ศัพท์ บัญญัติ เหล่านี้ หมายถึง สิ่งเดียวกันไหมครับ
โดย adminsoft  9 ก.พ. 2550
หัวข้อหมายเลข 2802

มีประมาณ 7 คำที่พอนึกได้ครับ

1 สติ-สัมปชัญญะ

2. จิต

3. เจตสิก

4. ความคิด

5. ใจ

6. สัญญา (ความจำ)

7. อารมณ์ต่างๆ เช่น รัก โลภ โกรธ หลง ประมาณนี้ เป็นการทำงานของจิตหรือไม่ครับ ถ้าเป็นคนละอย่าง กัน แล้วแต่ละอย่างมีจุดเริ่มต้น ที่ตรงไหน ถ้าเป็นสิ่งเดียวกันเป็นการทำงานของจิต หรือเปล่าครับ

เพราะบางที จะใช้ปะปน กัน เช่น จิตใจ เป็นต้น นะครับ เลยแยกไม่ออกว่าหมายถึงอย่างเดียวกันไหม อ่านหนังสือธรรมะ มีศัพท์เหล่านี้ค่อนข้างเยอะ แยกไม่ค่อยถูกครับ งง

ขอบพระคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 9 ก.พ. 2550

คำศัพท์ บัญญัติ ที่ท่านยกมา บางอย่างมีความหมายเหมือนกัน บางอย่างมีความหมายต่างกัน ที่ว่ามีความหมายเหมือนกันคือ คำว่า จิต ใจ ความคิด ส่วนคำว่า สัญญาโลภ โกรธ หลง เป็นต้นนั้น มีความหมายต่างกัน แต่ทั้งหมดเป็นเจตสิก เกิดร่วมกับจิต แต่มีหน้าที่ต่างกัน ซึ่งพระพุทธองค์เมื่อจะแสดงพระธรรมที่เป็นสัจจะธรรมจึงทรงใช้คำศัทพ์จำนวนมากเพราะสภาพธรรมที่เกิด มีลักษณะต่างๆ กัน ถ้าท่านค่อยๆ ศึกษาไปเรือยๆ จะค่อยๆ เข้าใจและคุ้นเคยกับคำศัทพ์เหล่านี้ เพราะเป็นธรรมที่มีอยู่ที่ตัวเราเป็นปรมัตถธรรม เกิดเพราะมีปัจจัย แต่ไม่ใช่เรา สำหรับจุดเริ่มต้นของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปค้นหา แต่เกิดแล้วมีแล้ว เพราะปัจจัย การค่อยๆ ศึกษาค่อยๆ รู้สิ่งที่กำลังมีอยู่กำลังปรากฏอยู่ตามความเป็นจริง เป็นสิ่งที่เราควรอบรม


ความคิดเห็น 2    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 9 ก.พ. 2550

อารมณ์ต่างๆ เช่น รัก โลภ โกรธ หลง ประมาณนี้ เป็นการทำงานของจิตหรือไม่ครับ?

รัก โกรธ หลง เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต จึงไม่ใช่เป็นการทำงานของจิต แต่สภาพธัมมะแต่ละอย่างก็ต้องมีกิจ (หน้าที่การทำงาน) ของเขาครับ เช่น รัก (โลภะ) กิจของเขาก็ต้องติดข้องเป็นกิจหน้าที่ ส่วน โทสะ เมื่อเกิดก็จะทำให้กระสับกระส่าย (กิจหน้าที่ของเขา) โมหะ เมื่อเกิดขึ้น มีการไม่แทงตลอด (ไม่เข้าใจถูกต้อง) เป็นกิจหน้าที่ของเขาครับส่วน จิต ทำกิจหน้าที่รู้อารมณ์เท่านั้น แต่จิตกับเจตสิเกิดพร้อมกันครับ

ถ้าเป็นคนละอย่างกัน แล้วแต่ละอย่างมีจุดเริ่มต้น ที่ตรงไหน

เรื่องนี้แสดงว่าทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งใดจะเกิดมารอไว้ก่อน ต้องรอสภาพธัมมะมีเหตุปัจจัยพร้อมกันจึงเกิด เหมือน ต้องมีนักดีดพิณ พิณ และความพยายามดีดพิณ จึงมีเสียงมิใช่มีเสียงอยู่ก่อนแล้ว หรือมีธรรมใดธรรมหนึ่งเกิดหรือเริ่มอยู่ก่อนแล้วครับ ธรรมทั้งหลาย

ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดครับ ลองอ่านดูนะ ..

เชิญคลิกอ่านที่นี่....

ธรรมอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น [ปฏิสัมภิทามรรค]


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 9 ก.พ. 2550

สติ หมายถึง ขณะที่ระลึกไปในทาน ศีล ภาวนา มีปัญญาประกอบก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่สติสัมปชัญญะเกิดร่วมกับสติมีปัญญาประกอบด้วย เช่น ขณะที่สติปัฎฐานเกิด เป็นต้น จิต กับใจ เป็นชื่อเดียวกัน เจตสิกเกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิตดับพร้อมจิต ส่วนความคิด ถ้าคิดเป็นเรื่องราว เป็นบัญญัติ แต่สภาพธรรมที่คิดเป็นนามธรรมเป็นจิตกับเจตสิกที่เกิดร่วมกัน อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตรู้ จิตรู้ได้ทุกอย่าง นิพพานก็เป็นอารมณ์ของจิต สัญญา เป็นเจตสิก ที่แยกออกมาจากสังขารขันธ์ 50 เพราะว่าในวันหนึ่งๆ เราให้ความสำคัญกับสัญญามาก เช่น เราได้รสอาหารที่อร่อย เราก็ติดในรส และจำว่ารสนี้อร่อยมาก และอยากแสวงหารสนี้อีก เป็นต้น


ความคิดเห็น 4    โดย devout  วันที่ 10 ก.พ. 2550

รู้ชื่อเพื่อรู้ตัวจริงของธรรม อรรถเป็นที่พึ่งได้ แต่พยัญชนะไม่เป็นที่พึ่ง

ขออนุโมทนา ที่ท่านมีศรัทธาและฉันทะในการศึกษาพระธรรมค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย adminsoft  วันที่ 22 ก.พ. 2550

สาธุ ขออนุโมทนาทุกท่านด้วยครับ