หากเกิดขึ้นแล้วนับเป็นการผิดของฝ่ายชาย ฝ่ายเดียวหรือ ปรับผิดศีลที่ฝ่ายหญิงด้วยครับ ผมเคยทราบมาว่า ปรับผิดที่ฝ่ายชายฝ่ายเดียว ไม่ทราบข้อเท็จจริงเช่นไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ้าเป็นผู้น้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม ไม่กระทำในสิ่งที่ผิด ก็จะไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนใจในภายหลัง เพราะเหตุที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนใจในภายหลัง หลักๆ แล้ว คือการได้กระทำอกุศลกรรม ไม่ได้กระทำกุศลกรรมความดีประการต่างๆ
ประเด็นเรื่องศีลข้อที่ ๓ นั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก มีโอกาสผิดทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ซึ่งจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย และจะต้องพิจารณาองค์ประกอบของการล่วงศีลข้อดังกล่าวนี้ด้วย การที่จะล่วงศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร (การประพฤติผิดในกาม) นั้น ต้องเป็นเพราะมีเจตนาก้าวล่วงและมีการประพฤติผิด คือ ในกรณีที่ฝ่ายชายเป็นผู้ล่วงศีล ก็ต่อเมื่ออยู่ร่วม (มีเพศสัมพันธ์) กับผู้หญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาของตน ส่วนฝ่่ายหญิงจะผิดศีลข้อนี้ ก็ต่อเมื่อตนเองมีสามีแล้ว แต่นอกใจไปอยู่ร่วมกับชายอื่น ไปมีชายคนอื่นในขณะที่ตนเองยังมีสามีอยู่ แต่ถ้าตนเองยังไม่มีสามี ไปอยู่ร่วมกับชายอื่น ฝ่ายหญิงไม่ได้ผิดศีลข้อนี้ เพราะตนเองยังไม่มีสามี ยังเป็นเจ้าของผัสสะของตนเอง และฝ่ายชายแม้ตนเองมีภรรยาแล้ว ไปมีหญิงอื่น ด้วยการกระทำที่ถูกต้องด้วยการสู่ขอจากบิดามารดา ฝ่ายชายก็ไม่ผิดศีลข้อนี้
จากประเด็นคำถาม จึงสรุปได้ว่า ฝ่ายชาย และ ฝ่ายหญิง ก็มีโอกาสผิดศีลข้อนี้ ได้ทั้งนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ถ้าฝ่ายชายไปอยู่ร่วมกับหญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตน ผิด ฝ่ายหญิงเมื่อตนเองมีสามีแล้ว ไปอยู่ร่วมกับชายอื่น ฝ่ายหญิงผิดและในกรณีนี้ฝ่ายชายก็ผิดด้วย เพราะอยู่ร่วมกับหญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตน
การล่วงศีล ไม่ว่าจะเป็นข้อใด มีโทษทั้งนั้น เมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่ควรที่จะประพฤติ ที่ดีที่สุด คือไม่ล่วงศีล ไม่ประพฤติทุจริตกรรม พึงหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ เพราะเป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนใจในภายหลัง แม้แต่การประพฤติผิดในกาม ก็เช่นเดียวกัน เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนใจในภายหลัง และสิ่งสำคัญ ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสในชีวิตประจำวัน ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อพูดถึง ศีลข้อ ๓ ถ้าโยงมาที่ตัวปรมัตถธรรม คือ ให้เข้าใจถูกครับว่า การผิดศีลก็คือ การเกิดขึ้นของสภาพธรรมเท่านั้นที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น การผิดศีล ไม่ว่าข้อใด ก็คือ สภาพธรรมที่เป็นจิตที่เป็นอกุศลจิต ประกอบด้วยเจตสิกที่ไม่ดี แต่ การผิดศีล แสดงถึงกำลังของกิเลสที่มีมาก เป็นอกุศลที่มีกำลัง ย่อมทำให้นำเกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น ครับ เพราะฉะนั้น การผิดศีลข้อ ๓ ก็คือ อกุศลจิตที่เกิดขึ้น อันเป็นการกระทำทางกาย ด้วยโลภเจตสิกที่เกิดขึ้น มีความยินดีพอใจในขณะนั้นและล่วงออกมาทางกาย เพราะฉะนั้น ในเมื่อเป็นอกุศลจิตที่เป็นโลภะ เป็นสภาพธรรม อกุศลจิตที่เป็นโลภะ จึงไม่ได้เลือกว่าจะเกิดกับใคร เป็น ชาย หรือ เป็นหญิง ก็สามารถเกิดการผิดศีลข้อ ๓ ได้ เพราะอกุศลธรรมเกิดได้ทั้งชายและหญิงครับ การล่วงศีลข้อ ๓ จึงเกิดได้ทั้งกับชายและหญิง เพียงแต่ว่า การล่วงศีลข้อ ๓ ที่เป็น กาเมสุมิจฉาจาร ก็ต้องมีองค์แต่ละข้อ จนกว่าจะครบองค์ทั้งหมด จึงจะเป็นกาเมสุมิจฉาจาร ครับ ซึ่งการจะเป็นการล่วงศีลข้อ ๓ จะต้องเป็นการกระทำระหว่างเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น
การมีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย กับ ผู้ชาย แม้จะมีเจ้าของแล้วก็ตาม ทั้งคู่ และผู้หญิงกับผู้หญิง ไม่ผิดศีลข้อ ๓ ส่วนผู้ชายจะผิดศีลข้อ ๓ ได้ง่ายกว่าผู้หญิง หากผู้ชายไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง โดยที่ผู้ปกครอง มี บิดา มารดา สามี ไม่ได้ยกให้ หรือ อนุญาต ผิดศีล ข้อ ๓ แต่ผู้หญิง หากไม่มีสามี ไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ชายที่จะมีภรรยา หรือ ไม่มีก็ตาม ไม่ผิดศีลข้อ ๓ เพราะผู้หญิงเป็นเจ้าของผัสสะ เจ้าของร่างกายของตนเอง แต่ถ้าผู้หญิงนั้นมีสามีแล้ว ไปมีความสัมพันธ์กับชายอื่น ที่ไม่ใช่สามีของตน โดยที่สามีของตนไม่ได้อนุญาตยกให้ ผู้หญิงที่สามีนั้นผิดศีล ข้อ ๓ และผู้ชายก็ผิดศีลข้อ ๓ ด้วย ครับ แต่ในกรณีที่สามียกให้ อนุญาตให้ผู้หญิงที่เป็นภรรยาของตน อยู่ร่วมกับชายอื่น ผู้หญิงไม่ผิดศีลข้อ 3 และผู้ชายก็ไม่ผิดศีลข้อ ๓ ครับ ดังในกรณีในพระไตรปิฎก ที่ บุตรปุโรหิต หลงรักพระมเหสีของพระราชา พระราชารู้ ยกให้อยู่ด้วยกัน ๗ วัน การอยู่ร่วมกันทั้ง ๒ คน ๗ วันนั้น ไม่ผิดศีลข้อ ๓ แต่เพราะเกิดความรักทั้งคู่ ต่างก็หนีไปอยู่ด้วยกัน การอยู่ร่วมกัน หลังวันที่ ๗ ผิดศีลข้อ ๓ ทั้งชายและหญิงเพราะพระราชา ยกให้ อนุญาตให้แค่ ๗ วัน เพราะผู้ชายที่เป็นสามี เป็นเจ้าของผัสสะ ร่างกายของผู้หญิง ครับ ธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียดด้วยประการฉะนี้ ครับ
อกุศล ไม่ว่ามาก หรือ น้อย ก็ไม่ควรทำโดยประการทั้งปวง ผู้มีปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ย่อมจะค่อยๆ เห็นโทษของอกุศล ไม่ต้องกล่าวถึงการทำอกุศลกรรม แม้อกุศลจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็เป็นผู้ละอายและเห็นโทษที่เกิดขึ้น แต่การเห็นโทษด้วยปัญญาที่สำคัญที่สุด อันเป็นหนทางดับกิเลส คือ รู้อกุศลที่เกิดขึ้นว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
-ขออนุโมทนา และขอบพระคุณท่านผู้รู้มากครับ ผม เข้าใจมากขึ้นทีเดียว
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"ฝ่ายชาย และ ฝ่ายหญิง ก็มีโอกาสผิดศีลข้อนี้ได้ทั้งนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ถ้าฝ่ายชายไปอยู่ร่วมกับหญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตน ผิด ฝ่ายหญิงเมื่อตนเองมีสามีแล้ว ไปอยู่ร่วมกับชายอื่น ฝ่ายหญิงผิดและในกรณีนี้ฝ่ายชายก็ผิดด้วย เพราะอยู่ร่วมกับหญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตน"
"อกุศล ไม่ว่ามาก หรือ น้อย ก็ไม่ควรทำโดยประการทั้งปวง ผู้มีปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ย่อมจะค่อยๆ เห็นโทษของอกุศล ไม่ต้องกล่าวถึงการทำอกุศลกรรม แม้อกุศลจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็เป็นผู้ละอายและเห็นโทษที่เกิดขึ้น แต่การเห็นโทษ ด้วยปัญญาที่สำคัญที่สุด อันเป็นหนทางดับกิเลส คือ รู้อกุศลที่เกิดขึ้นว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.คำปั่น, อ.ผเดิมและทุกท่านครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ศีลยังประโยชน์ตราบเท่าชรา ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย วัยไหนก็ตาม ถ้ามีศีล ๕ ประจำใจ ก็งดงาม และ ไม่มีเครื่องประดับไหนงดงามเท่ากับศีล ค่ะ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฏก...
ว่าด้วยกาเมสุมิจฉาจาร
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 289
ว่าด้วยกาเมสุมิจฉาจาร
ก็พึงทราบวินิจฉัยในคําว่า กาเมสุมิจฉาจาร ต่อไป
คําว่า กาเมสุ ได้แก่การเสพเมถุน. การประพฤติลามกอันบัณฑิตติเตียนโดยส่วนเดียว ชื่อว่า มิจฉาจาร. แต่เมื่อว่าโดยลักษณะ ได้แก่เจตนาเป็นเหตุก้าวล่วงฐานะที่ไม่ควรเกี่ยวข้องที่เป็นไปทางกายทวารโดยประสงค์อสัทธรรม ชื่อว่า กาเมสุมิจฉาจาร.
อคมนียฐาน ๒๐
ในกาเมสุมิจฉาจารนั้น มีหญิง ๒๐ จําพวกได้แก่หญิงที่มารดารักษาเป็นต้น ๑๐ จําพวกแรก คือ
๑. หญิงที่มารดารักษา
๒. หญิงที่บิดารักษา
๓. หญิงที่มารดาบิดารักษา
๔. หญิงที่พี่ชายน้องชายรักษา
๕ . หญิงที่พี่สาวน้องสาวรักษา
๖. หญิงที่ญาติรักษา
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 290
๗. หญิงที่ตระกูลรักษา
๘. หญิงที่มีธรรมรักษา
๙. หญิงที่รับหมั้นแล้ว
๑๐. หญิงที่กฎหมายคุ้มครอง
และหญิงที่เป็นภรรยามีการซื้อมาด้วยทรัพย์เป็นต้นเหล่านี้ คือ
๑. ภรรยาที่ซื้อไถ่มาด้วยทรัพย์
๒. ภรรยาที่อยู่ด้วยความพอใจ
๓. ภรรยาที่อยู่ด้วยโภคะ
๔. ภรรยาที่อยู่ด้วยผ้า
๕. ภรรยาที่ทําพิธีรดน้ำ (จุ่มน้ำ)
๖. ภรรยาที่ชายปลงเทริดลงจากศีรษะ.
๗. ภรรยาที่เป็นทาสีในบ้าน
๘. ภรรยาที่จ้างมาทํางาน
๙. ภรรยาที่เป็นเชลย
๑๐. ภรรยาที่อยู่ด้วยกันครู่หนึ่ง
หญิง ๒๐ พวกนี้ ชื่อว่า อคมนียฐาน (คือฐานะที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง) ก็บรรดาหญิงทั้งหลาย หญิง ๑๒ จําพวก ที่บุรุษไม่ควรล่วงเกิน คือ หญิงที่รับหมั้นและกฎหมายคุ้มครองแล้วรวม ๒ จําพวกและหญิงที่เป็นภรรยา ๑๐ จําพวกมีหญิงที่เป็นภรรยาไถ่มาด้วยทรัพย์เป็นต้น นี้ ชื่อว่า อคมนียฐาน.