[คำที่ ๔๕๗] กมฺปติ
โดย Sudhipong.U  28 พ.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 32577

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กมฺปติ”

คำว่า กมฺปติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กำ – ปะ – ติ] แปลว่า ย่อมหวั่นไหว ในที่นี้จะขอนำเสนอในความหมายว่า หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส ซึ่งก็คือในขณะที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปนั่นเอง เช่น เป็นไปกับโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ บ้าง เป็นไปกับโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ บ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังละกิเลสไม่ได้ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยอกุศลก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ขีรรุกขสูตร ดังนี้ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีอยู่ ในรูปอันจักขุ-วิญญาณพึงรู้แจ้ง ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้รูปอันจักขุวิญญาณพึงรู้แจ้ง ซึ่งมีประมาณน้อย มาปรากฏทางจักษุของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ก็ยังครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงรูปอันมีประมาณยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นได้เล่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นยังละราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่ได้”

บุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสย่อมแตกต่างจากผู้ที่ดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้วถึงความเป็นพระอรหันต์ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง พระอรหันต์ ย่อมไม่หวั่นไหวเลย ไม่ว่าจะประสบกับอะไรก็ตาม ตามข้อความในปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตร ดังนี้ว่า

ถามว่า “ก็จิตของใคร ถูกโลกธรรมเหล่านั้น (มี มีลาภ เสื่อมลาภ เป็นต้น) กระทบแล้ว ไม่หวั่นไหว?” ตอบว่า “จิตของพระอรหันตขีณาสพ ไม่ใช่จิตของใครอื่น”

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า

“ภูเขาหินทึบแท่งเดียว ย่อมไม่ไหวด้วยลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมทั้งสิ้น ทั้งส่วนอิฏฐารมณ์ (น่าปรารถนา) ทั้งส่วนอนิฏฐารมณ์ (ไม่น่าปรารถนา) ย่อมทำจิตของท่านผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น ด้วยว่า จิต ของท่านที่มั่นคง หลุดพ้นแล้ว ย่อมเห็นความเสื่อมไปอยู่เนืองๆ


ชีวิตของคนเรา ย่อมมีทั้งได้รับผลที่น่าปรารถนา น่าพอใจบ้าง และได้รับผลที่ไม่น่าพึงพอใจบ้าง ย่อมมีทั้งประกอบกุศลกรรมและกุศลกรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยแก่ภพชาติต่อๆ ไป เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า ถ้าเข้าใจในเรื่องวิบากอันเป็นผลของกรรมของตนเองมากขึ้นแล้ว ก็จะทำให้มีความอดทนต่อกุศลวิบาก (ผลของกุศล) ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ จะไม่กล่าวโทษผู้อื่นว่าทำให้ได้รับกุศลวิบาก เพราะเหตุที่แท้จริงที่ทำให้กุศลวิบากเกิดขึ้นนั้นก็คือ กุศลกรรมที่ตนเองได้กระทำมาแล้ว นั่นเอง และขณะที่ได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ก็เป็นผลของกรรมอีกเหมือนกัน แต่เป็นผลของกุศลกรรม ขณะที่ได้รับผลของกุศลกรรม ก็มีความอดทนด้วย ที่จะไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกุศล กล่าวคือ ความติดข้อง ความหลงระเริง ความเพลิดเพลิน ความมัวเมา

ทุกขณะของชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น ไม่พ้นไปจากจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว ถ้าหากว่าเป็นผู้รู้สภาพลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะต่างๆ กันแล้ว เมื่อวิบากจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลวิบาก หรือ กุศลวิบาก ก็ตาม ก็จะหวั่นไหวน้อยลง เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านั้นล้วนเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น บุคคลผู้ที่มีปัญญาคือเข้าใจถูกเห็นถูกที่ได้สะสมมา ไม่ว่าจะประสบกับภัยพิบัติ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หรือสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาสักเพียงใดก็ตาม ย่อมเป็นผู้มีความมั่นคง อดทน ความกังวลใจ ความเดือดร้อนใจ ก็จะลดน้อยลงตามระดับขั้นของปัญญา เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่าเป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดแล้วดับไปเท่านั้น ความหวั่นไหว ความโกรธ ความเสียใจ ความเดือดร้อนใจ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นอกุศลธรรม แต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตจริงๆ คือ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ที่สำคัญ คือ ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เลย ทุกขณะของชีวิตเป็นธรรมทั้งหมด รวมถึงความหวั่นไหวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ด้วย โดยปกติธรรมดาของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลย่อมเกิดมากกว่ากุศล มีความหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ มากมาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น แม้แต่วันนี้วันเดียว อกุศลธรรมเป็นอันมากเกิดขึ้นกลุ้มรุมทำร้ายจิตใจอยู่เกือบจะตลอดเวลา เมื่อมีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น เป็นต้น จิตก็ย่อมหวั่นไหวไป เป็นไปในทางอกุศล มีความติดข้องพอใจ บ้าง ไม่พอใจบ้าง เมื่ออกุศลมีกำลังมากขึ้น สะสมมากขึ้น ก็ทำให้หวั่นไหวไปในการประพฤติล่วงออกมาทางกาย ทางวาจาที่เป็นการกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเบียดเบียนตนเองโดยตรงแล้วยังเป็นไปเพื่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกด้วย นี้คือ ความเป็นจริงของปุถุชนผู้มากไปด้วยกิเลส ซึ่งจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลยทีเดียว ควรที่จะเห็นโทษของกิเลส เห็นโทษของความไม่ดีทั้งหลาย พร้อมทั้งขัดเกลากิเลสของตนเองจนกว่าจะไม่มีความหวั่นไหวเพราะปัญญาที่อบรมเจริญจนสมบูรณ์แล้ว พระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่หวั่นไหว ท่านเป็นผู้คงที่ ไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส อันเนื่องมาจากการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก เพราะท่านดับกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว ดังนั้น ขณะที่เป็นอกุศล ชื่อว่า หวั่นไหว ปุถุชนหวั่นไหวเป็นอย่างมาก ส่วน พระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่หวั่นไหวเลยเพราะดับกิเลสอันเป็นเหตุแห่งความหวั่นไหวได้หมดสิ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ที่หมดกิเลสแล้ว กับ ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่ทุกคนควรพิจารณาอยู่เสมอ คือ เนื่องจากยังมีกิเลสอยู่นี่เอง จึงต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง อันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน เพราะเกิดมาแล้วผู้ใดมีโอกาสได้ฟังพระธรรม นั่น เป็นการได้ลาภที่ประเสริฐยิ่งกว่าลาภใดๆ เพราะลาภอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น ไม่ได้ติดตามไปในชาติหน้า แต่ว่าความเข้าใจพระธรรมที่ได้สะสมมาก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมต่อไป ได้เข้าใจเพิ่มขึ้น มั่นคงยิ่งขึ้นจนกว่าจะถึงการดับกิเลสได้ในที่สุด.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 15 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ