เพราะเหตุใดเรื่องราวไม่เป็นอารมณ์วิปัสสนา ในเมื่อ
1.เรื่องราวไม่เที่ยง จิตคิดเรื่องนั้นทีเรื่องนี้ที จิดจะคิดค้างเรื่องเดียวตลอดก็ไม่ได้ เรื่องราวเดิมที่จิตคิดขณะนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องราวเดิมที่จิตคิดในขณะก่อน เรื่องราวที่คิดก็ไหลไม่หยุดดั่งกระแสน้ำที่ไหลเนื่องอย่างไม่หยุด ถ้าจะบรรยายต่อ ก็บรรยายได้ไม่หมด
2.เรื่องราวเป็นทุกข์ ก็เนื่องจากข้อ 1. และไม่ควรจะเห็นว่าเรื่องราวเป็นสุข
3. เรื่องราวเป็นอนัตตา เพราะหาไม่เจอ
ผมก็เชื่อว่าเรื่องราวไม่เป็นอารมณ์วิปัสสนา แต่เนื่องจากมีคุณสมบัติครบ 3 ข้อ จึงขอท่านอาจารย์ช่วยทำให้ผมเปลี่ยนจากเข้าใจผิด เป็นเข้าใจถูกด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ ดังนี้ ครับ
ก. บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหม
สุ. ไม่ได้
ก. เมื่อกี้ฟังแล้วคล้ายๆ กับว่า ...บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้
สุ. ปรมัตถธรรมเท่านั้นเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ขณะใดที่รสเกิดกระทบกับชิวหาปสาท เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้รสทางชิวหาทวารเริ่ม ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ชิวหาวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต แล้วรสดับ จึงไม่มีองุ่น นั่นคือปรมัตถธรรม แต่เมื่อรวมกันแล้วเป็นผลองุ่น ขณะนั้นเป็นบัญญัติ ฉะนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นขณะที่ระลึกลักษณะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม และพิจารณาสังเกตรู้สภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็จะไม่มีการแยกลักษณะของปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติจึงยังมีความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ตลอดเวลา
--------------------------------------------------------
สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เพราะว่าในพระสูตร หรือในที่ต่างๆ เวลาที่มีคำใด ท่านจะแสดงคำนั้นโดยประการต่างๆ โดยนัยของสมถะ โดยนัยของวิปัสสนา หมายความว่าเมื่อพูดถึงคำนั้นแล้วก็ได้กล่าวถึงคำนั้นโดยความหมายอื่นๆ ด้วย ซึ่งเราจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะนั้นหมายความถึงอะไร เหมือนกับจิตตวิสุทธิ จะใช้คำว่า อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ไม่ได้กล่าวถึงขณิกสมาธิ แต่ความจริงวิปัสสนาทั้งหมดเป็นขณิกสมาธิ ถ้าเข้าใจผิด ก็จะคิดว่า บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจถูกว่า สภาพธรรมะที่มีจริงๆ มีลักษณะจริงๆ จึงจะเป็นสติปัฏฐานได้
วิจิตร ที่ยังไม่เข้าใจ คือ คำว่ากาย เวทนา จิต ธรรมนั้น กายเป็นบัญญัติหรือเปล่า
สุ. คุณวิจิตรมีกายหรือเปล่า
วิจิตร มีครับ
สุ. ค่ะ ลักษณะของกายเป็นอย่างไรคะ ถ้ามี หมายความต้องมีลักษณะที่สามารถจะรู้ได้ว่า สิ่งนั้นมีจริงๆ กายมีลักษณะอย่างไร จึงบอกว่ามี
วิจิตร ก็มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง
สุ. นั่นแหละค่ะ ลักษณะนั้นเป็นบัญญัติหรือเปล่า หรือว่าลักษณะนั้นมีจริงๆ เกิดแล้วดับด้วย
วิจิตร ถึงแม้ว่าเราจะเข้าใจว่า เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง แต่เวลาดูกายในกาย ให้ดูเกสา โลมา
สุ. ใครให้ดู
วิจิตร ให้พิจารณาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
สุ. ใครให้พิจารณา
วิจิตร ก็ในพระไตรปิฎก
สุ. สิ่งใดที่มี สติสัมปชัญญะเกิด ก็รู้ในลักษณะนั้น แต่ไม่ได้บังคับ บังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา แต่สิ่งที่มี จะรู้ความจริงก็คือ รู้ความจริงของสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มี
วิจิตร รู้ความจริงของสิ่งที่มี อย่างเกสา ก็รู้ว่า นี่คือเกสา
สุ. ไหนคะเกสา
วิจิตร ก็นี่ไง
สุ. แข็งใช่ไหมคะ เกสาแข็งหรือเปล่า ต้องใช้เกสาด้วย ผมก็ไม่ใช้ ถ้าพูดผม ก็ไม่ได้หรือคะ ต้องเกสา
วิจิตร ก็ได้ แต่เดี๋ยวจะไม่เข้ากัน
สุ. เพราะฉะนั้น จะเข้าใจธรรมะด้วยภาษาอะไร ก็ควรใช้ภาษานั้น เมื่อมีคำว่า เกสา แล้วเข้าใจว่า เกสาคือผมก็จริง แต่ขณะไหนที่ผมกำลังเป็นอารมณ์ของสติสัมปชัญญะ ต้องรู้ ไม่ใช่ไปนึกถึงคำ แล้วก็บอกว่า เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่ค่ะ ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จึงจะรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้ ลักษณะนั้นปรากฏ เมื่อมีสภาพที่กำลังรู้พร้อมสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ด้วย
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บัญญัติเรื่องราวต่างๆ ไม่มีจริง ไม่มีสภาวลักษณะ บัญญัติเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่สภาพธรรม บัญญัติเรื่องราวต่างๆ จึงไม่มีจริงไม่มีลักษณะ เป็นเพียงสิ่งที่จิตคิด, อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งให้สติปัญญาระลึกรู้ตามความเป็นจริง ต้องเป็นปรมัตถธรรม ที่มีลักษณะมีสภาวะ บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา ไม่ได้ เพราะบัญญัติเรื่องราวต่างๆ ไม่มีลักษณะ ไม่มีอยู่จริง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอร่วมสนทนาเกี่ยวกับคำว่า "เรื่องราว" โดยเรียนถามเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติม
๑. ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้จัดอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐานจำแนกออกเป็น ๖ อย่าง ได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ และปฏิจจสมปบาท
- นั่นแสดงว่า นาม (เช่น เวทนา สัญญา สังขาร) ในขันธ์ ๕ และ ธัมมายตนะ (เช่น ปุริสภาวรูป กายวิญญัตติรูป วจีวิญญัตติรูป) ในอายตนะ ๑๒ ก็ย่อมเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ ไม่ใช่หรือ
๒. ในสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกําหนดพิจารณาธรรม (เรื่องราวต่างๆ ) ที่บังเกิดแก่ใจเป็นอารมณ์ทั้งที่เป็นกุศลหรืออกุศล
- นั่นแสดงว่า เรื่องราวไม่ว่าจะเป็นไปในกุศลหรืออกุศล (เช่น การคิดไปในเรื่องราวที่เป็นกามราคะ ที่เป็นพยาบาท) เมื่อจิตระลึกรู้ ก็ย่อมเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ ไม่ใช่หรือ
ขอขอบพระคุณ
อารมณ์ของสติปัฏฐานคือ จิต เจตสิก รูป ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ส่วนบัญญัติจะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะบัญญัติไม่เกิด ไม่ดับ ไม่ใช่นามธรรม และรูปธรรม ค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ