พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 12
ก็ปฏิสัมภิทามี ๔ คือ
๑. อรรถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ,
๒. ธรรมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม,
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ,
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ.
ทางคืออุบาย เป็นเครื่องบรรลุปฏิสัมภิทาเหล่านั้น ฉะนั้นจึงชื่อว่า ปฏิสัมภิทามรรค, มีคำอธิบายท่านกล่าวไว้ว่า เป็นเหตุแห่งการได้เฉพาะซึ่งปฏิสัมภิทา. หากจะมีปุจฉาว่า ทางนี้เป็นทางแห่งปฏิสัมภิทาได้ เพราะเหตุไร? ก็พึงมีวิสัชนาว่า เพราะเป็นเทสนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยประเภท เป็นเทสนาอันนำมาซึ่งปฏิสัมภิทาญาณ
จริงอยู่ ธรรมทั้งหลายมีประเภทต่างๆ เทสนาก็มีประเภทต่างๆ ย่อมให้เกิดประเภทแห่งปฏิสัมภิทาญาณ แก่พระอริยบุคคลทั้งหลายผู้สดับฟัง และเป็นปัจจัยแก่การแตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณแก่ปุถุชนต่อไปในอนาคต ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า เทสนาโดยประเภทย่อมนำมา ก็บัณฑิตพึงทราบ ปฏิสัมภิทา ๔ เหล่านี้ว่า ย่อมถึงซึ่งประเภทในฐานะ ๒. ย่อมผ่องใสด้วยเหตุ ๕.
ย่อมถึงซึ่งประเภทในฐานะ ๒ เป็นไฉน?
คือ ในเสกขภูมิ ๑ อเสกขภูมิ ๑. ใน ๒ ภูมินั้น ปฏิสัมภิทาของพระมหาเถระ ๘๐ องค์ มีพระเถระผู้มีนามอย่างนี้ คือ พระสารีบุตรเถระ. พระมหาโมคคัลลานเถระ, พระมหากัสสปเถระ, พระมหากัจจายนเถระ, พระมหาโกฏฐิตเถระ เป็นต้น ถึงซึ่งประเภทใน อเสกขภูมิ, ปฏิสัมภิทาของพระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระอริยบุคคลผู้มีนามอย่างนี้ คือพระอานนทเถระ, ท่านจิตตคฤหบดี ท่านธรรมมิกอุบาสก, ท่านอุบาลีคฤหบดี, ขุชชุตตราอุบาสิกา เป็นต้น ถึงซึ่งประเภทในเสกขภูมิ, ปฏิสัมภิทาย่อมถึงซึ่งประเภทในภูมิ ๒ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
ปฏิสัมภิทา ย่อมผ่องใสด้วยเหตุ ๕ ประการ เป็นไฉน?
ย่อมผ่องใสด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ด้วยอธิคม, ด้วยปริยัติ, ด้วยสวนะ, ด้วยปริปุจฉา, ด้วยบุปพพโยคะ.
ฯลฯ
สาธุๆ ๆ ๆ
สาธุค่ะ