* พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ชื่อว่ารักษาตน"
* รักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่นอย่างไร?
- รักษาตน คือการอบรมเจริญสติปัญญาระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเจริญกุศลทุกประการ ซึ่งจะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลส เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ
- ท่านผู้รักษาตน คือรักษาจิตจากกิเลสอกุศลทั้งหลายแล้ว ย่อมเป็นผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ที่เป็นพระสังฆรัตนะ เป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่น โดยกล่าวแสดงพระธรรมให้ผู้อื่นได้เข้าใจตาม และเป็นนาบุญอันยิ่งให้ผู้อื่นได้เจริญกุศล
- ดังนั้น การรักษาตน จึงเป็นการรักษาผู้อื่น
* รักษาผู้อื่น ชื่อว่ารักษาตนอย่างไร?
- รักษาผู้อื่น คือมีจิตใจที่เป็นกุศลต่อผู้อื่น ด้วยความอดทนที่จะประพฤติประโยชน์เกื้อกูลผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาในบุคคลทั้งหลาย
- เมื่อมีกุศลจิตในผู้อื่น ย่อมเป็นการรักษาตน คือรักษาจิตในขณะนั้นไม่ให้เป็นอกุศล และสามารถอบรมเจริญปัญญารู้สภาพของกุศล (เช่น เมตตา) ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนปัญญาเจริญขึ้นโดยลำดับ และประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลได้ตามความเป็นจริง
* ดังนั้น การอบรมเจริญสติปัญญา จึงเป็นการรักษาตน และรักษาผู้อื่น อย่างแท้จริง
โดย อ.อรรณพ หอมจันทร์
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... คติธรรม
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ