เพื่อจะทรงยังมิจฉัตตะ

แห่งมิจฉามรรคให้บริบูรณ์ เพราะอกุศลขันธ์ทั้งหลายเป็นสภาวะเว้นจากสติ

และเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ จึงทรงทำเทศนามิจฉาสติไหวในพระสูตรนั้นโดยปริยาย

แต่มิจฉาสตินั้นว่าโดยนิปปริยายย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอา.

อนึ่ง ปัญญา ย่อมไม่มีในจิตของอันธพาลนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่

ทรงถือเอา. ถามว่า ความรู้ (ปญฺญา) เป็นเครื่องหลอกลวงของบุคคลผู้เป็น

มิจฉาทิฏฐิ ไม่มีหรือ? ตอบว่า มีอยู่ แต่ความรู้เป็นเครื่องหลอกลวงนั้นไม่

ชื่อว่า ปัญญา ความรู้นั้นชื่อว่าเป็นมายา ว่าโดยใจความ มายานั้นก็คือตัณหา

นั่นเอง (พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ – หน้าที่ ๘) .


ความคิดเห็น 11    โดย prakaimuk.k  วันที่ 24 ก.ค. 2551
ขออนุโมทนาทุกความคิดเห็นค่ะ ชัดเจนค่ะ.......